HomeBrand Move !!เคล็ดลับบริหารองค์กรสไตล์ ‘อนุพงษ์ อัศวโภคิน’ แห่ง AP โฟกัสผลงาน เน้น Work Smart ไม่มอง Work Hard

เคล็ดลับบริหารองค์กรสไตล์ ‘อนุพงษ์ อัศวโภคิน’ แห่ง AP โฟกัสผลงาน เน้น Work Smart ไม่มอง Work Hard

แชร์ :

ในงานมหกรรมความรู้แห่งปี AP Thailand presents CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 (CTC 2024) ปีนี้ คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอพี ไทยแลนด์ ได้มาร่วมเปิดเคล็ดลับบริหารธุรกิจและทีมงาน ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ จากจุดเริ่มต้นพนักงาน 100 คน รายได้ 1,000 ล้านบาท มาถึงปัจจุบันพนักงาน 3,000 คน รายได้เกือบ 40,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การบริหารเอพี มี 3 ช่วงหลัก คือยุคเริ่มต้นปี 2001 มีพนักงาน 100 คน ยอดขายราว 1,000 ล้านบาท เป็นช่วงเวลาที่ “ผู้นำ” ต้องลงมาลุยงานเอง หากเปรียบเป็นการแข่งขันกีฬา นอกจากทำหน้าที่โค้ชแล้วบางครั้งก็ต้องลงมาเป็นผู้แข่งขันด้วย เพราะช่วงเริ่มต้นก็เหมือนเป็นสตาร์ทอัพ จำนวนทีมงานยังไม่มาก จึงต้องวางบทบาทให้ทำงานได้หลากหลายหน้าที่ เป็นช่วงเวลาที่ทำงานใกล้ชิดรู้จักพนักงานทุกคน

หลังจากเข้าสู่ช่วงที่ 2 เมื่อเอพี เติบโตมาได้ระดับหนึ่ง ในปี 2011 ทำยอดขาย 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากยุคแรก มีพนักงานราว 1,000 คน ในฐานะผู้บริหารสูงสุดเริ่มไม่รู้จักพนักงานใหม่ๆ เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องปรับหน้าที่มาเป็นผู้กำหนดบทบาทการทำงาน โดยดูกระบวนการทำงาน โครงสร้างองค์กร การวางระบบมอนิเตอร์ จากนั้นวางบุคลากรที่เหมาะสมไปดูแลในแต่ละตำแหน่งงาน

ปัจจุบันเป็นช่วงที่ 3 ของ เอพี มีพนักงาน 3,000 คน บทบาทของผู้นำจึงโฟกัสเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” เป็นหลักเพื่อให้ทุกคนไปด้วยกันในทิศทางเดียวกัน การบริหารจะคุยกับหัวหน้าทีมแต่ละฝ่ายครั้งละ 20-30 คน ทุกสัปดาห์ เพื่อหัวหน้าทีมจะนำไปบอกเล่าเกี่ยวกับเป้าหมาย วัฒนธรรมองค์กร และคุณค่าขององค์กรที่ทุกทีมต้องเดินไปด้วยกัน

ในฐานะซีอีโอที่บริหารงานมากว่า 3 ทศวรรษ วันนี้ไม่ได้อยู่ในบทบาทการตัดสินใจการบริหารงานแบบรูทีนมากนักแล้ว โดยปล่อยให้ทีมงานที่อยู่ใกล้ชิดกับตลาดและรู้จักความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นคนตัดสินใจด้านการบริหารและการตลาดแทน ส่วนซีอีโอ จะเป็น Conductor มองภาพรวมและโฟกัสการตัดสินใจเรื่องสร้างวัฒนธรรมองค์กร วางกฎกติกาและกำกับดูแล (Rules and Regulations) เพื่อให้ทีมงานเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน

เอพี มีวัฒนธรรมว่า Try Hard เราไม่นับ แต่นับ Outcome (ผลงาน) เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ดูเรื่อง Try Hard ก็จะมีคนจำนวนมากมาบอกว่าพวกเขาทำงานหนัก แต่หากเปรียบเทียบการทำงาน คนที่กลับบ้าน 3 โมงเย็นแต่มีผลงานที่ดี กับอีกคนผลงานไม่มีแต่กลับบ้านเที่ยงคืน ถามว่าผู้นำจะเลือกให้รางวัลใคร

“เอพี” จึงมีวัฒนธรรมองค์กรที่ว่า “คนทำงานไม่ว่าส่วนใดก็ตาม ไม่ต้องมาบอกว่าคุณทำงานหนักแค่ไหน แต่ให้เอา Outcome มาบอกแค่นั้น เพราะวิธีการทำงานไม่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ เป็นเรื่องของคุณ แต่ที่เอพีจะเลือก Work Smart และไม่แคร์ Work Hard

การเซ็ตกฎกติกาโฟกัสที่ “ผลงาน” ไม่ได้โฟกัสที่วิธีการทำงาน ทำให้การให้รางวัลคนทำงานชัดเจนมากขึ้น ชีวิตการทำงานบริหารของผู้นำองค์กรก็ง่ายขึ้น

ปัจจุบันคนทำงานพูดถึง ภาวะหมดไฟ (Burnout) กันมากขึ้น คุณอนุพงษ์ มองว่าไม่เพียงสุขภาพร่างกายที่คนทำงานต้องดูแล แต่ “สุขภาพใจ” ก็ต้องดูแลเช่นกัน โดยต้องเริ่มที่มุมมองว่า “งาน” ที่ทำอยู่ เราเรียกว่า “งาน” ทำแล้วรู้สึกเครียด ทำเพื่อรอเวลา 5 โมงเย็นกลับบ้านหรือไม่ หรือมาทำงานเพราะเป็นเรื่องสนุกที่มีอะไรให้ทำทุกวัน ต้องดูว่าเรารู้สึกกับงานแบบไหน หากเครียดกับการทำงานนั่นแสดงว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะกับเรา การมองงานเป็นเรื่องสนุก เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทำให้ไม่ Burnout

ปัญหาหนึ่งของคนทำงาน ที่ไม่อยากตื่นมาทำงาน คือ “เบื่อคน” และสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ลาออกจากงานมากที่สุดคือ “เซ็งคน” ทำงานด้วยกัน มองว่าเจ้านายห่วย เพื่อนร่วมงานไม่ดี นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องถามตัวเอง คือ เราทำงานนี้โอเคหรือยัง ดีหรือยัง โดยเน้นไปที่เรื่องงานก่อน ยังไม่ต้องมองคน

ในมุมมองการบริหารคน ดร.เทอรี่ วอร์เนอร์ อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา พูดถึง Outward Mindset ที่เป็นการมองคนรอบข้างเป็น “เห็นคนเป็นคน” และให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเราเอง เป็นสิ่งที่ผู้นำสามารถนำมาใช้บริหารคนได้ดี

ผู้นำต้องมองหา Need Objective Challenge สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานของคนในองค์กร เพื่อรู้เหตุผลที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ดูว่าคนทำงานแต่ละคนต้องการอะไร ตอบโจทย์อะไร มีปัญหาอะไร จะทำให้บริหารคนอย่างเข้าใจมากขึ้นและทำงานร่วมกันได้ดี

“การถามคำถามเป็นสิ่งสำคัญ หากรู้สึกโกรธใครหรือไม่โอเคกับการทำงานของใคร ให้พูดคุยเพื่อหา Need Objective Challenge ของเขาก่อน อย่างน้อยช่วงเวลาที่ได้คุยกันความโกรธก็ลดลงแล้ว หากรู้เหตุผลที่แท้จริงอาจทำให้เลิกโกรธได้ การพูดคุยแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีมุมมองของความเห็นอกเห็นใจ จะทำให้เข้าใจคนทำงานมากขึ้น ลดปัญหาการ Burnout ของคนในองค์กร”

ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI คุณอนุพงษ์ มองว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละยุค คนทำงานสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ เทคโนโลยี AI ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ยังต้องใช้คนตั้งคำถาม ป้อนข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลจาก AI แม่นยำมากขึ้น ดังนั้นคนที่จะมีความสามารถ และมี Value มากๆ ในยุค AI คือคนที่พร้อมเรียนรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับ AI

“อย่าไปกลัวเอไอ เราต้องรู้ว่าเอไอ คืออะไร และเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเอไอ ที่เอพี เราสอนทักษะการใช้เอไอให้พนักงาน เพื่อให้รู้ว่าเอไอคืออะไร เพื่อให้ใช้งานได้”

เคล็ดลับการบริหารองค์กรของ คุณอนุพงษ์ ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษ ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารทั้งหมดผ่านหนังสือ “ชีวิตดีๆที่เลือกได้เอง” แจกให้บุคลากรของเอพี เพื่อสานต่อ Value ขององค์กรต่อไป

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like