“ภาคการท่องเที่ยว” หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงหลังการระบาดของโควิด 19 การฟื้นตัวดังกล่าวทำให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นหมุดหมายเบอร์ 1 ของโลกที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยือนมากที่สุด ส่งผลให้ให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตและฟื้นตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคการบินที่ส่งญาณการเติบโตได้ดีอีกครั้ง
จาก ข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในเดือนมิถุนายน 2567 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปี 2567 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2% และในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินจะสามารถกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดี
“บางกอกแอร์เวย์ส” คือหนึ่งสายการบินที่มีอัตราการเติบโตและมีกำไรมากแซงหน้าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด – 19 โดยไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท หรือสูงกว่าถึง 267.95%
เปิดเกมเชิงรุกในธุรกิจ รับยอดจองตั๋วล่วงหน้าพุ่ง 13%
คุณพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า หรือ “Advance Booking” ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทาง โดยเป็นเส้นทางสมุยในสัดส่วน 65% จากช่วงเดือนมิถุนายน – เดือน ธันวาคม ปี 2567 เทียบปี 2566 พบว่ายอดจองล่วงหน้ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 13% โดยไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น 3% ไตรมาส 3 เติบโตขึ้น 11% ไตรมาสนี้เป็นช่วงพีคซีซั่นของเส้นทางสมุย ส่วนในไตรมาส 4 มียอดการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35% ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี”
นอกจากนี้ในไตรมาส 2 ได้ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (LH) และสายการบินสวิสแอร์ (LX) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้งสองสายการบินในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 และกับสายการบินสวิสแอร์ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วม (Codeshare Partner) ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินฯ
การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้ “บางกอกแอร์เวย์ส” เดินหน้าแผนงานเชิงรุกในธุรกิจมากขึ้นในปีนี้ โดยตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดกัมพูชา เพื่อกระตุ้นการเดินทางและตอบความต้องการของผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นประจำ โดยเปิดตัวบัตรท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ “แคมโบเดีย ทราเวลพาส : Cambodia Travel Pass ” ที่จะมอบประสบการณ์เดินทางฟูลเซอร์วิสแบบไม่จำกัดเที่ยวบิน เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมรับสิทธิประโยชน์มากมาย ในเส้นทางระหว่างพนมเปญ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และ เสียมเรียบ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) โดยจะเริ่มเปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 1 – 25 กรกฎาคม 2567 และสามารถสำรองที่นั่งหรือเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ถึง 31 กรกฎาคม 2568
กางแผนพัฒนา “สนามบินสมุย – ตราด” รับดีมานด์ท่องเที่ยว
คุณพุฒิพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการรองรับอุปสงค์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนการจัดหาเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 319 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินภายในปีนี้อีกจำนวน 2 ลำ โดยปัจจุบันมีเครื่องบินทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนการการลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการของสนามบินภายใต้การบริหาร กำหนดระยะเวลา 2-3 ปี
โดยมี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคือ โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่าง ๆ และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนราว 1,500 ล้านบาท
และโครงการพัฒนาสนามบินตราด โดยเตรียมแผนสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) เพื่อให้รองรับเครื่องบินเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็ก คาดว่าจะใช้งบประมาณ 700-800 ล้านบาท มีแผนก่อสร้างบนพื้นที่ใหม่ประมาณ 200-300 ไร่ (อยู่ในแปลง 1,600 ไร่) เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของสนามบินตราดให้สามารถรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินสู่ 20 จุดหมายปลายทาง (Destination) มีจำนวนทั้งสิ้น 27 เส้นทางบิน (Routes) แบ่งเป็น ในประเทศ 19 เส้นทางบิน ระหว่างประเทศ 8 เส้นทางบิน โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากเส้นทางสมุยมากที่สุด 59% รองลงมา ได้แก่ เส้นทางการบินภายในประเทศอื่นๆ 30% และเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 11%
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE