โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) นับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีอัตราการเติบโตมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของโดรนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573
เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมโดรน จึงได้มีการจัดงาน ‘DronTech Asia 2024’ ระดับนานาชาติครั้งแรก โดยคุณมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน ‘DronTech Asia 2024’ กล่าวว่า ปัจจุบันโดรนมีบทบาทในหลายอุตสาหกรรม ช่วยลดทอนการทำงานของแรงงานมนุษย์ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นทางการค้า เราใช้โดรนเพื่อเพิ่มความสะดวกในหลายมิติ บริษัทฯ มองเห็นว่าอุตสาหกรรมโดรนเริ่มมีทิศทางการขยายตัวและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้”
สำหรับการจัดงานดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ โดยที่ ‘DronTech Asia 2024’ จะเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความเป็นผู้นำที่สำคัญของอุตสาหกรรมโดรนที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโดรนและเทคโนโลยีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบกับผู้ใช้งานเทคโนโลยีโดรนโดยตรง เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนต่อไป
คุณปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโดรนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรน เพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดั้งเดิมสู่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น และจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร คาดใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ตอบสนองเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้แผนงานเครื่องยนต์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
คุณฉัตรชัย ปั่นตระกูล ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลและกฎระเบียบ เพื่อการใช้งานโดรนในอนาคต ว่า สิ่งที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ด้านการรับรองการบินโดรนแบบต่าง ๆ เช่น BVLOS, โดรนขนาดกลาง การจดทะเบียนอากาศยาน, การรับรองศูนย์ฝึกอบรมนักบินโดรนประเภทต่าง ๆ และการออกใบอนุญาตนักบินโดรนในแต่ละประเภท (พื้นฐาน, ขั้นสูง)
สำหรับ ‘DronTech Asia 2024’ จะจัดขึ้นในวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา 10:00 – 18:00 น. ที่ อาคาร 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี