แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ดูเหมือนจะฟื้นตัวจากตัวเลข GDP ที่ดีกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 1.5% ส่วนไตรมาส 2 คาดการณ์จะขยายตัว 1.8% และแนวโน้มทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจจะโตอยู่ที่ 2.3% หากรวมมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว เศรษฐกิจไทยยังโต “ต่ำ” สุด และหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวเผชิญกับการเติบโตได้แค่ 3% หรือ “ต่ำกว่า 3%” ไปเรื่อยๆ และแข่งขันลำบาก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ตามมาฟังคำตอบเรื่องนี้กันชัดๆ จาก “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) พร้อมแนะแนวทางแก้ไขเพื่อดัน GDP ไทยกลับไปโตกว่า 3%
ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แถมรายได้โตกระจุก ดันเศรษฐกิจโตต่ำสุดในอาเซียน
ดร.อมรเทพ มองว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้แย่กว่าปี 2540 แต่ยังไม่วิกฤต เป็นภาวะเศรษฐกิจแบบ “ซึมยาว” เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นเจอ โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งทั้งปีประเมินว่า GDP ไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.3% และในปี 2568 คาดการณ์ GDP ยังขยายตัวได้ 3.2% แต่หลังจากนั้นจะขยายตัวอยู่ที่ 3% หรือต่ำกว่านี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศในอาเซียน อย่างประเทศฟิลิปปินส์ 5.7% เวียดนาม 5.66% และสิงคโปร์ 2.7%
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP ไทยโตต่ำนั้น ดร.อมรเทพ มองว่า มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย 2.การขาดแคลนแรงงานและการลงทุน และ 3.ประสิทธิภาพการผลิตด้อยลง ซึ่งหากไทยไม่ทำอะไรเลย ค่อนข้างน่าห่วง เพราะจะฉุดศักยภาพการเติบโตของไทยในระยะยาวได้
“เราหนักกว่าญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน แต่เราไม่ได้เจอแค่ปัญหาการขยายตัวต่ำเท่านั้น ยังเผชิญปัญหาด้านการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม สะท้อนได้จากตลาดอสังหาฯ หากเป็นคอนโดมิเนียมจะเติบโตในเซกเมนต์ 3 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านระดับ 5 ล้านบาทขึ้นไป แต่กำลังซื้อกลุ่มแมสซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยังไม่ฟื้น”
ดังนั้น ดร.อมรเทพ มองว่า หากอยากให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตมากกว่า 3% จะต้องปรับและแก้ไขอย่างจริงจัง โดยทำคู่ขนานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยวิธีการในระยะสั้นสามารถแจกเงินแบบเฉพาะกลุ่มได้ เพื่อลดครองชีพให้กับกลุ่มเปราะบางให้สามารถอยู่รอด ส่วนวิธีในระยะกลางและยาวคือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เน้นเรื่องการลงทุนเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการจ้างงาน หาแนวทางขยายฐานภาษี ตลอดจนพัฒนาทักษะวัยแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกระจายรายได้ให้เท่าเทียม
“มาตรการทางการคลังช่วยหนุนเศรษฐกิจระยะสั้นให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต และการลดดอกเบี้ยเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ซึ่งแตกต่างจากนโยบายทางการเงินเป็นการรักษาเสถียรภาพ และกว่าจะไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน แต่หลังหมดมาตรการเศรษฐกิจจะแผ่วลง เพราะคนจะระมัดระวังการใช้จ่าย เราจึงอยากเห็นมาตรการทางการคลังในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว”
ห่วงสินค้าจีนทะลัก ทำ SMEs ปิดโรงงาน
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำแล้ว ดร.อมรเทพ บอกว่า ครึ่งปีหลังยังมีอีก 4 ปัจจัยเสี่ยงน่าห่วงคือ 1.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น การส่งออกและราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ 2.การเลือกตั้งในหลายประเทศ (Elections) ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนขั้วการเมือง และอาจกระทบกับค่าเงินและนโยบายเศรษฐกิจ 3.อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) โดยคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับดอกเบี้ยลดลง 2 ครั้งในเดือนกันยายนและธันวาคม ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และ 4.การเข้ามาของสินค้าจีนจำนวนมากในไทยและราคาถูกกว่า (Manufacturing) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน จนอาจต้องปิดตัว และเกิดปัญหาการจ้างงานตามมา
“ผมกังวลเรื่องปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุด แต่ก็ห่วงเรื่องการเข้ามาของสินค้าจีนเช่นกัน โดยในครึ่งปีหลังจะเห็นมากขึ้น ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมรถยนต์ ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอีกมากมาย ในแง่ผู้บริโภคอาจจะชอบเพราะได้สินค้าถูกลง แต่ถ้า SMEs อยู่ไม่ได้ จะกระทบกับเรื่องของการจ้างงานและรายได้ สุดท้ายความสามารถในการบริโภคจะลดลงตาม”
ดร.อมรเทพ ย้ำถึงผลกระทบจากการเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูก และควรมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้นสำหรับสินค้าที่ตรวจสอบว่ามีการทุ่มตลาดเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ หรืออาจจะร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น เป็นต้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE