บทสรุป “สินมั่นคงประกันภัย” กิจการอายุกว่า 70 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายเบี้ยประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” ตั้งแต่ปี 2564 จนต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งต่อมาศาลได้ยกเลิกคำร้องดังกล่าว ในที่สุดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย “สินมั่นคงประกันภัย”
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
พร้อมทั้งให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี “สินมั่นคงประกันภัย”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สรุปมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับ “สินมั่นคงประกันภัย” ดังนี้
– เนื่องจาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัย มีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี (ตามคำสั่ง คปภ. ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565)
– ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ คปภ. จึงมีคำสั่งให้ “สินมั่นคงประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว
– บมจ.สินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่า บมจ.สินมั่นคงประกันภัย มีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จึงไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป
– ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
สำนักงาน คปภ. สรุปมาตรการต่าง ๆ รองรับผู้ได้รับผลกระทบจาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ดังนี้
– ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชีของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
– กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด
– เจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
พิษโควิดปิดฉาก ‘สินมั่นคงประกันภัย’
“สินมั่นคงประกันภัย” เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2494 หรือราว 73 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภท และจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 ผู้ถือหุ้นหลักคือกลุ่มดุษฎีสุรพจน์
ย้อนดูผลประกอบการ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย
– ปี 2562 รายได้ 11,375 ล้านบาท กำไร 677 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 10,413 ล้านบาท กำไร 757 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 10,898 ล้านบาท ขาดทุน 4,753 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 8,239 ล้านบาท ขาดทุน 32,759 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ต้องปิดฉากธุรกิจ มาจากการรับประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” ในช่วงกลางปี 2564 ที่สถานการณ์โควิดระบาดอย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ได้ขายประกันภัยโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” ไปราว 1 ล้านฉบับ
ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ระบุว่ามีประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทั้งระบบราว 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท
ไม่เพียง บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก่อนหน้านี้ มีบริษัทประกันวินาศภัยของประเทศไทย ที่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบจากการขายประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” ไปแล้ว 4 บริษัท คือ เอเชียประกันภัย เดอะวันประกันภัย ไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม
- ศาลยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ ‘สินมั่นคง’ หยุดรับประกันภัยทุกประเภททันที
- รู้จัก ‘สินมั่นคง’ ธุรกิจประกันภัย 70 ปี ของกลุ่มดุษฎีสุรพจน์ กับปม ‘บอกเลิกกรมธรรม์โควิด’