ผู้บริหาร LG เผย อุตสาหกรรม Virtual Production อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยพบการลงทุนสร้างสตูดิโอเพื่อรองรับการผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบเวอร์ชวลเพิ่มในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ขณะที่ในเกาหลีใต้ พบว่ามีการจับมือกับสถาบันการศึกษา – มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญป้อนอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจ OTT ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นกับการทำ Virtual Production โดยมีสองประเทศที่ให้ความสนใจลงทุนคือไทยและเวียดนาม
เทรนด์การลงทุนสร้างสตูดิโอเพื่อผลิตงานแบบเวอร์ชวลกำลังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัทเทคโนโลยี และผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ยี่ห้อต่าง ๆ โดยคุณโดมินิค นาม หัวหน้าฝ่ายธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด กล่าวถึงการเติบโตนี้ว่า มาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผู้ให้บริการ OTT (เช่น Disney+ หรือ Netflix) ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025
สำหรับรูปแบบของการสร้างสตูดิโอนั้นพบว่ามีหลากหลาย โดยคุณโดมินิคได้ยกตัวอย่างในเกาหลีใต้ว่ามีทั้งสตูดิโอขนาดใหญและเล็ก กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น Namsan Creative Center ในกรุงโซล และ mbc VP Academy Studio รวมถึงมีการจับมือกับสถาบันการศึกษา – มหาวิทยาลัย จัดอบรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับนักศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การเติบโตอีกด้านมาจากการลงทุนของภาคเอกชน เช่น Adidas ที่ลงทุนสร้างสตูดิโอในสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนี หรือ Bayer ที่ลงทุนสร้างสตูดิโอในโปแลนด์ เพื่อถ่ายทำชิ้นงานของตัวเอง
ทั้งนี้ เทรนด์การลงทุนสร้างสตูดิโอเพื่อผลิตงานแบบเวอร์ชวลนั้น คุณโดมินิคเผยว่า มีการย้ายการลงทุนไปอยู่ในละตินอเมริกามากขึ้นเนื่องจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าภุมิภาคอื่น ๆ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบการลงทุนในเกาหลีใต้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการในกลุ่ม OTT
ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสองประเทศที่ให้ความสนใจ นั่นคือเวียดนามและไทย โดยในประเทศไทย คุณจีรภา คงสว่างวงศา รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้มีการติดตั้งจอ Micro LED รุ่น LBAE026 และรุ่น LG MAGNIT LBAF015 ความละเอียด 1.56 มม. อัตราเฟรมเรต 120 Hz ขนาด 2.4 x 2 เมตร มูลค่ากว่า 60 ล้านบาทที่ Mo-Sys Academy Bangkok (ปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียว) ซึ่งสามารถทดแทนการถ่ายทำบน Green Screen แบบดั้งเดิมได้ พร้อมมองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถตอบโจทย์หลายอุตสาหกรรมในไทย เช่น วงการโฆษณา มิวสิควิดีโอ และการผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ
4 ข้อดี Virtual Production
ทั้งนี้ ในมุมของคุณโดมินิคยังได้กล่าวถึงข้อดีของการผลิตงานแบบ Virtual Production ด้วยว่า ตอบโจทย์การถ่ายทำในปัจจุบันหลายข้อ เช่น ไม่ต้องขออนุญาตในการเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่รบกวนผู้คน สามารถกำหนดแสง – ช่วงเวลาต่าง ๆ ได้เอง (ขณะที่การยกกองถ่ายออกไปนอกสถานที่อาจเจอกับสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนตก หรือแสงไม่พร้อม) และตอบโจทย์ของภาคธุรกิจในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น
ส่วนในแง่ของการลดต้นทุนด้านการถ่ายทำ ผู้บริหาร LG เผยว่า การถ่ายทำแบบเวอร์ชวลสามารถลดต้นทุนในการสร้างฉากต่าง ๆ ได้ประมาณ 10 – 60% เลยทีเดียว
สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Virtual Production อยู่ในกลุ่มธุรกิจ B2B ของ แอลจี ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท