กระแสการเป็นนักรีวิวที่สังคมไทยให้ความคุ้นเคยมากขึ้นในปัจจุบันอาจกำลังนำไปสู่อีกหนึ่งความเสี่ยง แถมรอบนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถม – มัธยมศึกษาตอนต้นที่คุ้นเคยกับการรีวิว และการโปรโมตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย หลังมีข้อมูลชี้ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เด็ก ๆ สมัครใช้บริการ และไม่ได้ตั้งค่าด้านความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสม ได้ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึง และใช้เป็นช่องทางเข้าถึงตัวเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้กระทำในเรื่องที่ไม่สมควรได้
สำหรับพฤติกรรมของผู้ไม่ประสงค์ดี พบว่าเป็นการติดต่อให้เด็กนักเรียนช่วยรีวิวสินค้าที่เด็กมีในครอบครอง หรือสินค้าของทางโรงเรียนที่มีการออกแบบสวยงาม เช่น กระเป๋านักเรียน เครื่องแบบนักเรียน โดยใช้เงินดึงดูด และผู้ไม่ประสงค์ดีได้ขอเลขที่บัญชี และโอนเงินจำนวนหนึ่งให้ล่วงหน้า เมื่อนักเรียนได้รีวิวสินค้าและจัดส่งให้บุคคลดังกล่าว กลับได้รับแจ้งว่า การรีวิวไม่น่าสนใจ ให้แก้ไขใหม่หลายครั้ง และสุดท้ายแจ้งกับเด็กว่า ไม่ประสงค์จะให้รีวิวสินค้าอีกต่อไป ขอให้โอนเงินคืน โดยใช้เลขที่บัญชีของผู้อื่น ซึ่งเป็นคนละบัญชีกับผู้ที่โอนเงินให้ในครั้งแรก
การกระทำดังกล่าว หากพิจารณาผิวเผินอาจเป็นเพียงเรื่องของการผิดสัญญาในทางแพ่ง แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป จะพบว่า ผู้ไม่ประสงค์ดีกำลังใช้ความไร้เดียงสาของเด็ก ประกอบกับเทคโนโลยีการทำธุรกรรมทางการเงินสมัยใหม่ มาก่ออาชญากรรมได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การข่มขู่ กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ และหากมีการกระทำในวงกว้าง หรือใช้จำนวนเงินที่มีมูลค่าสูง ก็อาจมองได้ว่า สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางในการฟอกเงิน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงอื่น ๆ ในชีวิตเด็กได้อีกมากมาย
แนะตั้งค่า Privacy ให้รัดกุม
สำหรับแนวทางในการลดความเสี่ยงดังกล่าว คือการตั้งค่าด้าน Privacy ในการใช้งานโซเชียลมีเดียของเด็ก ๆ ให้รัดกุมขึ้น เช่น
- ไม่เปิดรับเพื่อนแบบอัตโนมัติ
- ไม่เปิดแอคเคาน์เป็นแบบ Public ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
- อธิบายถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การถูกรังแกทางออนไลน์ (cyberbullying) การถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และการเจอผู้ไม่ประสงค์ดี พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้พวกเขาเห็นภาพชัดเจน
- ตั้งค่าให้การโพสต์สามารถเห็นได้เฉพาะเพื่อนหรือคนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
นอกจากนั้น ในมุมของผู้ปกครอง ยังสามารถตรวจสอบและติดตามกิจกรรมออนไลน์ของเด็ก ๆ ได้เพิ่มเติม โดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกถูกควบคุม เช่น การใช้แอปพลิเคชันควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต (parental control apps เช่น FamilyLink ของ Google) ที่ช่วยตรวจสอบและแจ้งเตือนกิจกรรมที่น่าสงสัยได้ หรืออาจแนะนำเด็ก ๆ เพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ เช่น
- การกดรับ Add เพื่อนควรเป็นคนที่รู้จักในชีวิตจริง
- สอนให้รู้จักการบล็อคหรือรายงานผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
- สอนให้ระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ โรงเรียน
- ไม่ควรโพสต์ข้อมูลที่เป็นความลับหรือสามารถนำไปใช้ในการละเมิดได้
- แนะนำให้ใช้รหัสผ่านที่แข็งแรง และเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ
- สอนให้ไม่แชร์รหัสผ่านกับใคร และไม่ใช้รหัสผ่านเดียวกันกับหลาย ๆ บัญชี
อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมักมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการใช้งาน ผู้ปกครองและเด็ก ๆ จึงควรตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเสมอ และควรหาโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้งานโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจ และใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น