ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศภารกิจใหญ่ “เพิ่มทักษะ AI ให้คนไทย 1 ล้านคนภายในหนึ่งปี” โดยเน้น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ นักพัฒนา ผู้ใช้งานทั่วไป และกลุ่ม Underserved เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมเผยความคืบหน้าการลงทุน Data Center ในประเทศไทยที่คุณสัตยา นาเดลลา ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 ว่า จะสามารถประกาศชื่อพาร์ทเนอร์ได้ภายในปีนี้ โดยเป็นโมเดลการเช่า เนื่องจากมองว่าสามารถสเกลได้รวดเร็วกว่า
สำหรับภารกิจสร้างทักษะด้าน AI ให้คนไทย 1 ล้านคนภายในหนึ่งปีนั้น (เริ่มนับตามปีปฏิทินของไมโครซอฟท์ นั่นคือ 1 กรกฎาคม 2024 – 30 มิถุนายน 2025) คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามายกระดับ และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนไทยและประเทศไทย ทั้งภาคการศึกษา การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม ประกอบกับ พันธกิจที่เราได้ประกาศออกไปเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน AI คลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศไทย ประสบความสำเร็จในเวทีโลก จึงเป็นที่มาของการประกาศวิสัยทัศน์ “AI for All Thais” ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ
- สร้างทักษะ AI
- เสริมขีดความสามารถให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง
- สานต่อความมั่นคง (เน้นการใช้งานอย่างมั่นใจ รวมทั้งส่งเสริมอีโคซิสเท็มของ AI ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้)
ไทยเผชิญความท้าทาย “ทักษะดิจิทัล”
สำหรับที่มาของการสร้างทักษะด้าน AI ที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญ และยกเป็นภารกิจหลักในปีนี้ คุณธนวัฒน์เผยว่า ส่วนหนึ่งมาจากผลการสำรวจ The World Digital Competitiveness Ranking (WDCR) 2023 ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ระดับของประเทศไทยจะขยับขึ้นจากอันดับที่ 40 ในปี 2022 เป็นอันดับที่ 35 ในปี 2023 แต่เป็นการขยับที่เกิดจากความพร้อมด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ
ขณะที่ความพร้อมด้าน Knowledge และ Future Readiness นั้น ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายสูงมาก และอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในการสำรวจทั้งหมด นั่นจึงเป็นที่มาของภารกิจที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยมองว่าสำคัญและจำเป็นต่อประเทศไทยในเวลานี้นั่นเอง
ทั้งนี้ ผู้บริหารไมโครซอฟท์เผยว่า กลุ่มเป้าหมายของการสร้างทักษะ AI ประกอบด้วย 3 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มนักพัฒนา
- กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมมากที่สุด)
- กลุ่ม Underserved เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ
ส่วนวิธีในการสร้างทักษะด้าน AI ให้คนไทยนั้น พบว่ามีหลายรูปแบบ เช่น การจับมือกับพาร์ทเนอร์ – หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ การนำหลักสูตร AI ของไมโครซอฟท์มาพัฒนาเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การมอบประกาศนียบัตรแก่คนไทยที่เรียนจนจบ และเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านั้นเข้า LinkedIn เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตด้านหน้าที่การงาน ฯลฯ
เปิดความคืบหน้า ลงทุน Data Center
สำหรับความคืบหน้าด้านการลงทุน Data Center ในประเทศไทยตามที่คุณสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ Microsoft ได้เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2024 นั้น คุณธนวัฒน์เผยว่า เป็นโมเดลเช่า และอยู่ระหว่างการคัดเลือกพาร์ทเนอร์ โดยคาดว่าการคัดเลือกพาร์ทเนอร์จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้น จะมีการประกาศมูลค่าการลงทุนอย่างเป็นทางการต่อไป
ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่สามารถประกาศมูลค่าการลงทุนด้าน Data Center ได้เลยนั้น เพราะเป็นโมเดลที่ Microsoft ไปลงทุนเอง แต่สำหรับประเทศไทย พบว่ามีผู้พัฒนา Data Center ที่มีคุณสมบัติครบตามที่ไมโครซอฟท์ระบุ การเลือกใช้โมเดลการเช่าก็จะช่วยให้สเกลธุรกิจได้รวดเร็วกว่า