HomeBig Featuredถอดบทเรียน “ตั้งฮั่วเส็ง” วิกฤติ “ค้าปลีกท้องถิ่น” สู่การสร้าง “ทางรอด” ธุรกิจบนโลกใหม่ Omni-channel Retail 

ถอดบทเรียน “ตั้งฮั่วเส็ง” วิกฤติ “ค้าปลีกท้องถิ่น” สู่การสร้าง “ทางรอด” ธุรกิจบนโลกใหม่ Omni-channel Retail 

แชร์ :

ข่าวคราวการปิดตัวของ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” ศูนย์การค้าระดับตำนานที่อยู่คู่ฝั่งธนมากกว่า 32 ปี ที่ปิดตัวลง ในวันที่ 10 กันยายน 2567  ส่งผลให้ผู้เช่าได้รับผลกระทบต้องประกาศปิดตัวแบบฟ้าผ่าหลังมีประกาศอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่วัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในมุมของเชนร้านค้า ร้านอาหารขนาดใหญ่อาจจะไม่มีผลกระทบมากนักเพราะยังมีสาขาและทำเลอื่นรองรับอยู่ แต่ในมุมของร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านแบรนด์เดียว อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมหาศาล เพราะแหล่งทำกินเพียงแห่งเดียวกำลังจะปิดตัวลงอย่างกระทันหันชนิดไม่ตั้งตัว … จนเกิดเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ตั้งแต่การโบกมือลากระทันหันของร้านชาบูชื่อดัง ตลอดจนภาพการโบกมือลาของเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ผ่านตาใครหลายคนบนโลกโซเชียล

แม้จะมีข่าวคราวการเข้ามาของกลุ่มทุนรายใหม่ ที่ยืนยันจะดำเนินธุรกิจต่อ แต่ยังมีอีกหลายข้อสงสัย แต่หลายคำถามว่า เพราะอะไร เหตุใด “ตั้งฮั่วเส็ง” ดั้งเดิม (ในมือเจ้าของรายเดิม) ถึงต้องยุติหน้าที่ลง

BrandBuffet ชวนถอดบทเรียน “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” กับคำถามที่ว่า ทำไม? ห้างเก่าแก่กว่า 32 ปี (ส่วนแบรนด์ตั้งฮั่วเส็งมีอายุ 62 ปี) ที่อยู่คู่ชาวฝั่งธนมานานถึงต้องยุติการให้บริการ พร้อมจับชีพจร “ค้าปลีกท้องถิ่น” น้อยใหญ่ทั่วไทยถึงสถานการณ์การแข่งขัน รวมถึงการสร้างทางรอดนับจากนี้

ถอดบทเรียน 62 ปีแบรนด์ “ตั้งฮั่วเส็ง” ทำไม? ค้าปลีกท้องถิ่นดั้งเดิม คู่ฝั่งธนฯ ถึงต้องปิดตัว

“ตั้งฮั่วเส็ง” เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2497 ภายใต้ชื่อ “ห่วงเส็ง” ร้านเล็กๆ ใน “ย่านบางลำพู” ที่จำหน่ายเครื่องเย็บปักถักร้อยและอุปกรณ์งานฝีมือ ก่อตั้งโดย “นายอุดม”  จนประสบความสำเร็จเป็นรู้จักอย่างรวดเร็วกลายเป็น “ตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู” ขึ้นเป็นสาขาแรก 

หลังประสบความสำเร็จในธุรกิจจนทำให้มั่นใจแล้ว ปี 2534 ก็ได้มีการเปิดสาขาใหม่ที่ธนบุรี ภายใต้ชื่อ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” พร้อมหมายมั่นปั้นมือให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของชาวฝั่งธนบุรีในยุคนั้น  ก่อนที่ในปี 2554  “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” ได้ประกาศ Re-Brand ครั้งใหญ่กับชื่อใหม่  T – SQUARE โดยเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นห้างสรรพสินค้าเต็มตัว มีเป้าหมายเพื่อปั้นศูนย์การค้าชั้นนำระดับบนในย่านธนบุรี และชูจุดเด่นในเรื่องของธุรกิจ Hobby Center ที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กว้างขึ้น โดยยังคงจุดขายเดิมอย่าง  “ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ขายในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง”  และ “แผนกเย็บปักถักร้อย” อันเป็นเอกลักษณ์ไว้

 

ภาพจาก FB : ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

 

หากส่องคู่แข่งของ ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ในเวลานั้นก็มีเพียง เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า เทสโก้โลตัส และพาต้า ปิ่นเกล้า (ที่อยู่ไกลออกไป) ทำให้การปรับทัพใหญ่ครั้งนี้ น่าจะเป็นการสร้าง “ตั้งฮั่วเส็ง” ยุคใหม่ในชื่อ T – SQUARE ได้เป็นอย่างดี  แต่จนแล้วจนรอดผ่านไป 13 ปี “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” ก็ต้องยุติบทบาทค้าปลีกท้องถิ่นคู่ชาวฝั่งธนลงในที่สุด แม้ระหว่างทางจะมีการซุ่มเงียบปรับตัวจัดทัพใหม่ ทั้งช่องทางออนไลน์ และการจัดโปรโมชันอยู่ตลอดเวลา โดยเปิดให้บริการวันสุดท้าย 10 กันยายน 2567 ปิดฉาก 32 ปี “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” อย่างเป็นทางการ (แม้จะมีข่าวการเข้ามาของกลุ่มทุนใหม่ที่พร้อมจะสานต่อกิจการ)

การปิดตัวลงของสาขาระดับแฟล็กชิปของทางค่าย ไม่ได้การันตีความยิ่งใหญ่กว่า 62 ปี ของ “ตั้งฮั่วเส็ง” ว่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจค้าปลีกในยุคปัจจุบันมั่นคงขึ้นแต่อย่างใด ตราบใดที่ เทคโนโลยี คู่แข่ง ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการที่บิ๊กเนมค้าปลีกยักษ์ใหญ่ไทยรายอื่นๆ ปรับตัวก้าวสู่ค้าปลีกระดับโลก จนค้าปลีกดั้งเดิมที่บริหารแบบธุรกิจครอบครัวยากที่จะต่อกร

นักวิชาการค้าปลีกรายหนึ่ง กล่าวมุมมองนี้กับ BrandBuffet ว่า “ตั้งฮั่วเส็ง มีการบริหารแบบกงสี (ธุรกิจครอบครัวของชาวจีน) ขณะเดียวกันก็มีหุ้นส่วนหลายฝ่าย ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่แม่ทัพใหญ่ไม่สามารถบริหารจัดการแบบเด็ดขาดได้ เพราะต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย ทำให้ปรับตัวช้า หรือหากจะทำอะไรแต่ละอย่างก็ช้าหรือทำมากไม่ได้จึงเป็นที่มาของการปิดตัวดังกล่าว”

การปิดตัวลงของ “ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โดนโลกยุคใหม่ Disrupt จากการเข้ามาของค้าปลีกยุค Omni-channel Retail ที่ไม่เพียงแค่เป็นห้างสรรพสินค้า แต่คือไลฟ์สไตล์ที่รวมทั้งออฟไลน์ ออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

 

ภาพจาก FB : ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

 

“ตั้งฮั้วเส็ง” เติบโตและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเย็บปักถักร้อย ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของทางห้าง แต่พอปรับมาเป็นรูปแบบ Department Store อาจจะไม่มีความถนัดมากพอ ประกอบกับรูปแบบการจัดการ แบรนด์ต่างๆ อาจจะยังไม่ทันสมัยมากพอกับความต้องการ จึงทำให้ลูกค้าค่อนข้างบางตา เมื่อมารวมกับบริหารภายในที่ไม่ชัดเจนทำให้ต้องปิดตัวลงในที่สุด”

โดยก่อนจะปิดตัว “ตั้งฮั่วเส็ง” มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมานาน และหากส่องแค่ 5 ปีย้อนหลังพบว่าขาดทุนสะสมถึงกว่า 337.95 ล้านบาท 

  • ปี 2560  รายได้รวม 892.86 ล้านบาทขาดทุน 122.47 ล้านบาท
  • ปี 2561  รายได้รวม 827.34 ล้านบาทขาดทุน 28.88 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 792.10 ล้านบาทขาดทุน 93.52 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 613.58 ล้านบาทขาดทุน 49.30 ล้านบาท
  • ปี 2564  รายได้รวม 409.74 ล้านบาทขาดทุน 43.78 ล้านบาท

ส่วนความเคลื่อนไหวของ “ตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู” นั้น หลังทาง BrandBuffet  ติดต่อสอบถามถึงสถานการณ์ก็ได้รับคำตอบยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ในส่วนของสาขา “บางลำพู” ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แม้สินค้าจะน้อยลงในบางรายการ และยังคงมีร้านค้า ร้านอาหาร และจุดขายเด็ดอย่างโซนเย็บปักถักร้อยให้บริการเช่นเดิม ส่วนจะเปิดให้บริการได้ยาวนานแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ และไม่ทราบถึงสถานการณ์ในอนาคต

 

โลกรีเทลเปลี่ยนไป แค่ Department Store ไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน แต่ต้อง Omni-channel Retail

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ของยุคค้าปลีกในไทย ประกอบด้วยยุคหลักๆ ได้แก่ ปี 2499- 2525 ยุคนั้นคือยุคของการทำธุรกิจค้าปลีกแบบ Department Store ที่มีลักษณะเป็น Stand Alone ตั้งแต่ เซ็นทรัล ไปจนถึงฟู้ดแลนด์ พอมายุคถัดมา ตั้งแต่ 2527 เป็นต้นมา คือยุคของ”ศูนย์การค้า” นั่นคือการรวมเอา “ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์” กับ “ศูนย์การค้าไว้ด้วยการ” มีความหลากหลายและขนาดใหญ่ขึ้น จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ค้าปลีกเป็นการรวมเอาโลกรีเทลทั้งหมด ตั้งแต่ ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ ศูนย์การค้า ออมนิชาแนล รีเทล เข้าไว้ด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

“หากไล่เรียงธุรกิจค้าปลีกตามยุคสมัยเราพบว่า ตั้งฮั่วเส็ง ยังเป็นลักษณะของดีพาร์ทเมนต์สโตร์ แบบสแตนอะโลนอยู่ ซึ่งตามยุคสมัยถือว่าล้าหลัง ขณะเดียวกันก็ไม่มีการเสริมแม็กเนตใหม่ๆ ให้น่าสนใจมากพอ อย่างร้านอาหารซึ่งเป็นแม็กเนตของค้าปลีกยุคใหม่ก็มีน้อยไม่มากพอที่จะดึงลูกค้า ”

แม้แต่ “เซ็นทรัล ชิดลม” ที่เป็นโมเดล Department Store แบบ Stand Alone ใจกลางกรุงฯ ก็มีการปรับกลยุทธ์ภายในห้างฯ ด้วยการเติมแม็กเนต ร้านอาหาร มุมพักผ่อน พื้นที่ต่างๆ  กับรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ๆเข้ามา เพื่อดึงลูกค้ามากขึ้น แน่นอนการปรับตัวที่ไม่มากพอ ก็ทำให้ “ตั้งฮั้วเส็ง ธนบุรี” ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว 

นอกจากนี้รูปแบบ – คอนเซปต์ ของตลาดรีเทลที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อการบริหารจัดการ อดีตธุรกิจค้าปลีกเป็นรูปแบบของการ “ฝากขาย” แต่พอกาลเวลาเปลี่ยนธุรกิจค้าปลีกก็ปรับจาก ซื้อมา-ขายไป กลายเป็น “ศูนย์การค้า” ที่มีการเปิดพื้นที่เช่าให้ผู้เช่าและมีรายได้จากค่าเช่า และการเก็บค่า GP แทน ซึ่งหากจำนวนผู้เช่าไม่มากพอหรือเก็บค่า GP ได้น้อยก็อาจจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ

 

ภาพจาก FB : ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

จับตา “ค้าปลีกท้องถิ่น” กับรายได้แตะระดับ 500 ล้านบาท/ปี ที่กระจายใน 70 จังหวัดทั่วไทย 

อย่างไรก็ดีหากย้อนมาดูอุตสาหกรรมค้าปลีกมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาทของไทย พบว่ามีค้าปลีกท้องถิ่นทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก ตลอดจนซูเปอร์มาร์เก็ต ท้องถิ่นอยู่ราว 268 สาขา ใน 70 จังหวัดทั่วไทย ที่ยังมีการดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ออกมาประเมินสถานการณ์ปี 2567-2569 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.0-5.5% โดยได้รับอานิสงส์จาก 5 ปัจจัยหนุน ได้แก่  1. กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  2. การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะส่งผลดีต่อภาคค้าปลีกโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว  3. ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กภาครัฐ และ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะหนุนให้ร้านค้าปลีกเร่งขยายสาขาเพื่อรองรับการเติบโตของชุมชนเมือง  4. การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์ ช่วยกระตุ้นยอดขาย  5. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกในจังหวัดชายแดนและจังหวัดหลักในภูมิภาค

ท่ามกลางการแข่งขันของสมรภูมิค้าปลีกรายใหญ่ที่ต่างกรีฑาทัพออกนอกประเทศ และสร้างแลนด์มาร์คใหญ่ใจกลางกรุงฯ เพื่อสร้างการเติบโต อีกมุมหนึ่งในต่างจังหวัด “ค้าปลีกท้องถิ่น” ที่หลายฝ่ายเป็นกังวลถึงสถานการณ์การเติบโตว่าจะ “อยู่รอด” หรือ “ล้มหายตายจาก” ไปตามกาลเวลา กลับซุ่มเงียบและสามารถสร้างการเติบโตทำรายได้ในระดับ 500 ล้านบาทต่อปีได้อยู่หลายราย

 

“กลุ่มค้าปลีกแนวเส้นที่ 1 คือกลุ่มพี่ใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ตลอดจนบิ๊กซี ฯลฯ กลุ่มนี้จะสร้างการเติบโตไปยังต่างประเทศ พร้อมทั้งหาโอกาสในน่านน้ำใหม่ๆ ขณะที่กลุ่มค้าปลีกแนวเส้นที่ 2 (ค้าปลีกท้องถิ่น) กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พยายามสร้างการเติบโตในประเทศและในเขตพื้นที่จังหวัดของตัวเอง ทำให้กลุ่มนี้หากสามารถปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการได้ ทางรอดและโอกาสก็ยังมีอีกมาก” นักวิชาการค้าปลีกกล่าว 

 

ส่องความได้เปรียบ “ค้าปลีกภูธร” กับปัจจัยหลักส่งต่อการเติบโตในอนาคต

อีกหนึ่งในข้อได้เปรียบของค้าปลีกท้องถิ่นคือเรื่องทำเล ที่ในหลายจังหวัดเจ้าของธุรกิจมักจะเป็นคนพื้นที่ มีที่ดินทำเลดี รู้จักพฤติกรรมของลูกค้า ตลอดจนความเป็นแบรนด์คู่ชุมชนที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เปรียบเสมือนร้านค้า-ศูนย์การค้าใกล้บ้านที่สามารถเดินเข้าไปซื้อของได้ทุกวัน

“ให้ลองนึกถึงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใกล้บ้าน กับค้าปลีกท้องถิ่นดั้งเดิมที่เรารู้จักว่า เราเข้าไปใช้บริการบ่อยแค่ไหน แน่นอนศูนย์การค้าขนาดใหญ่เราคงไม่ไปทุกวัน ซึ่งลูกค้าของศูนย์การค้าขนาดใหญ่จะมีมากช่วง Weekend ส่วนร้านเล็กแถวบ้านต่างหากที่เราเข้าไปใช้บริการบ่อยกว่า และมักจะมีลูกค้าหลักเข้ามาใช้บริการช่วง Weekday ซึ่งหากร้านเล็กท้องถิ่นเหล่านี้ทำได้ดีก็จะสามารถดึงลูกค้าได้ตลอด 5 วันซึ่งถือว่ามากพอที่จะสร้างการเติบโต”

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ยังระบุอีกว่า ประเด็นท้าทายของธุรกิจในระยะต่อไป ได้แก่ การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการเดิมและรายใหม่ รวมถึงคู่แข่งจากร้านค้าออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างชาติที่ทำการตลาดบน E-marketplace ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกจะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเร่งผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการปรับภูมิทัศน์ของธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่สู่การเติบโตแบบยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลก

นั่นทำให้ผู้เล่นทุกรายต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมขนาดเล็กที่ใช้วิธีการบริหารแบบครอบครัว เพื่อให้ทันยุคสมัย รวดเร็ว และต้องมองเรื่องของเทรนด์ค้าปลีก ท้องถิ่นให้เป็น Back to The Future กล่าวคือ ในเทรนด์ค้าปลีกอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดขึ้นก่อนที่กรุงเทพฯ และรายใหญ่เสมอ ทำให้กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น ได้เห็นเทรนด์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเห็นอนาคตก่อนล่วงหน้า และจะสามารถหยิบจับ เพื่อมาใส่ พัฒนา ต่อยอดให้เข้ากับคนในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งมักจะง่ายกว่าการไม่มีเทรนด์เสมอ

ขณะที่คีย์สำคัญอีกหนึ่งประการของการทำธุรกิจค้าปลีกภูธร ให้คงอยู่รอด คือเรื่องของ “ทายาท” ในการสานต่อธุรกิจครอบครัวคือสิ่งสำคัญ เพราะหากว่าไปแล้วเจนเนอเรชันใหม่ๆ เหล่านี้ คือกลุ่มคนที่จะมาสานต่อกิจการพร้อมถอดวิธีคิดการทำงานของคนรุ่นใหม่ให้แก่ธุรกิจของตัวเอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ค่านิยมก็เปลี่ยนตาม หลายบริษัทค้าปลีกท้องถิ่นขาดทายาทสืบต่อ ก็ทยอยล้มหายตายจากไป ขณะที่บางบริษัทมีทายาทสานต่อก็สร้างการเติบโตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“ที่ผ่านมา มีหลายจังหวัด หลายแบรนด์ที่ค้าปลีกท้องถิ่นต้องหายไป เพราะขาดทายาทสานต่อ ไม่ใช่เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่มีทายาท หากแต่ค่านิยมสมัยใหม่การกลับไปสานต่อกิจการ หรือกลับบ้านเกิดเพื่อทำธุรกิจครอบครัวอาจจะไม่ดูเท่ ตามยุคสมัย ทำให้หลายคนปล่อยทิ้งไปในที่สุด”

น่าจับตาว่าการปิดฉากของ “ตั้งฮั้วเส็ง ธนบุรี” เป็นการปิดตัวเพื่อรอกลุ่มทุนรายใหม่เข้ามาสานต่อ หรือจะเป็นการปิดตัวลงอย่างถาวร แต่ที่แน่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันของโลกยุคดิจิทัล “ค้าปลีกท้องถิ่น” หรือ “ค้าปลีกภูธร” ยังมีโอกาสอีกมากให้ได้เติบโตหากแต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like