อุตสาหกรรมการผลิตชิปอาจเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า บริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการของอินเทล (Intel) ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ตัวเองแกร่งขึ้น และสามารถต่อกรกับเพื่อน ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่าง Nvidia ในตลาดชิป AI ได้ดีขึ้น
การเสนอซื้อกิจการดังกล่าวได้รับการยืนยันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยข่าวชิ้นนี้ได้ทำให้หุ้นของอินเทลพุ่งขึ้น 3% และทำให้บริษัทมีมูลค่าเติบโตทะลุ 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกครั้ง ขณะที่หุ้นของควอลคอมม์ปรับตัวลดลงทันที 3% เช่นกัน (แต่ในแง่มูลค่ากิจการแล้ว ควอลคอมม์ยังคงเหนือกว่า โดยมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 188,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ดีลครั้งนี้สำคัญอย่างไร
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดข่าวดังกล่าวอาจมาจากการที่ควอลคอมม์และอินเทลเป็นคู่แข่งกันในหลายตลาด ทั้งตลาดพีซีและแลปท็อป แต่จุดที่แตกต่างกันคือ ควอลคอมม์ไม่มีโรงงานของตัวเอง แต่เป็นการจ้าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) และซัมซุง (Samsung) ผลิตชิปให้
หากควอลคอมม์ซื้อกิจการอินเทลสำเร็จ ก็จะทำให้ควอลคอมม์ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดชิปสำหรับพีซี นอกเหนือรายได้จากการขายชิปให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ที่ปัจจุบันมีมากถึง 70% ของรายได้ทั้งหมด และควอลคอมม์ยังเป็นผู้ผลิตชิป IoT สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย
ส่วนอินเทลนั้นมีโรงงานเป็นของตัวเอง โดยตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ อิสราเอล และอินเทลยังมี Testing sites ตั้งอยู่ในจีน คอสตาริก้า มาเลเซีย และเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มภายใต้งบประมาณสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้) นัยว่าเพื่อลงทุนเพิ่มในตลาด AI ที่ตกเป็นของ Nvidia มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนั่นเอง
ที่สำคัญ หากการปรับทัพครั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะส่งผลต่อตลาดชิป AI โลกอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะทำให้การแข่งขันในตลาดดังกล่าวมีความเข้มข้นขึ้น โดยดีลอยต์คาดการณ์ว่า ปี 2024 มูลค่าของชิป AI จะอยู่ที่ 71,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อินเทลในโลก AI
อีกหนึ่งข่าวที่ทำให้ราคาหุ้นของอินเทลปรับตัวเพิ่มขึ้นคือการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ AWS เมื่อกลางเดือนกันยายน ในการพัฒนาการผลิตชิปร่วมกันบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา โดย Intel จะผลิตชิป AI บน Intel 18A และชิป Xeon 6 บน Intel 3 สำหรับ AWS ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับรัฐโอไฮโอ
นอกจากนั้น ทาง AWS ก็วางแผนจะลงทุน Data Center ในรัฐโอไฮโอด้วยเช่นกัน
อินเทล vs ควอลคอมม์ ใครฐานะดีกว่า
งบการเงินปี 2023 ระบุว่า ควอลคอมม์ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 35,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่าอินเทลที่ทำไปได้ 54,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2024 อินเทลตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2023 ด้วย)
ส่วนในแง่มูลค่ากิจการ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของควอลคอมม์เติบโตกว่า 50% ขณะที่อินเทล มูลค่าหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 37% เช่นกัน
แต่สิ่งที่นักลงทุนตั้งคำถามก็คือ ควอลคอมม์มีเงินสดอยู่ในมือแค่ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลของไตรมาส 2 ของปี 2024) และมีหนี้ระยะยาวอีก 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดการซื้อกิจการกันจริง บริษัทอาจต้องกู้เงินอีกเป็นจำนวนมากก็เป็นได้
ส่วนอินเทล แม้รายได้จะสูงกว่า แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของอินเทลก็คือ บริษัทไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง AI อีกต่อไป โดย CNBC ระบุว่า Nvidia ครองส่วนแบ่งตลาดนี้เอาไว้มากกว่า 80% และ Gen AI ชื่อดังอย่าง ChatGPT ก็ทำงานบนชิปของ Nvidia เช่นกัน
อุปสรรคของดีลนี้คืออะไร
อุปสรรคของดีลนี้คือเรื่องของเวลาที่ค่อนข้างนาน ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐอเมริกา ที่ในอดีตได้ทำให้การเสนอซื้อกิจการของหลาย ๆ บริษัทไม่สามารถบรรลุเป้าหมายมาแล้วมากมาย
ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ปี 2017 บริษัท Broadcom ได้ยื่นข้อเสนอซื้อควอลคอมม์ด้วยมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งยับยั้งข้อตกลงนี้ เนื่องจากกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติ (เพราะในขณะนั้น Broadcom มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์)
หรือกรณีที่คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission) ได้ยื่นฟ้อง Nvidia เพื่อระงับการเข้าซื้อกิจการของ Arm ในปี 2021 และดีลดังกล่าวก็ถูกปัดตกไปในปี 2022 เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในกรณีของควอลคอมม์ที่ยื่นข้อเสนอต่ออินเทลนั้น ทาง CNBC รายงานว่า ทางบริษัทได้เจรจากับตัวแทนหน่วยงานภาครัฐว่าหากทั้งคู่เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน นโยบายเรื่องการผูกขาดทางการค้าก็ควรได้รับการผ่อนผัน
นอกจากนี้ รายงานของดีลอยต์ยังพบว่า การผลิต การประกอบ และการทดสอบชิป มักเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในแง่ความมั่นคง และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจเป็นตัวผลักดันให้สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ต้องหันไปเพิ่มกำลังการผลิตชิปภายในประเทศ และต้องมีการลงทุนทั้งด้านการประกอบและทดสอบควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อลดความซับซ้อนต่อห่วงโซ่อุปทานด้วยก็เป็นได้
หากพิจารณาภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ตลาดชิปกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคของ AI, IoT และยานยนต์อัจฉริยะ หากควอลคอมม์สามารถเข้าซื้ออินเทลได้สำเร็จ บริษัทจะกลายเป็นผู้นำในตลาดชิปที่มีการแข่งขันสูง และอาจมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI
อย่างไรก็ตาม หากดีลนี้ไม่สำเร็จ ควอลคอมม์อาจยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดจาก Nvidia ซึ่งนับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้นในตลาด AI ขณะที่อินเทลจะต้องพยายามฟื้นฟูตัวเองและหาทางกลับมาแข่งขันในตลาดชิป AI ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ให้ได้ ซึ่งทำให้บทสรุปของดีลนี้ ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร ก็น่าสนใจมากทีเดียว
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock