HomeBig Featuredจากธุรกิจเหมืองแร่ สู่บริษัทเทคโนโลยี ทำความรู้จัก “ยิบอินซอย” ผู้รับช่วงต่อ Robinhood

จากธุรกิจเหมืองแร่ สู่บริษัทเทคโนโลยี ทำความรู้จัก “ยิบอินซอย” ผู้รับช่วงต่อ Robinhood

แชร์ :

ชื่อของ “ยิบอินซอย” อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูผู้บริโภคเท่าใดนัก แต่สำหรับกลุ่ม B2B แล้ว ยิบอินซอย เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ในฐานะผู้ให้บริการด้านไอทีและดิจิทัล

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ยิบอินซอย บริษัทที่แค่เอ่ยชื่อก็รู้ว่ามีเชื้อสายจากจีน มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานเกือบ 100 ปี ยิบ (Yip) อินซอย (In Tsoi) มาจากชื่อของผู้ก่อตั้ง เขาสำเร็จการศึกษาจากประเทศจีน ก่อนจะฝึกงานด้านการธนาคารที่ฮ่องกงเป็นเวลา 2 ปี จึงกลับมาช่วยกิจการค้าของนายยับหลงผู้เป็นบิดา ทำให้มีโอกาสเดินทางไปดูกิจการค้าทางภาคใต้ของประเทศไทย

กระทั่งเริ่มธุรกิจเหมืองแร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 ณ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี 3 ตระกูลได้แก่ ยิบอินซอย ลายเลิศ และ จูตระกูล ร่วมกันก่อตั้ง ก่อนที่ปี พ.ศ. 2510 จะขยายธุรกิจมาที่ผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยนำเข้าปุ๋ยและเคมีการเกษตรนำเข้าจากเยอรมนี ถือสิทธิ์นำเข้ารถบรรทุก Isuzu ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ 3M และเครื่องปรับอากาศ Air Temp

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ “ยิบอินซอย” ทำให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยการเป็นตัวแทนจำหน่าย “Burroughs Adding Machine” หรือเครื่องจักรสำหรับการลงบัญชี สำหรับให้บริการในธนาคาร หน่วยงานต่าง ๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 คุณธวัช ยิบอินซอย ทายาทรุ่น 2 ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี เริ่มจากการวิจัยและพัฒนาให้เครื่อง Burroughs สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำได้ยากมากในยุคนั้น และในปี พ.ศ. 2516 ยิบอินซอยก็ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่งานจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมด้วยเช่นกัน

สำหรับลูกค้าในกลุ่มเทคโนโลยี นอกเหนือจากสถาบันการเงินในยุคนั้น เช่น ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฯลฯ ก็พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นหน่วยงานราชการ เช่น การไฟฟ้านครหลวง, กรมบัญชีกลาง, กระทรวงการคลัง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินในยุคต่อมา ได้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้งานคอมพิวเตอร์พีซี (ไอบีเอ็ม) รวมถึงมีการนำตู้ ATM เข้ามาติดตั้ง ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ธุรกิจคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของยิบอินซอยต้องปิดฉากลงในที่สุด

เข้าร่วม “ล็อตเตอรี่ออนไลน์”

ยิบอินซอยยังมีชื่อเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการดังของยุคนั้นอย่างการขายล็อตเตอรี่ออนไลน์ โดยเป็นการจับมือกับค่ายล็อกซ์เล่ย์ เพื่อให้บริการติดตั้งและให้บริการหลังการขาย และยิบอินซอยได้มีการลงทุนต่าง ๆ มากมายเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว แต่สุดท้าย โครงการล็อตเตอรี่ออนไลน์ก็ถูกพับไปเช่นกัน

ต่อมาในปี พ.ศ.2540 ในยุคของวิกฤติการเงินเอเชีย ผู้บริหารรุ่นที่ 3 โดย คุณมรกต ยิบอินซอย และคุณสุภัค ลายเลิศ ได้เข้ามาร่วมปรับกลยุทธ์และนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ยิบอินซอย โดยเปลี่ยนไปสู่การวางระบบไอที ตลอดจนการให้บริการ Data Solutions เรื่อยมา

ลงทุนธุรกิจใหม่ “พลังงานสะอาด”

ปี พ.ศ. 2566 อาจถือเป็นอีกหนึ่งก้าวใหม่ เมื่อ คุณยุพธัช ยิบอินซอย กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทยิบอินซอย ส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาด มีส่วนร่วมลงทุนใน Winnonie พัฒนาธุรกิจผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า R Y N

นอกจากนี้ยังมี ผลิตภัณฑ์ Powerwall แบตเตอรี่โซเดียมอิออน เพื่อนำไปใช้ในระบบกักเก็บพลังงานในโครงการ Smart Farming ของโรงงานผลิตปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ของบริษัทเอง รวมถึงการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเกษตร BIOTECHNOLOGY ไปจนถึงธุรกิจการเงินอีกหลายอย่าง

จากประวัติการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งปี 2566 ยิบอินซอย มีรายได้ 5.96 พันล้านบาท ดังนั้น ยิบอินซอย จึงไม่ใช่ Tech Company น้องใหม่แต่อย่างใด

ความกล้าหาญในการเข้ามารับไม้ต่อจาก SCBx เพื่อบริหาร Robinhood แพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทยในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของยิบอินซอยที่จะผลักดันให้ยิบอินซอยผงาดกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจดิจิทัลได้หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายที่ Platform สั่งอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง Grab และ LINEMAN ที่มีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง แถมยังมีตัวสอดแทรกอย่าง foodpanda … ศึกนี้ ต้องจับตา!


แชร์ :

You may also like