HomeBrand Move !!“ยิบอินซอย” ปิดดีลซื้อกิจการ Robinhood มูลค่า 2,000 ล้านบาท ลงสนามแข่งแอปฟู้ดเดลิเวอรี่

“ยิบอินซอย” ปิดดีลซื้อกิจการ Robinhood มูลค่า 2,000 ล้านบาท ลงสนามแข่งแอปฟู้ดเดลิเวอรี่

แชร์ :


บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของไทย ประกาศเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น เพื่อขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการ แอปพลิเคชัน Robinhood ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนนำโดยกลุ่มยิบอินซอย โดยการซื้อขายคิดเป็นมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท

ประกอบด้วย มูลค่าเบื้องต้นชำระทันที 400 ล้านบาท และส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุดไม่เกิน 1,600 ล้านบาท โดยการซื้อขายในครั้งนี้อยู่ภายใต้เจตนารมณ์ที่ยังคงต้องการให้แอปพลิเคชัน Robinhood เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่พัฒนาโดยคนไทยเพื่อคนไทยที่สามารถแข่งขัน พร้อมดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

4 กลุ่มลงทุนใน Robinhood 

1. กลุ่มยิบอินซอย ถือหุ้น 50% (บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ถือหุ้น 30% และบริษัท มีศิริ จำกัด ถือหุ้น 20%)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

2. บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 30%

3. บริษัท เอสซีที เรนทอล คาร์ จำกัด ถือหุ้น 10%

4. บริษัท ล็อกซบิท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10% (บริษัทในเครือล็อกซเล่ย์)

โดยผู้ร่วมลงทุนทั้ง 4 กลุ่ม ได้ร่วมตกลงให้ “ยิบอินซอย” เป็นผู้นำที่รับผิดชอบในการประสานกับ SCBX เพื่อเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงกรรมการและการบริหารกิจการ โดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการและแอป Robinhood

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทั้ง 4 กลุ่ม คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าและผู้ใช้บริการแอป Robinhood เพื่อยังคงเป็นตัวกลางที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในบริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) ที่หลากหลายในราคาที่เป็นธรรม และช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์หลายหมื่นชีวิตอย่างต่อเนื่อง

SCBX cover news

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า “Robinhood เริ่มต้นธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นให้ประเทศเราได้มีแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา และเมื่อถึงเวลาที่กลุ่ม SCBX ต้องตัดสินใจส่งต่อธุรกิจ Robinhood ไปยังกลุ่มผู้ลงทุนรายต่อไป หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เราใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่สนใจซื้อกิจการ คือ ต้องเป็นกลุ่มธุรกิจสัญชาติไทยที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ Robinhood เป็นแพลตฟอร์มของคนไทยเพื่อคนไทยที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ลงทุนนำโดยกลุ่มยิบอินซอยมีความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในเรื่องของโซลูชันเทคโนโลยีแบบครบวงจร แต่ที่สำคัญยังมีเจตนารมณ์ที่จะนำพา Robinhood ให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์ส่งอาหาร”

คุณมรกต ยิบอินซอย

คุณมรกต ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำของกลุ่มผู้ลงทุนยิบอินซอยในการเข้าซื้อ Robinhood จาก SCBX เราเล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้บริการส่งอาหารของแพลตฟอร์ม Robinhood ที่มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มีคุณภาพ มีความโดดเด่นในการให้บริการของไรเดอร์ที่สุภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ ประเภทของร้านค้าที่เปิดให้บริการมีหลากหลายเพราะนอกจากจะมีร้านชื่อดังชั้นนำแล้วยังมีร้านที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ โดยเรามองว่าปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับการเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่มีรากฐานที่ดี จึงเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่มผู้ลงทุนยิบอินซอยที่จะพัฒนาธุรกิจเพื่อต่อยอดให้ Robinhood มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีความสามารถที่จะแข่งขันที่ดียิ่งขึ้น พร้อมสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) ให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง และยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับร้านค้าและเศรษฐกิจของประเทศไว้ด้วยกัน”

ลูกค้ายังคงสามารถใช้งานแอปพลิเคชัน Robinhood ได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ

Robinhood เป็นแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ สัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดย SCBX ถือกำเนิดในช่วงโควิด เพื่อช่วยคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ที่มีความจำเป็นและมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเปิดทดลองให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงปัจจุบันรวมเวลา 4 ปี

สรุปรายได้ “เพอร์เพิล เวนเจอร์ส” เจ้าของแอป Robinhood 4 ปี “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

– ปี 2563 รายได้ 81,549 บาท ขาดทุน 87 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 15 ล้านบาท ขาดทุน 1,335 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,986 ล้านบาท
– ปี 2566 รายได้ 724 ล้านบาท ขาดทุน 2,155 ล้านบาท

ทำความรู้จักยิบอินซอย

กลุ่มยิบอินซอย (YIP IN TSOI) เริ่มธุรกิจในปี 2469 ก่อตั้งโดยสมาชิกจากตระกูลยิบอินซอย, ลายเลิศ และจูตระกูล ด้วยการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล “ยิบอินซอยแอนด์โก” ขึ้นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เริ่มด้วยกิจการค้าแร่ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น

หลังจากนั้นได้จัดตั้ง “บริษัท ยิบอินซอย จำกัด” (Yip In Tsoi & Company Limited) ขึ้นในปี 2473 ด้วยทุนจดทะเบียน 150,000 บาท มีผู้ถือหุ้น 7 คน ได้แก่ นายยิบอินซอย นายยับหลง นายเลนำคิน นางเลมีเซียม นายโกซุน นายโกซุนหลิน และนางหร่อย กรรมการชุดแรกของบริษัทประกอบด้วย นายยิบอินซอย นายยับหลง และนางเลมีเซียม มีสำนักงานใหญ่ที่อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนคร ต่อมาในปี 2481 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จนถึงปัจจุบัน

กลุ่มยิบอินซอย ได้ทำการค้ากับบริษัทต่างชาติชั้นนำ ต่อยอดธุรกิจที่มีความหลากหลายและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

– ธุรกิจด้านการนำเข้าสินค้าคุณภาพชั้นนำระดับโลก เช่น การนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เท็กซาโก (Texaco) รถแทรกเตอร์ยี่ห้อ David Brown รถบรรทุก Isuzu เครื่องจักรทอกระสอบ เครื่องปรับอากาศ Air Temp

– ธุรกิจนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค คุณภาพระดับโลก เช่น ตะเกียงเจ้าพายุตราโคลแมน กระดาษตราสแตบิโล เครื่องเขียน Pelikan, Swallo ผลิตภัณฑ์ตรา 3M กล้องถ่ายรูป Rolleiflex ฯลฯ

– ธุรกิจประกันภัย การออกกรมธรรม์ทางทะเล

– บุกเบิกการค้าปุ๋ยเคมีเป็นรายแรกของไทย เมื่อปี 2489 โดยนำเข้าปุ๋ยเคมีคุณภาพสูงจากประเทศเยอรมนี เข้ามาจำหน่าย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราใบไม้”

– ร่วมกับกลุ่มซีสซั่นส์ บราเดอร์ส เพ้นท์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สีทาบ้านคุณภาพรายใหญ่ที่สุดใน สหราชอาณาจักร ก่อตั้ง “บริษัท ซีสซั่นส์เพ้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสีอุตสาหกรรมคุณภาพสูง

– ธุรกิจด้านการเงิน โดยเป็นตัวแทนของ “ธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย” และ “ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ” ในเขตพื้นที่ภาคใต้และบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– ก่อตั้ง “บริษัท ยิบอินซอยลงทุนและค้าหลักทรัพย์ จำกัด (YIT Invesment & Securities Ltd.- YISCO)” “บริษัท ยิบอินซอย เงินทุน” (Yipintsoi Finance Limited. – YIPFIN) ทำธุรกิจด้านการเงินและหลักทรัพย์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น“บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ จำกัด)”

– ยิบอินซอยเริ่มเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยี เมื่อปี 2497 โดยการเป็นตัวแทนจำหน่าย “Burroughs Adding Machine” เครื่องบวกเลขแบบจักรกล ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานระดับสูง ที่มีความทันสมัยในยุคนั้น และก่อตั้ง “แผนก B” (ย่อมาจากคำว่า “Burroughs”) ขึ้นในปี 2501 เพื่อรองรับการค้าขายสินค้ากลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

– ต่อมาในปี 2506 นายธวัช ยิบอินซอย ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี เริ่มจากการวิจัยและพัฒนาให้เครื่องคอมพิวเตอร์เบอร์โร่วส์ สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำได้ยากมากในยุคนั้น

– ในปี 2516 จึงขยายธุรกิจเข้าสู่งานจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม โดยมีนายเทียนชัย ลายเลิศ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจนี้ ผลงานที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ การติดตั้งเครื่องเมนเฟรมที่ธนาคารกสิกรไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กองทัพอากาศ การไฟฟ้านครหลวง กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร ซึ่งการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้ฐานธุรกิจเทคโนโลยีของยิบอินซอยเติบโตและมีความมั่นคงขึ้นอย่างมาก

– ต่อมาในปี 2540 ในยุคของวิกฤติการเงินเอเชีย ผู้บริหารรุ่นที่ 3 โดยนางมรกต ยิบอินซอย และนายสุภัค ลายเลิศ ได้เข้ามาร่วมปรับกลยุทธ์และนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ยิบอินซอย โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ประสิทธิภาพสูง เช่น เนทแอป (NetApp) และผลิตภัณฑ์ของ SUN microsystem เข้ามาสร้างตลาดกลุ่มใหม่ๆ ในยุคที่ระบบเปิด (Open system) เริ่มจะมาแทนที่ระบบเมนเฟรม และร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจระดับโลก มุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร ขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจไปยังกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงินการธนาคาร และกลุ่มลูกค้าอื่นๆ

ข้อมูลงบการเงิน “ยิบอินซอย” กลุ่มยิบอินซอย มีบริษัทในเครือ 9 บริษัท เปิดงบการเงินเฉพาะบริษัทยิบอินซอย 5 ปีย้อนหลัง ตัวเลขดังนี้

– ปี 2562 รายได้รวม 4,376 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้รวม 4,885 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้รวม 5,012 ล้านบาท กำไร 166 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้รวม 5,107 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
– ปี 2566 รายได้รวม 5,963 ล้านบาท กำไร 129 ล้านบาท

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like