HomeBrand Move !!4 ปี ‘การบินไทย’ จากยื่นฟื้นฟูกิจการศาลล้มละลาย – ขายปาท่องโก๋ ถึงวันที่ ‘เทคออฟ’ อีกครั้ง

4 ปี ‘การบินไทย’ จากยื่นฟื้นฟูกิจการศาลล้มละลาย – ขายปาท่องโก๋ ถึงวันที่ ‘เทคออฟ’ อีกครั้ง

แชร์ :

เส้นทาง 4 ปีของ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ นับจากวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อแก้ปัญหาขาดทุนสะสมกว่า 2.4 แสนล้านบาท เจอกับสถานการณ์โควิด-19 การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทำการบินไม่ได้ ต้องลดต้นทุน ลดพนักงาน หารายได้ทุกทาง ขายทรัพย์สินอาคารสำนักงานศูนย์อบรมหลักสี่ ขายสำนักงานและเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งาน มาถึงสิ้นปี 2567 “การบินไทย” พร้อมปรับโครงสร้างทุนแก้หนี้ ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นกลับมาซื้อขายในตลาดฯ อีกครั้งในไตรมาส 2 ปี 2568

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สตอรี่การต่อสู้ของการบินไทยเพื่อหารายได้ในช่วงที่ต้องเจอกับสถานการณ์โควิดปี 2563 ครัวการบินไทย (THAI Catering) ได้ใช้พื้นที่สำนักงานสีลม หาทางสร้างรายได้ ด้วยการทำ “ปาท่องโก๋” เมนูฮิตช่วงเช้าของชาวออฟฟิศขาย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก กลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลถึงความอร่อยของ “ปาท่องโก๋การบินไทย” ที่มีไฮไลต์สูตรดิปสังขยามันม่วง มีลูกค้ามาเข้าคิวรอซื้อตั้งแต่ 4.30 น. ทำยอดขายปาท่องโก๋ 1,200 ตัวหมดในเวลาเพียง 1.30 ชั่วโมง ปัจจุบันปาท่องโก๋การบินไทยจะออกขายตามบูธในสถานที่ต่างๆ

ในงานแถลงข่าวความคืบหน้าเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูของ “การบินไทย” และประกาศทิศทางการเติบโตหลังจากกลับมา “เทคออฟ” อีกครั้ง การบินไทยได้ทำป้ายตัวอักษรคำว่า “สู้” ที่ทำจากปาท่องโก๋ มาโชว์ที่หน้างาน เพื่อสะท้อนให้เห็นหนึ่งในเรื่องราวการต่อสู้ตลอด 4 ปีของการฟื้นฟูกิจการ

ย้อนไทม์ไลน์ 4 ปี ฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย”

– วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

– วันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ

– วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ สาระสำคัญ ชำระหนี้ เจรจาลดหนี้ ให้สิทธิเจ้าหนี้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท การก่อหนี้ใหม่ และการระดมทุนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

– วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลเห็นชอบขอแก้ไขแผนฟื้นฟู (ฉบับปัจจุบัน) การปรับโครงสร้างทุนประกอบด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่

– วันที่ 13 กันยายน 2567 ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผน เรื่องการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมและนัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

– วันที่ 30 กันยายน 2567 ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

– วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ

– ไตรมาส 1 ถึง ไตรมาส 2 ปี 2568 ผู้บริหารแผนอนุมัติงบการเงินสำหรับปี 2567 ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทตามแผนฟื้นฟูกิจการ

– ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและนำหุ้น THAI กลับไปซื้อขายใน SET

คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

5 การเปลี่ยนแปลงสำคัญช่วงฟื้นฟูกิจการ

คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 4 การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด มีผลสำเร็จตามแผน ไม่ว่าจะเป็น

– การจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 3.36 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565

– ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่เกิดเหตุการผิดนัด ตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบัน

– ผลประกอบการ Ebitda หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2567 รอบ 12 เดือนย้อนหลัง เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

ส่วนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่เหลืออีก 2 เรื่องที่ต้องทำคือ

1. ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการเป็นบวก ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก

ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567

2. การแต่งตั้งกรรมการใหม่ ส่วนนี้จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อแต่งตั้งกรรมการใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

ตลอดช่วง 4 ปี ของแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและการบริหารสำคัญ 5 เรื่องดังนี้

1. การบินไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์กับบริษัท เพราะการทำงานคล่องตัว กระบวนการตัดสินใจรวดเร็ว ลดตขั้นตอนกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เน้นทำงานเหมือนสายการบินเอกชนอื่นๆ

2. ปรับกระบวนการทำงานและการตัดสินใจแบบเน้นการบริหารเชิงพาณิชย์ แต่ยังคงให้บริการตามความต้องการลูกค้า

3. ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดจำนวนพนักงาน จาก 28,000 คนในปี 2562 ก่อนโควิด ปี 2565 เหลือ 14,000 คน (โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย) เพื่อลดค่าใช้จ่ายพนักงานจากเดือนละ 2,400 ล้านบาทต่อเดือน เหลือ 700 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมปรับโครงสร้างค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

4. ปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางบินเพื่อเพิ่มรายได้ โดยมีฝูงบินที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การบินแบบ Network เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรในทุกเส้นทาง

5. มีการบริหารจัดการที่มีระบบธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ช่วยลดค่าใช้จ่ายนายหน้า รวมถึงการคัดเลือกและประเมินบุคลากรที่โปร่งใส ช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

“แผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส”

คุณชาย เอี่ยมศิริ

เปิดแผนการบินไทย “เทคออฟ” เพิ่มฝูงบิน-มาร์เก็ตแชร์

คุณชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าก่อนโควิด ปี 2562 การบินไทยมีฝูงบินจำนวน 103 ลำ ช่วงโควิดและแผนฟื้นฟู ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ปี 2565 มีฝูงบิน 64 ลำ ปัจจุบันปี 2567 เพิ่มเป็น 77 ลำ

ผลการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ
– ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร ปี 2566 เพิ่มขึ้น 40.9% 15.6%
– Aircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน ปี 2566 เพิ่มขึ้น 17.3%
– Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ปี 2566 เพิ่มขึ้น 11.8%
– ผู้โดยสารในปี 2566 จำนวน 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565
– รายได้รวมปี 2566 สูงถึง 165,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212 ล้านบาทในปี 2565

“ตัวเลขต่างๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง”

กลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ของการบินไทย ที่จะกลับมาเทคออฟ หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์

1. การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม (Network Airline) : โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบินจากไทยไปภูมิภาคต่างๆ ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก
2. การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร: โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน: เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
4. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่: เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว
5. การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายสำคัญของการบินไทย ในการเป็นผู้นำตลาดในประเทศและเป็นศูนย์กลางการบิน ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) เพิ่มขึ้นให้ได้ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้สูงสุด ในปี 2556 ที่มาร์เก็ตแชร์ 42% ขณะนั้นมีฝูงบินจำนวน 100 ลำ

มาในช่วงโควิดและเข้าสู่แผนฟื้นฟู ปี 2562 มาร์เก็ตแชร์ลดลงเหลือ 37% ปี 2566 เหลือ 27% โดยมีฝูงบิน 70 ลำ

ตามแผนการขยายฝูงบินถึงปี 2572 การบินไทยจะมีเครื่องบินจำนวน 143 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน และตั้งเป้าหมายมาร์เก็ตแชร์ในฐานะสายการบินแห่งชาติด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% เหมือนที่เคยทำได้ในอดีต

“วันนี้การบินไทยพร้อมกลับมาเทคออฟอีกครั้ง มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้โดยสาร และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง”

 “การบินไทย” ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน

คุณเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ

โดยการบินไทย ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100%

ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตรา 24.50% ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด

นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน

อีกทั้ง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ

รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย

สำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 59.01 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

โดยการบินไทย ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 และคาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป

เป็นเรื่องยาก “การบินไทย” กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

สำหรับ โครงสร้างการถือหุ้น “การบินไทย” หลังการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ดังนี้

– โครงสร้างการถือหุ้นปัจจุบัน กระทรวงการคลัง 47.9% รัฐวิสาหกิจ (ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการส่งออและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (จำกัด) มหาชน) 2.1% กองทุนวายุภักษ์ 7.6% และผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4%

– โครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (มีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม) ดังนี้ กระทรวงการคลัง 32.9% รัฐวิสาหกิจ 5% กองทุนวายุภักษ์ 2.7% ผู้ถือหุ้นเดิมอื่นๆ 8.4% เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 38.4% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 12.4%

คุณพรชัย ฐีระเวช คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย กล่าวว่าหากดูจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น หลังปรับโครสร้างทุนจากเจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน เห็นได้ว่าเจ้าหนี้กระทรวงการคลัง ถูกบังคับแปลงหนี้ 100% และสุดท้ายหลังปรับโครงสร้างทุน สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง จะลดลงเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ ส่วนเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนสัดส่วนจะเพิ่มขึ้น

ดังนั้นโอกาสที่การบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ หากดูตามโครงสร้างทุนใหม่เป็นไปได้ยาก

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like