YouTube ประเทศไทย เปิดตัวบริการ YouTube Shopping แล้วอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการจับมือกับแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งไทยเป็นประเทศลำดับที่ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย และเปิดให้ครีเอเตอร์ในไทยได้เริ่มทดลองใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวมาแล้วประมาณ 1 เดือน และในช่วง 6 เดือนแรกของการเปิดตัว ทาง YouTube ประเทศไทย ระบุว่าจะไม่มีการหักค่าคอมมิชชันกับครีเอเตอร์ด้วย (Shopee ส่งค่าคอมมิชชันมายัง YouTube เป็นจำนวนเท่าไร ก็จะส่งต่อให้ครีเอเตอร์ตามจำนวนนั้น ๆ เลย)
การรุกตลาดอีคอมเมิร์ซของ YouTube ครั้งนี้ถือว่าเข้มข้น โดย YouTube เริ่มต้นให้บริการ YouTube Shopping ในสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกเมื่อปี 2023 ก่อนจะเปิดตัวบริการในเกาหลีใต้เมื่อต้นปี 2024 จนมาถึงการเปิดตัวในอินโดนีเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ และไทยคือประเทศล่าสุด
คุณมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย กล่าวถึงการเปิดตัว YouTube Shopping นี้ว่า มาจากผลการสำรวจของ Kantar ที่พบว่า 85% ของผู้ชมบน YouTube ให้ความเชื่อมั่นกับคอนเทนต์ของครีเอเตอร์บน YouTube
นอกจากนั้นยังพบว่า 87% ของผู้ชมบน YouTube มองว่า YouTube ช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้า และ 93% มองว่า ข้อมูลบน YouTube ช่วยให้พวกเขามั่นใจในสินค้าที่ซื้อมากขึ้น
เปิดโมเดล YouTube Shopping
ทั้งนี้ การเปิดตัว YouTube Shopping ในแต่ละประเทศจะเป็นการจับมือกับ Local Partners ในประเทศเหล่านั้น ซึ่งผู้บริหาร YouTube มองว่า เพื่อให้แต่ละแพลตฟอร์มสามารถรักษาจุดแข็งของตัวเองเอาไว้ได้ และ YouTube เองก็จะได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการให้บริการในประเทศไทย เป็นการจับมือกับแพลตฟอร์ม Shopee โดยครีเอเตอร์ที่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมแอฟฟิลิเอทได้นั้น ต้องเข้าร่วมในโปรแกรม Youtube Partner Program (YPP) แล้ว และมีผู้ติดตามช่องมากกว่า 10,000 คน
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ชม สามารถพบคอนเทนต์ที่มีการปักตะกร้าสินค้าได้ทั้งบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ททีวี (หากเป็นสมาร์ททีวี สามารถกดซื้อได้และระบบจะนำไปยังเบราเซอร์) แต่จะไม่เห็นคอนเทนต์การปักตะกร้าจากครีเอเตอร์ที่มาจากต่างประเทศ
ส่วนรายได้จากค่าคอมมิชชันที่จะได้รับนั้น ครีเอเตอร์บน YouTube จะได้รับจากแพลตฟอร์มภายใน 30 – 60 วัน ซึ่งในจุดนี้ คุณการัน อำบานี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า “Shopee จะมีการให้ค่าคอมมิชชันพื้นฐานสำหรับครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมโปรแกรม และนำสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโปรแกรมฯ ไปปักตะกร้าและขายสินค้านั้น ๆ ได้ โดยผู้ขายสามารถเพิ่มค่าคอมมิชชันเพิ่มเติมจากขั้นต่ำ 7% ไปจนถึงสูงสุด 80% หากเข้าร่วมโปรแกรม “Extra Comm” หรือ “ค่าคอมพิเศษ” ผู้สร้างคอนเทนต์จะได้รับค่าคอมมิชชันรวมทั้งสองส่วน (ในกรณีที่ผู้ขายเพิ่มค่าคอมมิชชัน)”
ส่วนครีเอเตอร์ที่เข้าร่วม YouTube Shopping Program จะสามารถเลือกหยิบสินค้าจากร้านค้าที่ตั้งค่าคอมพิเศษเอาไว้ สูงสุดถึง 80% ได้เช่นกัน
สำหรับประสบการณ์ในการรับชมคอนเทนต์แอฟฟิลิเอทนั้น ทาง YouTube ระบุว่า สามารถรับชมคอนเทนต์จากครีเอเตอร์ได้ทั้งแบบปกติ แบบ Short หรือการไลฟ์ โดยหากมีการแท็กสินค้าอยู่ภายในคลิปวิดีโอ จะมีปุ่มให้ผู้ชมคลิกไปยังสินค้าที่ต้องการได้ และจากนั้น ผู้ชมจะถูกพาออกไปนอก YouTube เพื่อเริ่มกระบวนการซื้อสินค้าต่อไป
ซึ่งการแท็กสินค้าในคลิปมีเงื่อนไขด้วยว่า ครีเอเตอร์จะต้องจับสินค้านั้น ๆ หรือนำมาวางโชว์ให้เห็นเด่นชัด แต่ถ้าเป็นแค่การพูดถึง (ไม่มีการนำเสนอโปรดักต์) อาจไม่เข้าข่าย และไม่สามารถเรียกว่าเป็นคลิปในโปรแกรมแอฟฟิลิเอทได้นั่นเอง
ทั้งนี้ รายได้จากโปรแกรมแอฟฟิลิเอต YouTube Shopping ถือเป็นรายได้ประเภทที่ 7 ที่ครีเอเตอร์สามารถทำได้บนแพลตฟอร์ม นอกเหนือจาก รายได้จากโฆษณา รายได้จาก YouTube Premium การเป็นสมาชิกของช่อง Super Thanks, Super Chat และ Super Stickers