ช่วงปี 2023 – 2024 อาจเป็นปีที่อีคอมเมิร์ซไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกช่วงหนึ่งเลยทีเดียว เห็นได้จากพฤติกรรมการช้อปปิ้งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่พร้อมจะมาอยู่หน้าประตูบ้านเราในพริบตา หรือการส่งสินค้าแบบ Next-Day ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความรวดเร็ว
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นผ่านเวทีสัมมนาของงาน DAAT Day 2024 ภายใต้หัวข้อ Unlocking E-commerce Growth : Trends and Strategic opportunities for 2025 โดยคุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ซึ่งเราขอรวบรวมความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นบทสรุป 9 ข้อดังนี้
คาดมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยแตะ 1.1 ล้านล้านบาทในปี 2025
จากรายงานของ e-Conomy SEA 2023 ซึ่งจัดทำโดย Google เทมาเส็ก และ Bain ใน 6 ประเทศหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ระบุว่า มูลค่าตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย
ส่วนในปี 2024 การคาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจากรายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า อาจมีมูลค่าทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 14% (YoY) และมีแนวโน้มจะพุ่งไปยังระดับ 1.6 ล้านล้านบาทในปี 2027 ด้วย ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“คูปอง-ส่งฟรี-COD” สามเหตุผลหลักคนไทยช้อปออนไลน์
ภายใต้การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ร้อนแรงอย่างมากนั้น รายงานของ Digital 2024 by We are Social & Melt Water พบว่ามี 3 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ผลักดันตลาดอยู่ นั่นคือ
- คูปองและส่วนลด 54%
- ส่งฟรี 51.8%
- การจ่ายเงินแบบ COD 40.4%
คุณธนาวัฒน์ ให้ความเห็นในจุดนี้ว่า ปีนี้เป็นปีที่ส่วนลดมาแรงมาก สะท้อนได้ว่า ปี 2024 เป็นปีที่ผู้บริโภคคนไทยเริ่มมองหาความคุ้มค่า-คุ้มราคามากขึ้น เห็นได้จากคูปองส่วนลด การจัดโปรโมชัน การจัดแคมเปญ PayDay ขยับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพว่า การขายของบนอีคอมเมิร์ซจะมาแรงเป็นช่วง ๆ
MarketPlace ยังเป็นช่องทางหลัก
สำหรับช่องทางของโลกอีคอมเมิร์ซในปี 2024 พบว่า ช่องทางหลักยังคงเป็น MarketPlace (55%) รองลงมาคือ Social Commerce 28% Quick Commerce 11% และ e-Tailers รวมถึง Brand.com อีก 6%
ส่วนในประเทศไทย บนเวทีสัมมนาได้มีการเปิดตัวเลขการสำรวจจาก Content Shifu ร่วมกับ YouGov เมื่อช่วงต้นปีนี้ที่พบว่า แพลตฟอร์มที่มาแรง 5 อันดับแรก ได้แก่ Shopee, Lazada, TikTok, Facebook และ LINE
แพลตฟอร์มมีจุดแข็งแตกต่างกัน เลือกให้ถูก
“จะเห็นว่ามาร์เก็ตเพลสแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดแข็งต่างกัน เช่น ลาซาด้า มีจุดแข็งที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนช้อปปี้ จะค่อนข้างกระจาย ทั้งแฟชั่น, Home&Living, Beauty ส่วน TikTok ที่ลีดการขายของด้วย Live จะเป็นกลุ่มสินค้าในหมวด Health, Beauty, อาหาร เป็นหลัก”
การเปิดเผยรูปแบบของสินค้าขายดีของแต่ละแพลตฟอร์มนั้น คุณธนาวัฒน์มองว่า ช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มที่จะเข้าไปขายได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
Temu แค่สร้างแรงกระเพื่อม?
เมื่อช่วงกลางปี สิ่งที่ทำให้หลายคนสนใจแวดวงอีคอมเมิร์ซคือการเปิดตัวของ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่จากจีน และ Temu ก็มีชื่อปรากฏในเวทีสัมมนา DAAT 2024 ครั้งนี้ด้วย ซึ่งในมุมของคุณธนาวัฒน์มองว่า การเปิดตัว Temu เป็นเพียงการสร้างแรงกระเพื่อมในวงการอีคอมเมิร์ซเท่านั้น (โมเดลธุรกิจของ Temu คือการทำงานร่วมกับโรงงาน และสั่งผลิตในจำนวนมาก เพื่อนำไปขายทั่วโลก และเป็นคนละโมเดลกับช้อปปี้ ลาซาด้า และ TikTok ที่วางตัวเองเป็นมาร์เก็ตเพลส ให้คนมาเปิดร้านขายของ)
“เราพบว่า ช้อปปี้และลาซาด้า เตรียมรับมือไว้แล้วด้วยการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Shopee Choice และ LazChoice หรือก็คือการไปดีลสินค้าจากโรงงาน ซึ่งกำลังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Unbranded หรือสินค้าไม่มีแบรนด์ สำหรับเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้สนใจเรื่องยี่ห้อ เพราะฉะนั้น Temu จะไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมเยอะได้มากกว่านี้ เพราะลาซาด้าและช้อปปี้ต่างสวนกลับไปได้”
ค่าธรรมเนียมแพงขึ้นต่อเนื่อง แนะแบรนด์สร้างช่องทางของตนเอง
สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องรับมืออีกข้อคือ ประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียมของแพลตฟอร์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส โดยคุณธนาวัฒน์ยกตัวอย่างค่า Take-Rate ที่แพลตฟอร์ม Shopee Mall เรียกเก็บจากผู้ประกอบการในมาเลเซียว่าสูงมาก ประมาณ 20%
“สมมติแบรนด์ขายของ 100 บาท จะต้องจ่ายเงิน 20 บาทให้กับแพลตฟอร์ม มาร์จินที่เหลืออยู่ จะเพียงพอเอาไปทำอะไรได้แค่ไหนกันเชียว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือออนไลน์รีเทล เริ่มให้ความสำคัญกับ ช่องทางการขายของตัวเอง เช่น 7-eleven เปิดสิ่งที่เรียกว่า All Online Affliate”
“ปี 2025 มองว่า คนที่ทำธุรกิจ จะค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และมีช่องทางของตัวเอง เช่น มีแอปของตัวเอง จะพยายามมุ่งการตลาดให้เข้าสู่แอปของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะทำ Affliate ในช่องทางของตัวเองแทน”
แพลตฟอร์มเดินเกม Affliate Marketing เปิดตัว Meta Shopping ปีหน้า
รูปแบบการจ่ายเงินให้กับอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2024 คืออีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง คุณธนาวัฒน์เผยอินไซต์ในจุดนี้ว่า จากที่เคยจ่ายเงินให้กับอินฟลูเอนเซอร์เป็นค่าจ้างตายตัว ปี 2024 การจ่ายค่าจ้างได้ปรับเป็นการจ่ายตามยอดขาย
“คนที่ติดตามอยู่จะเห็นว่า แพลตฟอร์มวิดีโอเริ่มปรับตัวตามทิศทางนี้ทันที เช่น YouTube จับมือ Shopee เปิดตัว YouTube Shopping หรือ Meta ที่จะเปิดตัว Meta Shopping ในปีหน้า คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันตลาดในปีหน้า ในการช่วยแบรนด์สร้างยอดขายได้เลยทีเดียว”
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการสำรวจของ Cube Asia x Impact.com ในผู้บริโภค 2,400 คน ยังพบด้วยว่า 83% ของผู้บริโภคไทย เลือกซื้อสินค้าตามที่อินฟลูเอนเซอร์แนะนำ โดยสินค้าหมวดความงามและแฟชั่นเป็นหมวดที่อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลสูงสุด
Live ฟีเจอร์ยอดฮิต ดันแบรนด์ไลฟ์เพิ่ม
“เราคาดการณ์ว่า ปีหน้า แพลตฟอร์มจะผลักดันให้แบรนด์มาลงทุนทำไลฟ์ ยิ่งแบรนด์ทำไลฟ์เยอะได้ตาม KPI แพลตฟอร์มก็จะยิ่งส่ง ทราฟฟิกไปยังผู้ชมมากขึ้น” คุณธนาวัฒน์กล่าว
ส่งไวราวปิศาจคือ New Normal ของ 2025
หนึ่งในการคาดการณ์ของตลาดอีคอมเมิร์ซปีหน้าก็คือการจัดส่งสินค้าแบบรวดเร็วทันใจ โดยคุณธนาวัฒน์กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วว่า “ปีนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ พยายามผลักดันให้ร้านค้าส่งของเร็วขึ้น ถ้าร้านค้าทำได้ แพลตฟอร์มจะยิ่งชวนให้ร้านเข้าร่วมแคมเปญต่าง ๆ มากขึ้นไปด้วย”
“สิ่งที่เราเห็นอีกข้อคือ ช้อปปี้เริ่มนำไรเดอร์ส่งอาหารมาจัดส่งสินค้า ลาซาด้าก็มาเล่นแบบเดียวกัน ถือได้ว่า ผู้บริโภคไทยกำลังปรับตัวไปสู่ New Normal ใหม่ และรูปแบบที่เกิดขึ้นนั้น ก็ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หรือจีนมาแล้ว”
จะเห็นได้ว่า การปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคคือสิ่งที่ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงน่าตื่นเต้น และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตามกระแสเท่านั้น แต่คือการสร้างอนาคตของการค้าขายในประเทศไทยที่น่าจับตามองอย่างแท้จริง และที่น่าสนใจก็คือ การทิ้งท้ายของคุณธนาวัฒน์ที่บอกว่า ธุรกิจที่ทำ Next Day Delivery ไม่ได้ในปีหน้า อาจเป็นธุรกิจที่แข่งขันได้ยากขึ้นก็เป็นได้