HomeFinancialttb มอง Virtual Bank ไม่กระทบแบงก์ดั้งเดิม ดึง AI พัฒนาช่องทางดิจิทัล ลุยจับมือพันธมิตร สร้างประสบการณ์-บริการใหม่มัดใจลูกค้า

ttb มอง Virtual Bank ไม่กระทบแบงก์ดั้งเดิม ดึง AI พัฒนาช่องทางดิจิทัล ลุยจับมือพันธมิตร สร้างประสบการณ์-บริการใหม่มัดใจลูกค้า

แชร์ :

แม้ว่าตอนนี้ “Virtual Bank” หรือ “ธนาคารไร้สาขา” ของไทยจะยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม และอาจจะต้องใช้เวลากว่า 1 ปีทีเดียว แต่ในช่วง 1-2 ปีมานี้ก็ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องว่าการมาของ Virtual Bank จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงการเงินไทยหรือไม่ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม รวมถึงพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในธนาคารชั้นนำของไทยอย่าง “ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต จำกัด (มหาชน)” หรือ “ttb” ได้ให้มุมมองเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ พร้อมกลยุทธ์การทำตลาดนับจากนี้ของ ttb ที่ตั้งเป้าให้แบรนด์เติบโตและก้าวสู่การเป็นธนาคารผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ท่ามกลางผู้เล่นรายใหม่ที่กำลังเข้ามามากขึ้น

เชื่อ Virtual Bank ทำตลาดแบงก์แข่งแรง แต่ไม่กระทบแบงก์ดั้งเดิม

แม้การมาของ Virtual Bank จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ด้วยจุดเด่นการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ทั้งยังใช้คนน้อยกว่า จึงทำให้ต้นทุนการดำเนินงานอาจถูกลง และสามารถให้บริการทางเงินรูปแบบใหม่ๆ ได้มากขึ้น แต่ “คุณฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต มองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบแรงกับธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม เพราะหากดูจากการเปิดให้บริการ Virtual Bank ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ ยุโรป และอเมริกา จำนวนของ Virtual Bank อาจจะมาก แต่อัตราการ “อยู่รอด” ก็ “น้อย” เช่นกัน

เนื่องจากต้องมีความพิเศษ หรือมีองค์ประกอบอื่นด้วย ถ้าเป็นแบงก์และให้บริการธุรกรรมทางการเงินอย่างเดียว โดยให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างจากธนาคารที่มีอยู่ในตลาด ยกตัวอย่าง Kakao Bank จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นธนาคารไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จมาก โดยมีผู้ใช้งานถึง 1 ล้านบัญชี หลังจากเปิดให้บริการแค่สัปดาห์แรก ซึ่งความสำเร็จของ Kakao นั้นเกิดจากการเชื่อมบริการชำระเงินเข้ากับแอปแชต เพราะก่อนหน้านี้ Kakao เป็นผู้บริการแอปพลิเคชั่นแชต “Kakao Talk” มาก่อน และมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก เมื่อมาทำแบงก์ จึงเชื่อมบริการที่มีเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ทางการเงินที่สนุกและใช้งานได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งเป้าหมายของผู้ให้บริการ Virtual Bank ส่วนใหญ่ต้องการให้บริการสินเชื่อ ซึ่งตอนนี้หนี้ครัวเรือนสูงมาก อีกทั้งกฎระเบียบเข้มข้นขึ้น ก็อาจจะทำให้ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานลูกค้า แต่ถึงกระนั้น คุณฐากรมองว่า น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ตื่นตัวกันมากขึ้น และที่จะได้เห็นแน่ๆ คือ การแข่งขันจะ “รุนแรง” มากขึ้น จากการมีผู้เล่นเข้ามาเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ภาพรวมสินเชื่อชะลอตัว โดยคาดว่าสินเชื่อทั้งปี 2567 น่าจะทรงตัวหรือติดลบเล็กน้อย แต่บางผลิตภัณฑ์อย่างสินเชื่อรถยนต์อาจจะติดลบประมาณ 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สินเชื่อบ้านอาจจะลดลงประมาณ 7-8% ก็ยิ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวกันมากขึ้น

“เมื่อเทียบกับช่วงโควิด สถานการณ์ต่างกัน ตอนโควิดสินเชื่อลดลง แต่พอผ่านไป ทุกอย่างก็กลับมา แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของการซึมของเศรษฐกิจ เราเห็นสัญญาณมาสักพักหนึ่งแล้ว บวกกับศักยภาพของลูกค้าก็ลดลงจากรายได้ที่น้อยลง ทำให้ยอดสินเชื่อใหม่น้อยลง แต่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงน่าจะช่วยกระตุ้นสินเชื่อขึ้นมาได้”

ดึง AI สร้างประสบการณ์ใหม่-จับมือพันธมิตรสร้างบริการที่แตกต่าง

แม้มองว่าการมาของ Virtual Bank จะกระทบไม่แรง แต่ คุณฐากร บอกว่า ttb ก็ไม่ประมาท ผยวกกับความท้าทายหลายอย่างที่ต้องเจอ ทำให้ ttb ต้องเตรียมพร้อมในทุกมิติเพื่อรับมือให้เท่าทัน โดยทิศทางจากนี้จะพยายามนำ “จุดแข็ง” ที่มีมาต่อยอดสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในช่องทางดิจิทัลแบงก์กิ้งให้ดียิ่งขึ้น เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุน และทำให้ธุรกิจแข่งขันกับ Virtual Bank ได้ โดยได้นำดาต้า และ AI มาสร้างประสบการณ์ในการให้บริการที่แตกต่างกับลูกค้ามากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความแจ้งเตือน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่าน Personalized Message บนแอป ttb touch กว่า 4 ล้านราย ผ่าน 18 ล้านข้อความต่อวัน ผลที่เกิดขึ้นคือ ช่วยดึงลูกค้าอยู่กับแบรนด์นานขึ้น และช่วยขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นถึง 2 เท่า ทั้งยังทำให้พนักงานในสาขามีเวลาในการให้คำแนะนำและบริการกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งสเตปต่อไปมีแผนจะนำ Generative AI มาต่อยอดการให้บริการแชตบนโมบาย แบงก์กิ้งได้แบบเรียลไทม์ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่ร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น โดยต้นปี 2568 จะได้เห็นความร่วมมือกับคอนซูเมอร์โปรดักต์ระดับโกลบอลแบรนด์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาทำตลาด ซึ่งจะเป็นการนำจุดแข็งของแต่ละแบรนด์มาสร้างสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่กับลูกค้าได้มากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการ พร้อมทั้งทำให้ธนาคารยังคงอยู่ในใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

“เครื่องมือทางการตลาดเป็นสิ่งที่ Copy กันไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือ การมีดาต้าที่สะสมมายาวนาน ทำให้เราเข้าใจลูกค้า และสามารถต่อยอดการให้บริการที่ตรงใจลูกค้า” คุณฐากร ย้ำถึงความได้เปรียบของแบงก์ดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นแต้มต่อในการทำตลาดต่อไป

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like