ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เผยรายงาน ACSS 2024 ระบุปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้คนไทยรัดเข็มขัด ช้อปสินค้าหรูน้อยลง ใช้จ่ายกับสิ่งของจำเป็นมากขึ้น แต่ยังเดินทางท่องเที่ยว ยอมจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ และมุ่งสร้างสมดุล “ออม VS ลงทุน”
แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคที่ Boston Consulting Group (BCG) ที่วิเคราะห์ถึงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังเข้มแข็ง โดยยังเติบโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 5.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวที่ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวในปีนี้ถึง 28 ล้านคน อาหารในฐานะครัวโลก และเฮลธ์แคร์ ที่คาดว่าจะเติบโต 23%, 3.7% ตามลำดับ แต่เมื่อมองถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังคงสูงถึง 90.8% ทำให้กำลังซื้อคนไทยไม่ดีนัก แม้จะภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อช่วยพยุงกำลังซื้อ ทั้งจากเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2.37 % และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้และมีสภาพคล่องยามฉุกเฉิน
ขณะที่ ผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study: ACSS)[1] ประจำปี 2024 ซึ่งธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ศึกษาร่วมกับ BCG เกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึก เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้นั้นระบุว่า คนไทยยังกังวลกับอัตราเงินเฟ้อ 64% ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 60% และการออม 58% และครึ่งหนึ่งยอมลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะที่ 45% หารายได้เสริม 44% มองหาดีลและส่วนลดในการช้อปปิงChaos Society Trends สังคมไทย สังคมสองขั้ว
ACSS 2024 ชี้เทรนด์ที่น่าสนใจ โดยมี Insight Trends ที่สำคัญ คือ
1. ลดการช้อปแบรนด์เนม แต่ยอมซื้อประสบการณ์
คนไทย 42%ใช้จ่ายกับสิ่งของจำเป็นมากขึ้น โดยการซื้อสินค้าแบรนด์เนมลดลง (9%) หมวดไอที Gadget จิวเวลรี่ (5%) แต่หมวดที่ลดลงน้อยมากคือ หมวดบิวตี้ (2%) ขณะที่เทรนด์ใช้จ่ายของ Gen Z (56%) และ Gen Y (45%) โฟกัสกับการซื้อประสบการณ์และสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การเดินทาง รับประทานร้านอาหารรสเลิศ คอนเสิร์ต อีเว้นท์ งานเทศกาล
ขณะที่ข้อมูลจาก วีซ่า ประเทศไทย ก็สอดคล้องกันโดยระบุว่า ผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบีวีซ่าซื้อประสบการณ์เพิ่มขึ้นเกือบ 3% โดยเฉพาะหมวดของการรับประทานอาหาร รองลงมาคือการเดินทาง และกลุ่มเอนเตอร์เทนเม้นท์ เช่น คอนเสิร์ตและงานเทศกาล ซึ่งเติบโตสูงสุดที่ 57%[2]
2. ใช้จ่ายระมัดระวัง แต่ยังเดินทางท่องเที่ยว
แม้คนไทยจะระมัดระวังกับการใช้จ่าย กว่า 58% ยังคงใช้จ่ายกับการเดินทางต่างประเทศในปีที่ผ่านมา โดยมี Destination ที่มาแรงในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และ Destination อื่นๆ ทั่วโลกได้แก่ ญี่ปุ่น จีน (รวมฮ่องกง) ฝรั่งเศส ผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบการใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศเป็นรายปีของผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบี วีซ่า (ระหว่าง 1 ก.ค. 66 – 30 มิ.ย. 67) โดยเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ถึง 48% การเดินทางเพื่อธุรกิจ 29%
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่เทรนด์ของการซื้อประสบการณ์และการเดินทางท่องเที่ยวยังคงไม่หลุดกระแส เนื่องจากอิทธิพลของการแชร์ภาพและโพสต์ในโซชียลมีเดีย ซึ่งคนไทยใช้เวลาบนออนไลน์มากถึง 9.2 ชั่วโมง/วัน3. ให้ความสำคัญกับรถ ไม่แพ้การดูแลสุขภาพ
แม้คนไทยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่รายการใช้จ่ายที่น่าสังเกต คือ ยอดใช้จ่ายของประกันรถยนต์ (56%) เป็นอันดับ 2 รองจากการใช้จ่ายผ่านประกันชีวิตที่เป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 63% ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่น่าสนใจว่า การปกป้องรถยนต์ยังคงได้รับความสำคัญไม่แพ้การดูแลสุขภาพ โดยยอดใช้จ่ายประกันรถยนต์ยังคงสูงกว่าการทำประกันสุขภาพในภาพรวม ที่มีการใช้จ่ายผ่านประกันสุขภาพ 55% และประกันโรคร้ายแรง 32%4. New Gen เน้นออม – ลงทุน
แม้สถานการณ์ที่คนไทยต้องรัดเข็มขัด แต่คนไทยยังมีเงินสำรองฉุกเฉินที่รองรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือนถึง 57% หรือเป็นสัดส่วน 6 ใน 10 คน และทุกกลุ่มอายุเก็บเงินผ่านการออมถึง 73% แต่ที่น่าสังเกต คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่เก็บเงินผ่านการออม โดยเฉพาะ Gen Z สูงถึง 83% Gen Y 75%
ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ยังเปิดเผยว่า บัญชีเงินฝากของ Gen Z เพิ่มขึ้น 52% ขณะที่จำนวนบัญชีเงินฝากของ Gen Y เพิ่มขึ้น 27% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
แต่การที่คนไทยรัดเข็มขัดไม่ได้แปลว่า คนไทยเก็บเงินโดยไม่ได้ทำอะไรให้งอกเงย ในมุมของคนรุ่นใหม่แล้วโฟกัสกับการรักษาความมั่งคั่งด้วยการลงทุนตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 10% ผ่านการซื้อหุ้น (55%) สกุลเงินต่างประเทศ (45%) กองทุนรวม (42%) เนื่องจากปัจจุบันการเปิดพอร์ตหรือการลงทุนในต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน และการลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 14% โดยเทรนด์ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นนักลงทุน Gen Z ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 129% ขณะที่นักลงทุน Gen Y มีจำนวนเพิ่มขึ้น 23%
[1] การสำรวจแบ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็น Gen Z (วัย 18 – 25 ปี), Gen Y (วัย 26 – 41 ปี), Gen X (วัย 42 – 57 ปี) และ Baby Boomers (วัย 58 – 65 ปี) โดยรวบรวมข้อมูลในช่วงพ.ค. – มิ.ย. 2657
[2] เปรียบเทียบช่วงก.ค. 2565 – 30 มิ.ย. 2566 กับช่วงก.ค. 2566 – มิ.ย. 2567