HomeCSRเด็กไทยพัฒนาเครื่องนับทุเรียนจากต้นด้วย AI แม่นยำกว่าสายตามนุษย์ 91%

เด็กไทยพัฒนาเครื่องนับทุเรียนจากต้นด้วย AI แม่นยำกว่าสายตามนุษย์ 91%

ลดเสี่ยงล้งประเมินผิดพลาด - บาดเจ็บจากการตกต้นทุเรียน

แชร์ :

นอกจากภาคตะวันออกของไทยแล้ว ในภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฏร์ธานีก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนกันอย่างกว้างขวาง แต่โอกาสทำเงินจากสวนทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดดังกล่าวอาจไม่สูงมากนัก โดยส่วนหนึ่งมาจากการนับจำนวนลูกทุเรียนด้วยสายตามนุษย์ ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง และนั่นทำให้สองนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี นำ AI มาช่วยนับจำนวนและวัดขนาดทุเรียนแทน ซึ่งพบว่าผลที่ได้มีความแม่นยำกว่า 91%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“ทุกวันนี้ในการขายทุเรียน จะต้องมีการนับลูกและวัดไซส์ทุเรียนก่อน ซึ่งที่ผ่านมา การประเมินขนาดทุเรียน – นับจำนวนลูกนั้น ทำโดยใช้สายตามนุษย์ (ตัวแทนพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาตีราคา) ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย” คุณนิติพร ฟูวังหม้อ และคุณศิขริน สุขเขียด สองพี่น้อง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี เจ้าของผลงานเครื่องนับจำนวนและแยกไซส์ทุเรียนบนต้นด้วย AI ในการประกวด Ford Innovator Scholarship 2024 กล่าว

“หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนนั้นมีรายได้เยอะ แต่ค่าใช้จ่ายเบื้องหลังก็เยอะมาก ๆ เช่นกัน ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา เราก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่ถูกเอาเปรียบ จากล้งที่มารับซื้อ และคิดค้นนวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยนับจำนวนทุเรียน และแยกไซส์ทุเรียนให้ได้เลย”

ใช้ AI เพิ่มความแม่นยำ – ลดความเสี่ยง

คุณนิติพร ฟูวังหม้อ และคุณศิขริน สุขเขียด ผู้พัฒนาเครื่องนับจำนวนทุเรียนด้วย AI

“การทำงานของตัวระบบคือนำอุปกรณ์ไปตั้งไว้ที่พื้นดินตรงบริเวณต้นทุเรียนเพื่อให้มันถ่ายภาพต้นทุเรียนในหลาย ๆ มุม จากนั้น AI จะวิเคราะห์ว่า บนต้นทุเรียนมีทุเรียนกี่ผล และมีขนาดใดบ้าง”

คุณนิติกรเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า การประเมินราคา – ขนาดทุเรียนด้วยสายตามนุษย์นั้น อาจแม่นยำเพียง 70% เมื่อเทียบกับการใช้ AI ซึ่งทำให้ล้งที่มาตีราคาอาจประเมินราคาของทุเรียนต้นนั้น ๆ ผิดไป (เช่น จากที่ควรจะได้รับ 2 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท เป็นต้น)

นอกจากนั้น ด้วยต้นทุเรียนนั้นสูงมาก การที่คนต้องปีนขึ้นไปเพื่อนับจำนวนทุเรียนยังเสี่ยงต่อการตกลงมาแล้วบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตอีกด้วย ซึ่งเมื่อนำ AI มาใช้นับจำนวนแทน ความเสี่ยงตรงจุดนี้ก็หมดไป

ด้านคุณศิขริน สุขเขียด อีกหนึ่งทีมงานยังได้กล่าวถึงต้นทุนในการพัฒนาตัวอุปกรณ์ โดยระบุว่าอยู่ในหลักหมื่นบาท แต่สามารถรักษาผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ไม่ให้ถูกผู้รับซื้อกดราคาได้เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ทางทีมงานไม่เพียงใช้ AI กับสวนทุเรียนของตัวเอง แต่ยังได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปให้เกษตรกรในสวนใกล้เคียงทดลองใช้ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อดีสำหรับเกษตรกรที่มีสวนขนาดเล็ก การมีอุปกรณ์ตัวนี้ช่วยให้การนับผลทุเรียนทำได้ด้วยตัวเอง แทนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานมานับ และผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 จากเวที  Ford Innovator Scholarship 2024 ด้วย โดยผู้พัฒนาทั้งสองคนมองว่าจะนำอุปกรณ์ไปพัฒนาต่อ และอาจสร้างเป็นธุรกิจเครื่องนับจำนวนทุเรียนสำหรับเกษตรกรไทยต่อไป

 


แชร์ :

You may also like