สังคมญี่ปุ่นกำลังเหงาและโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมของญี่ปุ่น หรือ IPSS ระบุว่า ในปี 2050 ประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ราว 20% จะอาศัยอยู่ตัวคนเดียว โดย “กรุงโตเกียว” อาจเป็นเมืองมีคนที่อาศัยอยู่ตามลำพังมากถึง 54% เลยทีเดียว
สำหรับปรากฏการณ์นี้ IPSS ระบุว่า สามารถเกิดได้ทั้งในเขตเมืองใหญ่และพื้นที่ชนบท โดยมาจากปัจจัยที่ต่างกัน เช่น ในเขตเมืองใหญ่ มาจากการที่ผู้คนแต่งงานกันน้อยลง ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ชนบท มักจะเป็นคู่สามีภรรยาสูงอายุอาศัยกันตามลำพัง และเมื่อคู่ชีวิตตายจากไป ก็จะทำให้ผู้สูงอายุอีกรายต้องอยู่ตามลำพังในบ้าน
ทั้งนี้ IPSS คาดการณ์ด้วยว่า ครัวเรือนในญี่ปุ่นที่มีคุณตาคุณยายอายุ 75 ปีขึ้นไปนั้น จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายไปในทุกจังหวัดภายในปี 2050 โดยมี 4 จังหวัดที่อาจมีตัวเลขสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ เป็นสองเท่า นั่นคือ โอกินาว่า ชิกะ ไซตามะ และอิบารากิ
นอกจากนั้น ผลการวิจัยนี้ยังชี้ว่า ขนาดครัวเรือนโดยเฉลี่ยก็จะลดลงเช่นกัน โดยปี 2040 คาดการณ์ว่า จำนวนของสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยจะลดลงต่ำกว่า 2 คน และภายในปี 2050 คาดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นใน 34 จังหวัด โดยกรุงโตเกียว และฮอกไกโด จะเป็นสองเมืองที่มีครัวเรือนขนาดเล็กที่สุด (มีประชากรเฉลี่ย 1.78 คน) ส่วนจังหวัดยามากาตะจะมีขนาดครัวเรือนใหญ่ที่สุด (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.15 คน)
ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่อยู่คนเดียวจะเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด และภายในปี 2050 สัดส่วนดังกล่าวจะสูงเกิน 40% ใน 27 จังหวัดเลยทีเดียว โดยในโตเกียว คาดว่าจะมีคนอยู่คนเดียว คิดเป็น 54% ของทั้งหมด (ไม่แต่งงาน ไม่มีบุตร หรือเป็นหม้าย)
ความเสี่ยงที่จะตามมาจากการมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังก็คือ ปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ปัญหาความยากจน การแยกตัว-โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลในการรับมืออย่างมาก