HomeBrand Move !!เปิดเบื้องหลังยอดขาย 3.1 ล้านล้านเยนของ “ยานแม่ Uniqlo” เดินหน้า “โมเดลธุรกิจไร้ขยะ” ใช้วัตถุดิบรีไซเคิลเพิ่ม

เปิดเบื้องหลังยอดขาย 3.1 ล้านล้านเยนของ “ยานแม่ Uniqlo” เดินหน้า “โมเดลธุรกิจไร้ขยะ” ใช้วัตถุดิบรีไซเคิลเพิ่ม

แชร์ :

คุณโคจิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) บริษัทแม่ของยูนิโคล่ โชว์ความสำเร็จด้านความยั่งยืน พบตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 69.4% พร้อมดึงอัลกอริธึมเข้ามาช่วยบริหารซัพพลายเชนและการผลิตสินค้าทำให้รับมือความท้าทาย Climate Change และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ในเวลาที่ “สั้นลง”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การแถลงข่าวดังกล่าวมีขึ้นโดยคุณโคจิ ยาไน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ที่ออกมาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของลูกค้าผ่านกว่า 30 ล้านข้อคิดเห็นจากทั่วโลกต่อปี ทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อความต้องการตลอดจนไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม

จากข้อมูลดังกล่าว ฟาสต์ รีเทลลิ่งสามารถนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิต ขนส่งและจัดจำหน่าย “เฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ พร้อมส่งมอบ ณ เวลาที่พวกลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง” และถือเป็นกระบวนการทางธุรกิจที่ช่วยป้องกันการก่อขยะที่ไม่จำเป็นได้อีกทางหนึ่งเลยทีเดียว

เปิดความสามารถแพลตฟอร์ม Management Cockpit

หนึ่งในสิ่งที่ฟาสต์ รีเทลลิ่ง พัฒนาก็คือ แพลทฟอร์ม “Management Cockpit” (เริ่มปี 2566) สำหรับช่วยบูรณาการข้อมูลจากลูกค้า และนำเสนอเป็นภาพที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของบริษัทฯ แบบเรียลไทม์ ทำให้บริษัทสามารถปรับตัวและตอบสนองได้รวดเร็วมากขึ้น

โดยทางบริษัทระบุว่า ความคิดเห็นจากลูกค้าช่วยให้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ผ้าถักแบบใหม่ “Souffle Yarn Knit” ที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ แล้ว รวมถึงเสื้อชั้นในที่ปรับให้ใช้งานได้ดีขึ้น และกางเกงผ้าถักลายนูนที่ซักได้ หรือ PUFFTECH ฯลฯ

ผลิตสินค้ารับมือ Climate Change

อีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจจากการเปิดเผยของคุณโคจิ ยาไนก็คือ ประเด็นเรื่อง Climate Change ที่บริษัทพบว่า ฤดูร้อนมีระยะเวลายาวนานขึ้น และฤดูหนาวมีอุณหภูมิสูงขึ้น

โดยเขาเผยว่า ฟาสต์ รีเทลลิ่งได้เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าตามฤดูกาล มาเป็นการขยายหมวดผลิตภัณฑ์หลักที่เหมาะสมสำหรับใช้งานตลอดปีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแทน

ทั้งนี้ จำนวนผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายได้ทั่วโลกของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ปัจจุบันมีมากกว่า 50 แบบแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 หรือปีที่โครงการอาริอาเกะเปิดตัวมากถึง 3 เท่า

แนวคิดดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถลดการผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นได้ ตลอดจนค่อย ๆ พัฒนาการดำเนินธุรกิจแบบที่เน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดได้ด้วย

ดึงอัลกอริธึมช่วยคาดการณ์สต็อกสินค้า

คุณโคจิ ยาไน ยังเผยด้วยว่า ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีการนำระบบคาดการณ์ความต้องการของลูกค้ามาใช้ ทำให้สามารถวางแผนการผลิตและจัดจำหน่ายได้แม่นยำขึ้น โดยระบบใหม่เน้นการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายผลิตเพื่อให้ปรับแผนผลิตได้ตามความต้องการแบบรายสัปดาห์

ด้วยระบบใหม่ แม้การแจ้งล่วงหน้าจะเกิดขึ้นในเวลาที่สั้นลง แต่ก็สามารถทำให้โรงงานต่าง ๆ รองรับการผลิตได้ เช่นเดียวกับด้านโลจิสติกส์ที่มีการจับมือกับพันธมิตรด้านการขนส่งทำให้การจัดส่งไวขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นแม้เวลาที่ได้รับแจ้งล่วงหน้าจะสั้นลงก็ตาม

ใช้วัสดุรีไซเคิลผลิตสินค้าเพิ่มเป็น 18.2%

ในแง่ของความยั่งยืน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เผยว่ามีความคืบหน้าในหลายด้าน ดังนี้

    • ปีงบประมาณ 2566 บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 69.4% ในส่วนที่ตนเองควบคุมได้โดยตรง (ร้านค้าหรือสำนักงาน) เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562
    • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานลดลง 10% ณ ปีงบประมาณ 2566 จากการเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงาน และการขยายการใช้งานวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
    • การใช้วัตถุดิบที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ อาทิ วัสดุรีไซเคิล เพิ่มขึ้นเป็น 18.2% สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในปี 2567
    • ร้านค้าประเภท RE. UNIQLO STUDIO ที่เปิดตัวในปี 2565 ได้ขยายการให้บริการแล้ว 51 แห่งใน 22 ประเทศทั่วโลก และบริษัทตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ได้ 60 สาขาภายในเดือนธันวาคมนี้
    • มีการทดลองขายเสื้อผ้ามือสองเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2566 ประกอบด้วยร้านค้า 3 แห่งได้แก่ UNIQLO Maebashi Minami IC, UNIQLO Setagaya Chitosedai และ UNIQLO Tenjin
    • เครื่องแบบทางการของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งชาติสวีเดนเป็นเสื้อผ้าชุดแรกที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ยูนิโคล่จัดเก็บเอง

ทั้งนี้ ยูนิโคล่เป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่ง ทั้ง 8 แบรนด์ ซึ่งแบรนด์ที่เหลือได้แก่ GU, Theory, PLST (Plus T), Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam, J Brand และ Helmut Lang

บริษัทฯ มียอดจำหน่ายทั่วโลกประมาณ 3.1 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2024 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2024 ส่วนยูนิโคล่ พบว่า มีจำนวนร้านสาขากว่า 2,500 แห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศญี่ปุ่น ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ โดยจำนวนรวมของร้านสาขาในกลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่งอยู่ที่ราว 3,600 ร้านทั่วโลกเลยทีเดียว


แชร์ :

You may also like