Google เปิดผลลัพธ์ฟีเจอร์บล็อกการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงใหม่บน Google Play Protect พบสามารถสกัดการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการที่ทำร่วมกับการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และได้เริ่มนำร่องการใช้งานในประเทศไทยไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟีเจอร์ดังกล่าวได้ช่วยสกัดความพยายามในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง สามารถบล็อกแอปกว่า 41,000 รายการ ซึ่งรวมถึงแอปปลอมที่แอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซยอดนิยมด้วย
สำหรับการทำงานของฟีเจอร์ใหม่ใน Google Play Protect จะเริ่มเมื่อพบว่าผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์) ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน
โดย Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ และจะตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ซึ่งได้แก่
- การรับ SMS (RECEIVE_SMS)
- การอ่าน SMS (READ_SMS)
- การฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications)
- การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility)
เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time Password หรือ OTP) ที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และมีการขอใช้สิทธิ์เหล่านี้
คุณแจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เผยว่า ความมุ่งมั่นในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่มีความมั่นใจว่าตนเองนั้นสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้
พร้อมกันนั้นยังระบุด้วยว่า ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีรักษาความปลอดภัยได้ที่ https://safety.google