มาร์เก็ตบัซซ เผยเทรนด์ Vending Machine กำลังเติบโต ผู้บริโภคคนไทย 58% มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยพื้นที่อย่างห้างสรรพสินค้ากลายเป็นทำเลทองของการติดตั้ง พบมีผู้ใช้บริการตู้ Vending Machine ถึง 44% ตามด้วยอาคารสำนักงาน 36% ส่วนในด้านความกังวลพบ คนไทย 49% “กลัวตู้กินเงิน”
เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็วในการซื้อสินค้า กับการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ Vending Machine ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจล่าสุดของมาร์เก็ตบัซซ บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ตลาดพบว่า การใช้งานตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย (เป็นการสำรวจความคิดเห็นจากคนไทยทั่วประเทศจำนวน 977 คน ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2567) โดยจากการสำรวจพบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยซื้อสินค้าจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และ 28% มีการซื้อทุกสัปดาห์ และ 13% ซื้อทุกวัน
เครื่องดื่มครองส่วนแบ่ง 92% ชา-กาแฟ ขายดีช่วงเช้า
ผลการสำรวจยังเผยถึงรูปแบบการใช้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติตามประเภทของสินค้าที่ซื้อ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ได้แก่
- สินค้าประเภทเครื่องดื่ม (92%)
- อาหาร/และขนมขบเคี้ยว (34%)
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม (26%)
ขณะที่สินค้าประเภทชา/กาแฟพร้อมดื่ม กาแฟ/ชาชงสด นมและผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ และเครื่องดื่มชูกำลัง จะได้รับความนิยมสูงในช่วงเช้า ส่วนกาแฟ/ชาชงสด น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และน้ำเปล่ารวมถึงน้ำแร่ และเครื่องดื่มใกล้เคียง จะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงกลางวัน โดยในช่วงหัวค่ำและเวลากลางคืน จะเป็นช่วงที่มีการซื้อสินค้าจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติค่อนข้างน้อย โดยสินค้าที่ซื้อจะเป็นกลุ่มของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
คุณแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) ตั้งข้อสังเกตว่า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติสามารถตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจนในแง่ของความสะดวกสบายและช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้บริโภคชาวไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ผลจากการสำรวจพบว่าเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ได้แก่
- ความสะดวกสบาย (72%)
- ประหยัดเวลา (50%)
- มีสินค้าพร้อมจำหน่าย (43%)
- การมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย (27%)
เปิดความกังวลคนไทย 49% กลัวตู้กินเงิน
อย่างไรก็ดี ในการใช้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สิ่งที่แตกต่างจากการซื้อสินค้าปกติก็คือ การไม่มี “พนักงานมนุษย์” ให้ติดต่อสอบถามกรณีเกิดปัญหา และการสำรวจนี้ก็พบความท้าทายดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 49% ยอมรับว่า กังวลว่าตู้จะกินเงิน
นอกจากนั้น 46% กังวลว่า จะเกิดปัญหาในระหว่างชำระเงิน และ 37% กังวลว่าสินค้าจะใกล้วันหมดอายุ
คุณบาร์โทลี่ กล่าวเสริมว่า “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยมีการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยมีตัวเลือกในการชำระเงินที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการแสกน QR Code, การชำระเงินด้วย E-wallet และบัตรเครดิต ที่มีให้เลือกเพิ่มเติมจากการชำระเป็นเงินสด
ในขณะที่ คนไทยส่วนใหญ่ (58%) มีแนวโน้มว่าจะใช้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่าการเติบโตต่อไปนั้นอาจจะเจออุปสรรคหลายประการ ได้แก่ สถานที่ตั้งของเครื่องไม่ตรงกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า ความชอบในการซื้อสินค้าที่มีหน้าร้านจริง และตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีจำกัดก็ตาม
ทั้งนี้ คุณแกรนท์ บาร์โทลี่ มองว่า ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่ผู้ให้บริการจะต้องจัดการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งของตู้ ความหลากหลายของสินค้า และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการชำระเงินและอายุของสินค้าที่นำมาวางจำหน่าย และหากผู้ให้บริการสามารถปรับเปลี่ยนทางเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากศักยภาพของธุรกิจนี้
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
เป็นเพื่อนกับเราได้ที่ LINE