“ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป” (CJ Express Group) เป็นเชนร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ CJ ที่อยู่ภายใต้อาณาจักรคาราบาว กรุ๊ป ที่เข้ามาบุกตลาดค้าปลีกเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ซึ่งหากเทียบอายุกับผู้เล่นค้าปลีกที่อยู่ในตลาดนี้ ก็ยังถือเป็นน้องใหม่ นับตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจรีเทล จึงเจอบททดสอบหลายอย่าง แต่ ซีเจฯ ก็สามารถเข้ามาช่วงชิงตลาดจากผู้เล่นรายเดิมได้ แถมยังสร้างการเติบโตต่อเนื่องทั้ง “รายได้” และ “กำไร” โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี
โดยในปี 2567 มียอดขาย 53,000 ล้านบาท กำไร 3,700 ล้านบาท ซีเจฯ ทำได้อย่างไร? นี่คือ วิธีคิดบางส่วนในการสร้างธุรกิจร้านสะดวกซื้อให้เติบโตจาก “คุณวีรธรรม เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ในงานสัมมนา “Thailand Marketing Day 2025” ในหัวข้อ “ยุทธวิธีกู้วิกฤต: ปรับทัพ Retail สู้ศึกตัดราคายุค Online-Offline Blur” พร้อมทิศทางการเติบโตในอนาคตของ ซีเจฯ
รุกสินค้ามาร์จิ้นสูง ตลาดต้องการ
“ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ” เป็นหนึ่งในเซกเมนต์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน และเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่เติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ทำให้มีผู้เล่นจำนวนมาก คุณวีรธรรม บอกว่า ตอนนั้นมีเกือบ 10 ราย ตั้งแต่ 7-Eleven, แฟมิลี่มาร์ท, 108 Shop, Top Supermarket, โลตัส, บิ๊กซี, คาร์ฟูร์ และ AEON
“10 ปีที่แล้วตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่ CJ ตอนนั้นเรามียอดขายประมาณ 7,000 ล้านบาท พอผ่านครึ่งปีแรก คุณพ่อก็เรียกไปบอกว่าปีนี้เราน่าจะขาดทุน 50 ล้านบาท และถึงปลายปีอาจจะขาดทุนประมาณ 100 ล้านบาท พอจบปี ปรากฏว่าเราสามารถ Turnaround กลับมาได้ จากขาดทุน 50 ล้าน เรามีกำไร 30 ล้านบาท แต่มันเป็น Net Profit 0.3% หมายความว่า ถ้าวันรุ่งขึ้นแบงก์ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ธุรกิจจะขาดทุนอีกแล้ว ธุรกิจนี้จึงท้าทาย เราอาจจะพอทำได้ แต่ความแข็งแรงไม่มีเลย แล้วก็มีผู้เล่นรายใหญ่เต็มไปหมด” คุณวีรธรรม เล่าถึงสถานการณ์ธุรกิจในช่วงแรก
ดังนั้น เมื่อมีคู่แข่งเต็มสนาม และแต่ละแบรนด์ก็มี Brand Awareness แข็งแกร่ง การชนกับคู่แข่งแบบตรงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก นั่นเลยทำให้ ซีเจฯ กลับมาหาความ “แตกต่าง” จากร้านสะดวกซื้อเจ้าอื่น และจุดขายที่ CJ นำมาใช้ในเกมนี้ก็คือ การศึกษาความต้องการของผู้บริโภค พร้อมกับเพิ่มสินค้าที่มีการเติบโตและมาร์จิ้นสูงขึ้นเข้ามาทำตลาดอย่างเครื่องสำอาง “นายน์ บิวตี้” ในคอนเซปต์ Affordable Beauty รวมถึงร้านกาแฟสด “บาว คาเฟ่” ภายใต้แนวคิดรสชาติถูกปาก ราคาถูกใจ
จึงส่งผลให้ ซีเจฯ มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งยังสามารถ Turnaround และมีกำไรมากพอที่จะไปต่อได้ โดยในปี 2567 มีรายได้ประมาณ 53,000 ล้านบาท และกำไรราว 3,700 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 30% จากปี 2567 รวมทั้งสามารถขยายสาขาได้ถึง 1,500 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 500 สาขา และต่างจังหวัด 1,000 สาขา
ค้าปลีกปี 68 ท้าทายสูง ปั้นโมเดลใหม่-ลงทุนเอไอ สร้างประสบการณ์ใหม่
แม้จะสามารถสร้างการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่คุณวีรธรรม กลับมองว่า ปีที่แล้วยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะยังมีหลายเรื่องที่คิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เช่น การจัดการสินค้า ประกอบกับตลาดปีนี้ยังมีความท้าทายสูง ทั้งการแข่งขัน และกำลังซื้อ ทำให้ปีนี้จะกลับมาทบทวนเรื่องสินค้าและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขยายสาขามากขึ้น การตัดสินใจอะไรบางอย่างจึงต้องใช้เวลา ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มี 200-300 สาขา สัปดาห์เดียวสามารถตัดสินใจและลงมือทำได้ทันที
ขณะเดียวกัน ในปีนี้จะมีการลงทุนนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากปีที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชีการเงิน ระบบการวางรถ และทำความเข้าใจผู้บริโภค เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมไปถึงรองรับการเป็น Omni Chanel โดยปัจจุบัน ซีเจฯ ยังมียอดขายผ่านออนไลน์ไม่มาก ประมาณหลักล้านต่อเดือนเท่านั้น ควบคู่กับการพัฒนาคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยอยู่ระหว่างการหารือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จากสหรัฐอเมริกา โดยจะส่งคนเข้าไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย และนำบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานที่ไทยเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้จริง
รวมถึงมีแผนจะเพิ่มโมเดลใหม่อีก 2 รูปแบบในครึ่งปีหลัง โดยเหตุผลที่ต้องมีโมเดลใหม่ คุณวีรธรรม บอกว่า พอขยายพื้นที่เข้ามาในกรุงเทพฯ มากขึ้น ทำให้พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่ต่างจากคนต่างจังหวัด เนื่องจากรายได้ของประชากรต่างกันมาก จึงทำให้โมเดลที่มีอยู่ 3 แบบในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครบทุกด้าน
โดยคุณวีรธรรมเชื่อว่า จากการลงทุนด้านเทคโนโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ และรุกตลาดอย่างเข้มข้น จะทำให้ปี 2568 สามารถขยายตัวได้ 30% หรือมียอดขาย 70,000 ล้านบาท
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE