คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปิดฉากเวทีสัมมนา 4 ภาค “ขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่ชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็ง” ปีที่ 2 ครั้งสุดท้าย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีเครือข่ายเข้าร่วมจาก 8 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนองและสุราษฎร์ธานี รวม 30 คน
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า “งานนี้จัดขึ้นเพื่อสานสัมพันธ์กับเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องรู้เท่าทันสื่อ ร่วมกันสร้างนิเวศสื่อที่ดี ผลิตสื่อน้ำดีเพื่อลดพื้นที่สื่อขยะ เครือข่ายของกองทุนสื่อฯ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนับ 10 ปีของกองทุนสื่อฯ ทั้งสื่อเด็ก สื่อผู้ใหญ่และวัฒนธรรม สามารถเข้าร่วมอบรมต่าง ๆ เช่น อบรมเกี่ยวกับ AI รวมถึงมีโอกาสได้รับทุนผลิตสื่อ ขับเคลื่อนสื่อในพื้นที่ของตัวเอง กองทุนสื่อหยั่งรากลึกมานับ 10 ปีแล้ว อยากให้เครือข่ายมาเป็นกิ่งก้านสาขา ที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นที่ใหญ่ที่สุด นั่นก็คือ เรื่องรู้เท่าสื่อ อย่าปล่อยให้เยาวชนต้องติดกับดักโซเชียลมีเดีย”
เวทีสัมมนา 4 ภาคฯ ที่สุราษฎร์ธานี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “10 ปี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางอนาคต” กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ มีหน้าที่รณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุนให้เครือข่ายผลิตสื่อคุณภาพ เริ่มจากจิตอาสา ต้องรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าช่วยเหลือสังคมได้ ในยุคที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อ แง่ดีพื้นที่สื่อคือพื้นที่ทางประชาธิปไตย แต่อีกด้านกำลังเป็นหายนะเพราะโลกเต็มไปด้วยขยะสื่อ ท่ามกลางขยะสื่อ เราต้องเป็นดอกบัวกลางโคลนตมของขยะสื่อให้ได้ เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น เครือข่ายภาคใต้สร้าง Tiktok คนตัวดำทำแต่ความดี นำเสนอการทำดีง่าย ๆ เป็นต้น
ดร. ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “คิด เขียน ข้อเสนอโครงการฯ ขับเคลื่อนและพัฒนาเครือข่ายสื่อฯ ที่ยั่งยืน” เผยหลักพิจารณาให้ทุน ต้องสอดคล้องกับความต้องการของกองทุนฯ น่าสนใจอย่างไร ผลลัพธ์คืออะไร แผนการทำงานของทีม ใช้งบเท่าไหร่ คนขอทุนเป็นใคร มีความเชี่ยวชาญเหมาะกับเนื้องานนี้หรือไม่ คนธรรมดาก็ขอทุนได้แค่มีบัตรประชาชนใบเดียว ปีนี้จะเปิดรับขอทุนประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ติดตามได้ที่ https://www.thaimediafund.or.th/ Soft Power ก็ยังน่าสนใจ เช่น ไข่เค็มไชยาของสุราษฎร์ธานี รวมถึงเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัย
เวทีเสวนาหัวข้อ “แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมกันสร้างนิเวศสื่อปลอดภัยสู่สังคม” มีวิทยากรตัวแทนภาคใต้ ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้แก่
รองศาสตราจารย์ บัวผิน โตทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดประเด็นสื่อปลอดภัยคือสื่อที่เป็นประโยชน์กับผู้รับสาร ให้ความรู้และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่จะทำอย่างไรให้สื่อปลอดภัยนั้นเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ด้วย
คุณสมัญญา ทมธิแสง นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สังกัดส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 สุราษฎร์ธานี เผยว่า กรมประชาสัมพันธ์กำลังปรับตัว ตัดข่าวที่ออกรายการโทรทัศน์เป็นคลิปสั้น นำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย และผลิตข่าวดี ข่าวถูกต้องกลบข่าวปลอม เช่น Tiktok มีข่าวปลอมเยอะมาก กรมประชาสัมพันธ์ภูเก็ต จึงสร้าง Tiktok ช่องนักสืบอันดามัน ผลิตแก้ข่าวที่ถูกต้องไปกลบ Fake News แต่ในรูปแบบสนุกสนานไม่เป็นทางการ ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ทำสื่อคู่ขนาน ทั้งสื่อทางการและสื่อไม่ทางการ
คุณอานนท์ มีศรี นายกสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ และผู้รับทุนโครงการพัฒนาหลักสูตรการใช้สมาร์ทโฟน เพื่อการผลิตสื่อปลอดภัยในกลุ่มเสี่ยงเด็กและเยาวชน ในสถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีเด็กกลุ่มหนึ่งผลิตคลิปเรื่อง e-Sport กับเกมส์ออนไลน์เหมือนกันหรือไม่ กลายเป็นประเด็นในการประชุมสมัชชาเพื่อสุขภาพ ต่อมาโรงเรียนเปิดชมรม e-Sport น่าจะสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน ผลิตสื่อดี ๆ ออกมาเยอะ ๆ รวมถึงกลุ่ม LGBTQ ด้วย เด็กบางคนมีคนติดตามเป็นล้าน เด็กชอบฟังเพื่อนพูดมากกว่าผู้ใหญ่
คุณโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบ และบูรณาการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า อยากให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการเรื่องภัยพิบัติด้วยตนเอง 3 ระดับคือตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัยและหลังเกิดภัย สื่อคือปัจจัยหลักที่ต้องนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติ ปัจจุบันชุมชนเชื่อข้อมูลจากสื่อมากกว่าข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ปัญหาก็คือ สื่อมีเยอะมาก ทั้งสื่อจริง สื่อปลอม สื่อที่ข้อมูลถูกต้องและสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ จึงต้องยกระดับการวิเคราะห์สื่อให้กับชุมชน
กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการระดมความคิดเห็นในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม เพราะสื่อที่ดีคือสื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเครือข่ายภาคใต้ร่วมกันนำเสนอประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาชุมชน ได้แก่ เยาวชนรุ่นใหม่ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า, So good social สร้างชีวิตมีค่าหน้าโซเชียล, พัฒนาศักยภาพเยาวชนในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน และสร้างภูมินักขับขี่หน้าใหม่