HomeFeatured“เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีอนาคต ย้ำเครือซีพีลงทุนภาคเกษตรต้นน้ำ-ปลายน้ำ “ไม่ผูกขาด”

“เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีอนาคต ย้ำเครือซีพีลงทุนภาคเกษตรต้นน้ำ-ปลายน้ำ “ไม่ผูกขาด”

แชร์ :


ในงานเสวนา “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวทีที่รวบรวมความคิดเห็นและวิสัยทัศน์จากผู้นำองค์กรระดับประเทศ รวมถึงนักวิชาการและภาครัฐ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้มุมมองในหัวข้อ Future Thailand: Next Growth ยืนยันว่าประเทศไทย “เศรษฐกิจมีอนาคต” เต็มไปด้วยอนาคตสดใส แม้โลกจะอยู่ในยุค Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพอากาศ การเมือง เทคโนโลยี แต่ในวิกฤติก็มีโอกาส

“ในชีวิตเห็นการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤติหลายครั้ง แต่ทุกวิกฤติก็ตามมาด้วยโอกาส และเมื่อมีโอกาสก็มีวิกฤติตามมาได้เช่นกัน วนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่มีอะไรราบรื่นยาวนาน เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน”

โอกาสของประเทศไทยอยู่ที่ “เกษตรกรรม” ที่ถือเป็นน้ำมันบนดิน ใช้ไม่หมด เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย แต่ละปีเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 รอบ อุตสาหกรรมอื่นต้องซื้อชิ้นส่วนมาประกอบ ทำให้ได้กำไรเพียงส่วนเดียว แต่สินค้าเกษตร ประเทศไทยทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 90% เงินอยู่ในประเทศไทย

“เกษตรกรรม” มีจุดได้เปรียบ เนื่องจากไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงเหมือนหลายประเทศ อย่างแผ่นดินไหว พายุ มีเพียงน้ำท่วมกับภัยแล้ง ภาครัฐจึงควรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จัดสรรงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาระบบชลประทานอย่างจริงจัง หากจัดการน้ำได้ดี จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

ภาคเกษตรเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากที่สุด เกษตรกรรมไทยต้องเข้าสู่ยุค “Smart Farming” ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โดรน AI IoT และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารในระดับสากล

เครือซีพี ใช้เทคโนโลยีโดรน AI IoT ในการดูแลพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ภาคการผลิตใช้หุ่นยนต์ ดูแลเพื่อความปลอดภัย แม่นยำ และมีคุณภาพ มีระบบโลจิสติกส์ มีช่องทางค้าปลีก จัดหน่ายผลผลิตและสินค้า เพื่อไปถึงมือผู้บริโภค

“เห็นได้ว่าห่วงโซภาคเกษตรยาวมาก ซีพี ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คนอาจจะมองว่าผูกขาด แต่ไม่ใช่เช่นนั้น เราทำธุรกิจเป็นแนวดิ่ง ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกขั้นตอนจบพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นเมื่อผลิตออกมาจำนวนมาก ขายไม่หมด ก็เสียหาย หรือขายได้มากแต่ไม่มีของขายก็เสียหาย จึงจำเป็นต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในภาคการเกษตร”

ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะหากประชาชนไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีกำลังซื้อมากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐ ควรออกกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเต็มที่

“นักธุรกิจต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรวยขึ้น ประเทศไทยจะได้แข็งแรง เพราะหากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ภาคธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้”

ธุรกิจค้าปลีก ไม่ต้องทำกำไรจากการขึ้นราคา เพราะทั่วโลกรู้ข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้าในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่นักธุรกิจต้องทำ คือ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง เครือซีพี วางนโยบายการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ AI และต้องทำงานได้มากกว่าเดิม 5 เท่า เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก ทำมากยิ่งได้มาก”

อีกโอกาสของประเทศไทย คือ “การท่องเที่ยว” ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรมีงบประมาณและเป้าหมายที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะการเจาะจงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่ต้องการเดินทางมายังประเทศไทย ต้องมีแผนแม่บทการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่การยกระดับความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ

รวมทั้งโอกาสด้าน “การศึกษา” ประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาโลก” ดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของประเทศในระดับเดียวกับการท่องเที่ยว พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายบุคลากรคุณภาพที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แรงงานลดลงต่อเนื่อง แนวคิดการปฏิรูปการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับการ “เรียนไปทำงานไป” ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนไทยสามารถจบการศึกษาพร้อมกับมีทักษะในการทำงานจริง

สำหรับแนวทางการพัฒนาคน ประเทศไทยควรดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ มาเสริมศักยภาพแรงงานในประเทศ เช่นเดียวกับ สิงคโปร์สามารถดึงดูดบุคลากรชั้นนำจากทั่วโลก

“ไทยสามารถดึงดูดอัจฉริยะจากต่างประเทศ 5 ล้านคน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ในขณะเดียวกัน เราต้องส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้และทักษะที่แข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน”

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like