HomeBig Featuredรถไฟฟ้ามาหา (สักที) นะเธอ! “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ปั้นอาณาจักรลุย Entertainment Complex ขยายเมืองทองฯ สู่ศูนย์กลางไมซ์ระดับเอเชีย

รถไฟฟ้ามาหา (สักที) นะเธอ! “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ปั้นอาณาจักรลุย Entertainment Complex ขยายเมืองทองฯ สู่ศูนย์กลางไมซ์ระดับเอเชีย

ทุ่ม 4,000-5,000 ล้าน เปิดโรงแรมเฟส 2 เพิ่ม 2 แห่ง 1,000 ห้อง

แชร์ :

ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ทางฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” คือผู้ให้บริการศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่งในไทย มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% มีการเติบโตในส่วนของ Arena กว่า 20% ซึ่งสูงกว่าช่วงโควิด และ Exhibition โตกว่า 30% ทั้งหมดมียอดจองเต็มตลอดทั้งปี 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ยุทธศาสตร์เชิงรุกของอิมแพค จากนี้ไปจึงไม่ใช่แค่การเดินหน้าแผนงานเพียงด้านใด ด้านหนึ่ง หากแต่คือการวางแผนงานให้ครอบคลุมและรอบด้านมากที่สุด ล่าสุด “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ได้ประกาศทุ่มงบครั้งใหญ่ 4,000-5,000 ล้านบาท ลุยโรงแรมเฟส 2 เพิ่ม 2 โรงแรม 1,000 ห้อง ปั้นอาณาจักรครบวงจร ปูทางสู่ Entertainment Complex ที่คาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองทองธานี

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม  อิมแพ็ค  เมืองทองธานี กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากของเรา ตั้งแต่การเข้ามาของรถไฟฟ้า การปรับตัวสู่ Smart City ผ่านความทันสมัยและเทคโนโลยีต่างๆ  เพื่อขับเคลื่อนให้ “เมืองทองธานี” เป็น MICE Tourism Destination ระดับเอเชีย ในปี 2568

 

ดีเดย์ 20 พ.ค. 68 เปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู จิ๊กซอว์ชิ้นใหม่เพิ่มทราฟฟิก 10%

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2568 คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ทันงานใหญ่ระดับโลกอย่าง THAIFEX โดยการเชื่อมต่อระบบขนส่งนี้จะช่วยลดปัญหาการจราจร และเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานได้เป็นเท่าตัว

รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ทางอิมแพคฯร่วมลงทุนด้วย 50% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,200 บ้านบาท ประกอบด้วย 2 สถานีได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่จะจอดเทียบอาคารชาลเลนเจอร์  เบื้องต้นอยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า คาดจะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2568  ส่วนอีกสถานีหนึ่งมีชื่อว่า สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี หลังการเปิดให้บริการคาดว่าจะเพิ่มขึ้น อีก 10%  จากปัจจุบัน อิมแพ็คฯ มีปริมาณทราฟฟิกผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้อิมแพ็คฯ ยังเดินหน้าแผน Smart City ด้วยการอัปเกรดระบบบริหารจัดการจราจร (Traffic Management) และขยายระบบ CCTV ทั่วเมืองทองธานี มูลค่าการลงทุนในเฟสแรก 25 ล้านบาท 

 

Entertainment Complex – เมืองทองฯ พร้อมเป็นศูนย์กลางความบันเทิงครบวงจร

อีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญคือ การเดินหน้าประมูลเมกะโปรเจ็กต์สถานบันเทิงครบวงจร Entertainment Complex มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ที่กำลังเป็นที่จับตาในขณะนี้ โดยขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาพื้นที่โดยรอบบริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงและการจัดงานระดับโลก แม้ว่าทางโครงการจะยังอยู่ระหว่างการรอการคัดเลือก แต่อิมแพ็ค เตรียมความพร้อมเต็มที่ โดยชูจุดแข็งด้านสถานที่ ฮอลล์จัดงาน ศูนย์ประชุม และโรงแรมครบวงจร

 

 

“ไม่รู้ว่าเราจะได้รับเลือกหรือไม่ (Entertainment Complex) แต่เราเตรียมตัวพรีเซ็นต์ตรงนี้อย่างเต็มที่  ถ้าไทยมองว่ามีได้ และเมืองทองเหมาะสม เราก็พร้อม ซึ่งเมืองทองมีครบ ทั้งฮอลล์ โรงแรม ศูนย์ประชุม ที่เป็น Product Mix ของการเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ดี เราก็พร้อมไปตรงนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ตรงนี้เราก็ต้องมาโฟกัสโรงแรมเฟส 2 และพัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ขนาดเล็กก่อน”

แน่นอนหากโครงการนี้ได้รับไฟเขียว อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะกลายเป็น ศูนย์กลางการจัดอีเวนต์และความบันเทิงระดับโลก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ฮอลล์จัดงาน ศูนย์ประชุม และโรงแรมระดับพรีเมียม ซึ่งเป็น Product Mix ที่สมบูรณ์แบบ

 

ทุ่ม 4,000-5,000 ล้านบาท ลุยเปิดโรงแรมเฟส 2 เพิ่ม 1,000 ห้อง 4-5 ดาว รับอุตสาหกรรม MICE โตแรง

แม้ Entertainment Complex จะคือธุรกิจใหม่ที่ทางอิมแพคฯ หมายมั่นปั้นมือในการพัฒนา ทว่าความชัดเจนและผลต่างๆ ยังไม่แน่นอน ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการภายในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจไมซ์ที่มีมากขึ้น 

“คุณพอลล์” บอกว่า เมื่อแผนปั้น Entertainment Complex  ยังไม่มีแน่นอน และต้องรอภาครัฐ จึงต้องมีแผนสองเพื่อพัฒนาภายในให้ทันสมัย และมีความพร้อมให้มากที่สุด ด้วยการทุ่มงบ 4,000-5,000 ล้านบาท ขยายโรงแรมเฟส 2 จำนวน 2 โรงแรม 1,000 ห้อง เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมไมซ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น

 โรงแรมระดับ 5 ดาว จำนวน 300 ห้อง (อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ทเนอร์)

 โรงแรมระดับ 4 ดาว รองรับกลุ่มลูกค้าหลากหลาย

เบื้องต้นในส่วนของโรงแรม 5 ดาวกำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์ ซึ่งจะมีจำนวน 300 ห้อง ส่วนที่เหลือจะเป็นโรงแรมในระดับ 4 ดาว  โดยคาดว่าจะสามารถยื่นขอ EIA ผ่านได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 68 และพร้อมสร้าง ไตรมาส 4 ปี 69  โดยจะใช้เวลาสร้าง 1-1.5 ปี จากนั้นก็จะเดินหน้าขยายโรงแรมเฟส 3 ต่อทันที 

 

 

ปัจจุบัน อิมแพ็คฯ มีโรงแรม โนโวเทล  ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว จำนวน 380 ห้อง และ โรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค โรงแรมระดับ 3 ดาว จำนวน 550 ห้อง รวมแล้ว 930 ห้องอยู่แล้ว ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้มีโรงแรมจำนวน 4 แห่ง ขนาดรวม 2,000 ห้อง เมื่อผสานกับจุดแข็งการมีโครงสร้างพื้นฐานครบครัน บนพื้นที่ 4,700 ไร่ ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก พื้นที่รวม 479,761 ตร.ม. ประกอบด้วย  ศูนย์การจัดแสดงอิมแพ็ค อารีน่า ,อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (ฮอลล์ 1-3) ,ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม (ฮอลล์ 4)  และศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์ 5-12) ก็จะเป็นการเติมเต็มความครบวงจรมากยิ่งขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมามีงานใหญ่ ๆ ให้ความสนใจมาจัดงานที่อิมแพ็ค  แต่ติดปัญหาเรื่องโรงแรมที่รองรับคนได้จำกัด ดังนั้นการพัฒนาโรงแรมใหม่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการรับงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้น โรงแรมเฟส 2 จึงสำคัญมากกับอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพราะจะเป็นการเพิ่มอีเวนต์มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มจำนวนห้องที่มากขึ้น  Requirement ต่างๆ ก็จะเพื่มขึ้นทั้งรีเทล พื้นที่ และอีเวนต์ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เมืองทองมีความเป็นเมืองมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีคนมาใช้ชีวิตหรือทำงานในพื้นที่ราว  300,000-400,000 คนต่อวัน”

นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายระยะยาวด้วยการขยายการลงทุนสร้างโรงแรมเพิ่มเติมเป็น 3,000 ห้อง ภายในปี 2573 และ 5,000 ห้องภายในปี 2578

“ถามว่าทำไมเราไม่สร้างโรงแรมตั้งแต่แรก การสร้างโรงแรมใช้งบประมาณในการดูแลค่อนข้างสูง การใช้เงินสดไปจมไม่คุ้ม ทำให้ต้องมีการลงทุนอย่างอื่น โดยก่อนหน้าได้มีการนำเงินไปลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อน”

ท้ายที่สุด “คุณพอลล์” บอกว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจตลอดจนอุตสาหกรรมไมซ์ในฝั่งเอเชียจะมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจ ผู้คนมีความเสถียรมากกว่า เมื่อรวมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาเร็วของฝั่งจีนจะยิ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์ฝั่งเอเชียเติบโตมากยิ่งขึ้น


แชร์ :

You may also like