โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร(Executive Order) ภายในสัปดาห์หน้า เรื่องยกเลิกนโยบายลดขยะพลาสติกของอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน
“ยุติความพยายามที่ไร้สาระของไบเดนในการผลักดันการใช้หลอดกระดาษ ซึ่งไม่ได้ผล”
“กลับไปใช้พลาสติก!”(BACK TO PLASTIC!) ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Truth Social ของเขา
ย้อนดูคำสั่ง “โจ ไบเดน”
เมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในหน่วยงานของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ยุติการจัดซื้อพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอุตสาหกรรมอาหาร งานอีเวนต์ และบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2027 และขยายไปสู่ทุกภาคส่วนของรัฐบาลกลางภายในปี 2035
นโยบายนี้ยังรวมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“รัฐบาลไบเดน-แฮร์ริสตระหนักว่ามลพิษสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น” รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุ
ในเดือนสิงหาคม 2023 ไมเคิล รีแกน อดีตผู้บริหารสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) กล่าวว่า “มลพิษจากพลาสติกส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในชุมชนที่ขาดโอกาสและได้รับผลกระทบหนักที่สุด”
ทรัมป์สวนกลับ – ยกเลิกนโยบายรักษ์โลก
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับหลอดกระดาษและผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ว่าหลอดกระดาษนั้น สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้จริงไหม นอกจากนี้ งานวิจัยในปี 2023 ยังพบว่าหลอดกระดาษอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากมีการปนเปื้อนของสารเคมีประเภท “Forever Chemicals” ซึ่งเป็นสารเคมีที่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์เป็นเวลานาน
ส่วนหลอดพลาสติกส่วนใหญ่ ก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้จริง เนื่องจากมีขนาดเล็ก และกลายเป็นขยะที่สะสมในมหาสมุทรและระบบนิเวศทั่วโลก แม้ว่าหลอดพลาสติกจะดูเป็นเพียงขยะชิ้นเล็กๆ แต่ในความเป็นจริง ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะพลาสติกขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรง
สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาได้เซ็นถอดถอนสหรัฐฯ ออกจาก ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และยังคงเดินหน้านโยบาย “ขุดเจาะน้ำมันให้เต็มที่” (drill, baby, drill) อย่างต่อเนื่อง