หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง สำหรับความเหี้ยมโหดของเฟสบุ๊ค ที่กำหนดให้แต่ละโพสต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพจหรือเฟสบุ๊คส่วน มีคนเห็นหรือการเข้าถึง(reach)ไม่ถึง 10% ต่อโพสต์สิ่งนี้นับเป็นความท้าทายอย่างมากของนักการตลาดออนไลน์ ที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนเห็นคอนเทนต์
ความลับหนึ่งซึ่งจะช่วยเราได้ก็คือการทำความเข้าใจกับระบบอัลกอริทึม เรียนรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพโพสต์แต่ละโพสต์ของเรา ให้เข้าถึงในจำนวนที่มากขึ้นบนนิวส์ฟีดของสมาชิกที่กดไลค์หรือเพื่อนๆที่ติดตาม
และนี่คือข่าวดี เมื่อ Kevan Lee แห่งเว็บไซต์ buffersocial มีคำตอบมาให้ เขาได้รวบรวมและอัพเดทปัจจัยต่างๆที่มีผลต่ออัลกอริทึมเฟสบุ๊คพร้อมยกตัวอย่างสั้นๆง่าย เพื่อให้เราได้ศึกษาและนำไปใช้งาน
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปเริ่มกันเลยดีกว่า ว่าเจ้าปัจจัยทั้งหลายแหล่นี้มันมีอะไรบ้าง
***ข้อมูลทั้งหมดนี้อัพเดทล่าสุดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2014
ภาพรวมปัจจัยที่มีผลต่อการฟีดบนนิวส์ฟีดเฟสบุ๊ค
เฟสบุ๊คมีเกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าจะโชว์โพสต์นี้บนนิวส์ฟีดหรือไม่? เรามาดูกันดีกว่า จะได้รู้ว่าควรและไม่ควรโพสต์คอนเทนต์ลักษณะไหน
+++ ควรทำ – สิ่งที่อัลกอริทึมชอบ +++
– โพสต์ที่มีคอมเมนต์เยอะๆ
– โพสต์ที่มีไลค์เยอะๆ
– ประเภทโพสต์ที่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ที่กดไลค์เพจหรือติดตามเราจะชอบ (รูป, วิดีโอ, สเตตัส)
-โพสต์ที่ได้รับการไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
– โพสต์ประเภทที่เป็นลิงค์
– โพสต์ประเภทวิดีโอบนเฟสบุ๊คซึ่งมียอดวิวที่สูงหรือมีระยะเวลาการดูเฉลี่ยที่นาน (ไม่นับรวมวิดีโอจากเว็บไซต์อื่น เช่น ยูทูป)
– โพสต์ที่มีการแท็กเพจอื่นในข้อความ
– โพสต์ที่มีการกดไลค์หรือคอมเมนต์โดยเพื่อนคนใดคนหนึ่งของเรา
– คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์ของแฟนเพจมาก ก็จะเข้าถึงโพสต์ของแฟนเพจนั้นๆมาก
– ประเภทโพสต์ที่คนกดไลค์หรือติดตามแฟนเพจคนนั้นมีปฏิสัมพันธ์บ่อยๆ
– โพสต์จากแฟนเพจที่มีข้อมูลครบถ้วน
– โพสต์จากแฟนเพจที่สมาชิกแฟนเพจทับซ้อนกับเพจคุณภาพสูง
– รูปและวิดีโอที่ยังไม่เคยปรากฎใน Open Graph
– ลิงค์ที่ยังไม่เคยโพสต์มาก่อน
+++ ไม่ควรทำ – อัลกอริทึมไม่ชอบ +++
– ล่อให้คลิก
– เผยแพร่คอนเทนต์เดิมๆซ้ำๆ
– โพสต์เรียกไลค์
– โพสต์ที่มีลิงค์สแปม
– การอัพสเตตัสบนแฟนเพจโดยมีแต่ตัวหนังสือ
– โพสต์ที่ถูก hidden หรือ report บ่อยครั้ง
– โพสต์ที่มีคำว่า like, comment และ share อยู่ในข้อความ
– โพสต์ที่มีรูปแบบผิดปกติ (เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโพสต์เรียกไลค์)
– โพสต์ที่ได้รับการตอบรับที่ไม่ดี เช่น meme content (โจ๊ก/ภาพฮาแบบภาพเดียวจบ)
– โพสต์ที่การวิเคราะห์ของเฟสบุ๊คระบุว่าเป็น meme
เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น เรามาดูคำอธิบายและตัวอย่างสั้นๆประกอบกัน
– จำนวนคอมเมนต์ ไลค์ และประเภทของโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือสเตตัส มีผลต่อการเข้าถึง
เฟสบุ๊คเคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่จะขึ้นบนหน้านิวส์ฟีดของเราขึ้นอยู่กับคอนเนคชั่นและปฏิสัมพันธ์ที่เราเคยทำ ซึ่งจะช่วยให้เราได้คอนเทนต์ที่เราสนใจจากเพื่อนหรือเพจที่เราปฏิสัมพันธ์อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น จำนวนการคอมเมนต์ ไลค์ ต่อประเภทโพสต์ซึ่งเราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์จึงมักปรากฎอยู่บนหน้านิวส์ฟีดเรา
– ช่วงเวลาที่เราไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ มีผลต่อการเข้าถึง
สิ่งหนึ่งซึ่งเฟสบุ๊คกำลังพยายามพัฒนาคือการฟีดไปบนนิวส์ฟีดแล้วจำนวนไลค์โพสต์นั้นสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มติดตามแล้วล่ะ ว่าเวลาไหนที่ส่วนใหญ่เรามักไลค์ คอมเมนต์ และแชร์
– โพสต์แบบล่อคลิกจะทำให้การเห็นโพสต์ลดลง
เกณฑ์ที่เฟสบุ๊คใช้วิเคราะห์ว่าโพสต์นั้นๆเป็นโพสต์ล่อคลิกหรือไม่มีสองประการ หนึ่งคือการที่ผู้ใช้งานคลิกเข้าไปในลิงค์แล้วกลับออกมายังเฟสบุ๊คทันที กับสอง มีคนคลิกลิงค์จำนวนมาก แต่น้อยคนนักจะไลค์หรือคอมเมนต์
– การเผยแพร่คอนเทนต์เดิมๆซ้ำๆทำให้การเห็นโพสต์ลดลง
เนื่องจากเคยมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยร้องเรียนเข้ามาว่าเพจบางเพจชอบโพสต์แต่คอนเทนต์ซ้ำๆเดิมๆที่พวกเขาไม่ได้สนใจ ดังนั้น เฟสบุ๊คจึงจะจับตามองเพจเหล่านี้เป็นพิเศษ และอาจลดยอดการเข้าถึงลง
– โพสต์เรียกไลค์จะทำให้การเห็นโพสต์ลดลง
ลักษณะของโพสต์เรียกไลค์ คือโพสต์ที่บอกให้ผู้ใช้งานทำการไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์ กันแบบโต้งๆ (ตัวอย่างเช่นรูปด้านบน) ซึ่งจะทำให้กลายเป็นโพสต์ที่มีปฏิสัมพันธ์สูง แต่เฟสบุ๊คไม่สนับสนุนโพสต์แบบนี้เลย
– โพสต์ที่มีลิงค์สแปมจะทำให้การเห็นโพสต์ลดลง
เฟสบุ๊คสามารถเช็คได้ว่าโพสต์ใดๆเป็นสแปมหรือไม่ ด้วยการวัดจากความถี่ที่ผู้ใช้งานกดลิงค์เข้าไป แล้วดูว่าจำนวนยอดไลค์โพสต์นั้น หรือ จำนวนการแชร์โพสต์ดังกล่าวมีมากเท่าไหร่
– การแท็กเพจอื่นๆไว้ในโพสต์อาจทำให้การเห็นโพสต์เพิ่มขึ้น
การแท็กไปที่เพจอื่นด้วย จะทำให้โพสต์นั้น อาจโชว์ไปที่สมาชิกที่กดไลค์หรือติดตามเพจที่เราแท็กไปด้วย
– การโพสต์สเตตัสที่มีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียวจะทำให้การเห็นโพสต์ลดลง
อย่างไรก็ตาม การอัพเดทสเตตัสที่มีแต่ตัวหนังสือเพียวๆสำหรับเพจกับบุคคลธรรมดานั้นต่างกัน หากเราเป็นเพจแอดมินควรหลีกเลี่ยงการโพสต์ที่มีตัวหนังสืออย่างเดียว แต่ให้หันไปใช้รูปแบบอื่นซึ่งจะทำให้ได้การปฏิสัมพันธ์และแพร่กระจายดีกว่า
– โพสต์ที่มีการไลค์หรือคอมเมนต์ด้วยเพื่อนคนใดคนหนึ่งของเรา จะทำให้เรามีโอกาสเห็นโพสต์นั้นมากขึ้น
ถ้าสังเกตบนนิวส์ฟัดจะพบว่าบางครั้งมันจะแสดงให้เราเห็นว่าเพื่อนของเรามีปฏิสัมพันธ์อย่างไรบ้างกับโพสต์ของเพจหรือบุคคลต่างๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้กดไลค์เพจหรือเป็นเพื่อนกับคนๆนั้น
– โพสต์ที่เป็น Related Article มีโอกาสที่จะทำให้คนเห็นมากขึ้น
ล่าสุด เฟสบุ๊คมีฟังก์ชั่นใหม่ตัวนึง ให้สังเกตเวลาเราคลิกลิงค์ใดๆก็ตาม ด้านล่างจะมีลิงค์ที่มีคอนเทนต์เกี่ยวข้องหรือคล้ายคลึงกับลิงค์นั้นโผล่ออกมาแนะนำเราสามตัว ซึ่งช่วยให้เราสามารถพบคอนเทนต์ที่เราน่าจะสนใจได้มากขึ้น
ทั้งนี้ Kevan Lee ยังนำเสนอปัจจัยต่างๆโดยสรุปได้อย่างน่าสนใจไว้ดังต่อไปนี้
4 ปัจจัยอื่นๆที่จะทำให้เราเห็นโพสต์มากขึ้น
1. ความถี่ที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือแฟนเพจที่เป็นผู้โพสต์
2. จำนวนไลค์ แชร์ หรือคอมเมนต์ที่โพสต์ได้รับ
3. ประเภทโพสต์นี้เคยได้รับปฏิสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหนในอดีต
4. การไม่กดซ่อนโพสต์หรือรีพอร์ทโพสต์ในอดีต
หากปัจจัยเหล่านี้เป็นไปในทางที่ดี เฟสบุ๊คจะพยายามทำให้โพสต์นั้นๆได้รับการเห็น แม้ว่าผู้ใช้งานจะไม่ได้เลื่อนลงมาดูตั้งแต่ทีแรก โพสต์เหล่านี้จะถูกนำไปปรากฏอยู่ด้านบนๆของนิวส์ฟีด ถ้ามันยังคงได้รับการตอบรับที่ดี
3 องค์ประกอบของเพจที่จะทำให้โพสต์ถูกเห็นมากขึ้น
1. ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์เชิงลบด้วยค่อนข้างต่ำ เช่น กด hiding โพสต์น้อย
2. เพจต้องลงข้อมูลโปรไฟล์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
3. ฐานสมาชิกแฟนเพจทับซ้อนกับแฟนเพจคุณภาพสูงหรือยอดนิยม
เฟสบุ๊คบอกว่ามีปัจจัยกว่าพันปัจจัยในการคำนวณระบบการขึ้นนิวส์ฟีด หลักๆสิ่งที่แอดมินควรต้องคำนึงมีดังนี้
– โพสต์คอนเทนต์ในเวลาที่เหมาะสมและตรงประเด็น
– สร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อสมาชิกที่กดไลค์
– คอยถามตัวเองอยู่เสมอ ว่าผู้ใช้งานแชร์และแนะนำโพสต์ของเราสู่เพื่อนๆมากน้อยแค่ไหน
– ต้องคิดทุกครั้ง ว่าสิ่งที่สมาชิกแฟนเพจต้องการได้รับจากเพจเราคืออะไรกันแน่
นอกจากนี้ Kevan Lee ยังได้แนะนำอีกว่า เฟสบุ๊คดูจากอะไรว่าคอนเทนต์ไหนดีหรือไม่ดี
– โพสต์เรียกไลค์: เฟสบุ๊คจะสังเกตจากคำว่า like, comment หรือ share รวมไปถึงการมีแพทเทิร์นคอนเทนต์ที่ผิดปกติ
– คอนเทนต์ที่เป็น meme: มีการตอบรับในเชิงลบ เช่นคำว่า meme content และยังมีระบบวิเคราะห์จากข้อความหรือรูปภาพ
– คอนเทนต์ที่เป็นออริจินอล: มีรูปภาพ วิดีโอ หรือลิงค์ที่ไม่เคยมีจากที่ไหนมาก่อน
ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า โพสต์เก่าๆยังคงมีโอกาสที่จะถูกเห็นอยู่ไม่แพ้โพสต์ใหม่ๆ
แผนภูมิด้านบนมาจากการวิเคราะห์นิวส์ฟีดของ Tim Herrera แห่ง Washington Post’s ด้วยตัวเขาเอง เขาทำการติดตามโพสต์บนนิวส์ฟีดตัวเองกว่า 3200 โพสต์ในหนึ่งวัน ทั้งโพสต์จากเพจ และเพื่อนในเฟสบุ๊ค ผลปรากฎว่ายอดโพสต์ใหม่และโพสต์มีความใกล้เคียงกันมาก นอกจากนั้น เขายังพลาดโพสต์ใหม่อีกเป็นจำนวนมหาศาล นี่จึงอาจสรุปได้ว่า โพสต์เก่าๆก็ใช่ว่าจะถูกละทิ้งเสียเลยบนหน้านิวส์ฟีด
ปัจจัยเล็กๆน้อยๆอีกอย่างก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกแฟนเพจก็สามารถช่วยให้เขาเห็นคอนเทนต์ของเราได้มากขึ้น และหากผู้ใช้งานขาดการปฏิสัมพันธ์กับเราก็จะทำให้โพสต์บางโพสต์ถูกซ่อนเอาไว้ ดังเช่นภาพด้านบน
Kevan Lee ยังส่งท้ายบทความด้วยคลิปสรุปให้เห็นว่าวิธีการทำให้แฟนเพจเฟสบุ๊คนั้นได้รับการเห็น และมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น เค้าต้องทำกันอย่างไร และคลิป Q&A กับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในประเด็นลดยอดรีช (ลิงค์คลิปวิดีโอ)
เย้ๆๆ อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารกับ Brand Buffet ผ่าน LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ
เพิ่มเพื่อนรัวๆ ที่ ID : @brandbuffet
ที่มา: bufferapp