วันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก 在東京タイ王国大使館 สถานเอกอัครราชทูตไทย 〆กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) ได้เขียนข้อความ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับแบบแผนปฏิบัติของสังคมญี่ปุ่นที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวไทยได้ทราบและปฏิบัติหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่าง
ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยณกรุงโตเกียว ชี้แจงว่า ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงความเห็นว่าสังคมประเทศใดดีกว่าหรือด้อยกว่าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือในการงดเว้นแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องพาดพิงถึงบุคคลอื่นหรือมีเนื้อความที่ส่อเสียด
โดยข้อความระบุว่า
หลายคนได้เคยเห็นข่าวนักท่องเที่ยวไทยประพฤติตัวไม่เหมาะสมเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นที่แชร์ในโลกสังคมออนไลน์กันบ้างแล้วหลายคนอาจไม่เข้าใจทำไมบางพฤติกรรมถึงไม่เหมาะสมหรืออาจมองดูเป็นเรื่องแปลกในสังคมไทยอย่างไรก็ดีเมื่อเรามาต่างบ้านต่างเมือง จึงไม่น่าเป็นเรื่องเสียหายที่เราจะยึดถือสุภาษิตไทยที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”
เป็นที่ทราบกันว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีกรอบมีระเบียบค่อนข้างเข้มงวด รวมทั้งมีแบบแผนปฏิบัติที่กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในสังคมญี่ปุ่น
สถานทูตจึงขอแบ่งปันข้อควรรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผนปฏิบัติของคนญี่ปุ่นและการกระทำที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเดินทางมาญี่ปุ่นกัน
1.ขึ้นลงบันไดเลื่อนยืนชิดซ้ายหากเร่งรีบให้เดินในช่องทางขวา ยกเว้นบางพื้นที่ เช่น ภูมิภาคคันไซ คนญี่ปุ่นจะยืนชิดขวาและเปิดพื้นที่ทางซ้ายสำหรับการเดินขึ้นลง รวมไปถึงการเดินบนทางเท้า คนญี่ปุ่นจะแบ่งช่องทางการเดินเท้าอย่างชัดเจน เป็นระเบียบจนคนต่างชาติสังเกตได้ทีเดียว
2. งดการพูดคุยโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะโดยสารขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทางและรถไฟ รวมทั้งปิดเสียงโทรศัพท์และเปิด manner mode หรือระบบสั่น
3. การเข้าคิวเป็นเรื่องปกติที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะต่อคิวรอรถประจำทาง เข้าห้องน้ำ หรือรอคิวร้านอาหารและซื้อของตามร้านค้า แม้กระทั่งผู้สูงอายุหรือเด็กก็รอคิว ไม่มีการแซง เพราะทุกคนถือว่าต้องให้คนมาถึงก่อนได้รับบริการก่อนตามลำดับ
4. เวลาโดยสารลิฟท์ ผู้ที่เข้าไปคนแรกควรกดเปิดประตูให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ เข้ามาในลิฟท์ และกดให้คนอื่นๆ ออกจากลิฟท์ไปก่อน หากไปที่ชั้นเดียวกัน คนไทยอาจประหลาดใจ หากพบว่าคนกดประตูลิฟท์ให้เป็นผู้หญิง และผู้โดยสารลิฟท์คนอื่นๆ เป็นผู้ชายทั้งหมด
5. เวลาชำระเงินตามร้านค้า ควรวางเงินลงในถาดที่ร้านจัดเตรียมไว้ ข้อดีคือเป็นการป้องกันการสับสนเมื่อร้านค้ารับและทอนเงินคืน หากสังเกต เมื่อเราชำระเงินด้วยธนบัตรใหญ่ เช่น 1 หมื่นเยน พนักงานจะพูดย้ำกับลูกค้าว่ารับเงินมา 1 หมื่นเยน พร้อมกับถือธนบัตรโชว์แก่พนักงานคนอื่นๆ ว่ารับธนบัตรใหญ่มา และเมื่อทอนเงินคืน จะนับเงินให้เห็นและวางลงในถาดคืนแก่ลูกค้า
6. เมื่อต้องการได้รับบริการจากร้านค้า หากพนักงานกำลังให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ก่อนหน้า ต้องรอจนกว่าจะมีพนักงานคนอื่นมาให้บริการหรือจนกว่าพนักงานจะให้บริการลูกค้าคนก่อนหน้าเสร็จก่อน ไม่ควรแทรกด้วยการถามหรือเรียกให้มาบริการตนก่อน
7. หลีกเลี่ยงการพูดคุยเสียงดังในที่สาธารณะ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเคารพความเป็นส่วนตัวและถือว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่คนในสังคมใช้ร่วมกันเราจึงเห็นบรรยากาศในสถานีรถไฟญี่ปุ่นในช่วงเช้าและเลิกงานว่าไม่ค่อยมีเสียงดังจากการพูดคุยทั้งที่มีคนจำนวนมากแต่เสียงที่ได้ยินกลับเป็นเสียงคนเดินมากกว่า
8.แยกขยะเวลาทิ้ง โดยทิ้งขยะให้ถูกต้องตามประเภทของขยะ ทั้งนี้ โดยทั่วไปในญี่ปุ่น เราจะไม่พบถังขยะตามทางเท้า ยกเว้นหน้าร้านค้าสะดวกซื้อสถานีรถไฟ และภายในอาคาร
9. ขับรถโดยคำนึงถึงคนเดินเท้า โดยเฉพาะทางม้าลาย รถจะต้องหยุดให้คนข้ามถนนหมดเสียก่อนถึงขับต่อไปได้ ไม่มีการบีบแตรไล่หรือขับผ่านโดยไม่หยุดที่ทางม้าลาย
10. ไม่ใช้ตะเกียบของตนเองคีบอาหารให้คนอื่น หากจะคีบอาหารให้คนอื่น ใช้ตะเกียบคู่ใหม่หรือใช้ตะเกียบของตนและกลับด้านตะเกียบเพื่อคีบอาหาร รวมทั้งผู้รับอาหารไม่รับอาหารโดยนำตะเกียบมาคีบรับ แต่ยื่นจานของตนให้
ยังมีเกร็ดน่ารู้ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นอีกมากมาย อย่างไรก็ดี การเดินทางมาท่องเที่ยวคือการพักผ่อน คงไม่ต้องเกร็งจนเที่ยวไม่สนุกหรือคอยระมัดระวังตัวมากจนเกินไป
ในฐานะคนต่างชาติที่มาท่องเที่ยวต่างเมือง ความอ่อนน้อมถ่อมตนและมีมารยาทของคนไทย รวมทั้งการสังเกตสังคมรอบตัวก็จะทำให้คนไทยท่องเที่ยวในญี่ปุ่นได้อย่างมีความสุข และจะเป็นการดีกว่า หากคนไทยนำสิ่งดีๆ ที่พบเห็นที่ญี่ปุ่นกลับไปปรับใช้ที่ประเทศไทยด้วย
Partner : ประชาุชาติธุรกิจ