“ไม่มีหรอกหนู อินเทอร์เน็ตอะไรที่ว่า ลำพังแค่มือถือยังไม่มีเลย ก็คิดว่าอยู่กันแค่นี้แหละกับสามี มีอะไรก็โทรหากัน เอามาทำไมเอามาก็ไม่ได้ใช้ เปลืองเงินเปล่าๆ!!” เสียงของคุณป้าปราณี ที่ปัจจุบันเธอยึดอาชีพแม่บ้าน โดยสามีขายของอยู่ที่ตลาดบ้านเก่า อ.เมือง จ.กระบี่ ให้ความเห็นเรื่องอินเทอร์เน็ต และเชื่อว่าความคิดเห็นนี้เป็นตัวแทนคนไทยกว่าอีก 60% ที่ไม่เพียงแต่ไม่รู้จักคำว่าอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แค่เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารยังไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเป็นเพราะเขาไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะได้รับจากมัน
ภารกิจที่ท้าทายจึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิด Internet For All ที่ ดีแทค เชื่อมั่นว่าในปี 2015 คนไทยต้องรู้จักและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากกว่า 80% ของประชากรทั้งหมด โดยมีโครงการอินเทอร์เน็ตอาสาที่ดีแทคทำต่อเนื่องด้วยการให้พนักงานได้ออกไปให้ความรู้และความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ที่เราสำรวจแล้วว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปถึงแต่ความรู้หรือการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แท้จริงเข้าไม่ถึงเลย
ดีแทค จึงได้นำทีม เยาวชนในโครงการ dtac & Telenor Youth Summit2014 ต่อยอดการเรียนรู้สู่ประสบการณ์จริงอย่างต่อเนื่องสอดรับนโยบาย เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ด้วยแนวคิด Internet for All ที่ดีแทคมุ่งมั่นตั้งใจทำมาตลอด โดยมีกิจกรรมที่ชื่อว่า “Connect The Unconnected” เพื่อให้เยาวชนได้เห็นถึงสภาวการณ์จริงจากผลการสำรวจที่ว่า “ในปี 2556 ยอดการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ก้าวกระโดดจาก 18.4% เป็น 31.9% ในขณะที่กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกถึงมากกว่า 8 ล้านคน (จากจำนวนประชากรทั้งหมด 10 ล้านคน) สนามบินสุวรรณภูมิและสยามพารากอนติดสองอันดับแรกของโลก ในการเป็นสถานที่ที่ได้รับการถ่ายภาพขึ้นอินสตาแกรมมากที่สุด ไลน์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยยอดผู้ใช้ถึง 24 ล้านคน
จากสถิติดังกล่าวถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการเติบโตของคนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว แต่ก็กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามของการใช้โมบายล์ดาต้าของทั้งประเทศ มีเพียง 34% ที่อยู่ในเมืองใหญ่ในขณะที่อีก 66% ที่เหลือยังเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม (digital-divide) อันเนื่องมาจากการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Information) และความรู้ (Knowledge) ผ่านเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคน ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยยังต่ำกว่า 40%”
กิจกรรม “Connect The Unconnected” ในครั้งนี้ เยาวชนได้ลงพื้นที่จริงที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งยังมีคนที่ไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต หรือรู้จักแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างถูกต้องและตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แท้จริง ซึ่งเยาวชนจะทำหน้าที่เป็น “เยาวชนอินเทอร์เน็ตอาสา” ลงพื้นที่ให้ความรู้และสอนการใช้อินเทอร์เน็ตในเบื้องต้นเพื่อให้คนในพื้นที่เข้าใจถึงประโยชน์ที่อินเทอร์เน็ตจะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้ง 3 ด้าน นั่นก็คือConnect เชื่อมโยงคนในครอบครัว เพื่อน ให้สามารถติดต่อเห็นหน้า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น Collaborateสร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชน แชร์ข้อมูล ความรู้ ติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม และ Career ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าสินค้า ประหยัดรายจ่าย เพิ่มรายได้
น้องอัสมา นาคเสวี นักศึกษาปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยชินวัตร หนึ่งในตัวแทนเยาวชนไทยในโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และงานสัมมนาเยาวชนโลก Telenor Youth Summit 2014 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-11 ธันวาคม ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ อีกทั้งเธอยังเป็นเยาวชนที่คิดค้นและสร้างเว็บเพจการซื้อขายบนออนไลน์ให้กับกลุ่มสตรีหม้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า“สำหรับหนูแล้ว อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับชุมชนพื้นที่ที่ห่างไกล เพราะหนูได้สัมผัสมาจากการทำเว็บเพจให้กับชุมชนชาวปัตตานี สร้างให้สตรีหม้ายในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบสามารถมีอาชีพดำรงอยู่ได้ โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อ ซื้อขาย ผ้าคลุมผมของสตรีชาวมุสลิม ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พวกเขาสามารถขยายกิจการได้มากขึ้น สำหรับการเป็นอินเทอร์เน็ตอาสาให้กับชาวกระบี่ในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป หนูได้เจอกับป้าเจ้าของตลาดบ้านเก่า ที่มีสมาร์ทโฟนพร้อมเปิดรับการใช้งาน ขาดเพียงแต่ความรู้ในการใช้งานเพราะไม่เคยคิดว่ามันจะมีประโยชน์ไปมากกว่าการโทรเข้าออก จนเมื่อเราได้เขาไปสอนให้รู้จักการใช้ไลน์กรุ๊ปที่เขาสามารถเชื่อมต่อกับคนในตลาดได้หมด เวลามีปัญหาที่ต้องการประกาศ นัดหมาย หรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชุมชนตลาดบ้านเก่า ก็สามารถทำได้ ซึ่งคุณป้าก็เข้าใจแล้วทดลองทำพบว่ามันตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ดีกว่ามาก”
ทางด้านน้องบอส สิรพัชร บุญยะปาน นักศึกษาปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า“ผมได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ว่า เรากำลังช่วยกันสร้างรากฐานของคำว่า Digital Economy อย่างแท้จริง โดยปูความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตให้ทุกคนในประเทศได้รู้และเข้าใจว่ามันมีประโยชน์อย่างไร การลงพื้นที่จริงทำให้เราพบว่าการไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกกำหนดโดยอายุเท่านั้น เราพบว่ายังมีคนที่อายุน้อยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เราคิดว่าพวกเขาน่าจะรู้ดีเรื่องอินเทอร์เน็ตกลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มันเลย อย่างที่เพื่อนๆเจอและเป็นกรณีที่ผมสนใจมาก คือน้องมายด์ เด็กน้อยอายุ 15 ปี ซึ่งมีเวลาว่างก็ช่วยคุณแม่ขายผักอยู่ที่ตลาด เธอเล่าว่าเธอรู้จักอินเทอร์เน็ตว่ามันจะช่วยเธอให้มีความรู้มากขึ้นได้แต่เธอไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หรือไม่มีใครสอนเธออย่างจริงจัง ที่สำคัญเธอไม่มีโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ที่จะทำให้เธอได้ใช้อย่างแท้จริง หลังจากที่เธอได้ลองเล่นจากมือถือสมาร์ทโฟนเธอได้ใช้งานมันจริงๆ เธอสามารถสร้างกรุ้ปไลน์ขายของให้แม่ได้ จนตอนนี้หากใครที่ต้องการผักที่ร้านก็สามารถไลน์ถามได้ว่ามีผักที่จ้องการหรือไม่ ผมว่านี่แหละประโยชน์ง่ายๆของอินเทอร์เน็ตแต่สร้าง Impact ให้ครอบครัวหนึ่งได้อย่างมหาศาล”
อีกเสียงหนึ่งของเยาวชน น้องชา ธนู รุ่งโรจน์เรืองฉาย นักศึกษาปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ผมค่อนข้างตกใจในผลสำรวจที่ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทยยังต่ำกว่า 40% ซึ่งนั่นคือแรงจูงใจที่ทำให้ผมสนใจที่จะลงไปเห็นพื้นที่จริง ผมได้มีโอกาสไปเจอกับพี่พล เจ้าของร้านโชว์ห่วยในตลาดบ้านเก่า เป็นคนที่พร้อมทั้งอุปกรณ์และพื้นฐานการใช้อินเทอร์เน็ต ผมเข้าไปแนะนำให้เขาขยายโอกาสในอาชีพเขา โดยเขาสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อกับบิ๊กซีและโลตัสผ่านไลน์ เพื่อตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาสินค้า วางแผนก่อนที่จะไปซื้อมาขาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดค่าสินค้า อีกทั้งยังใช้กรุ๊ปไลน์ในการติดต่อลูกค้าเจ้าประจำ ในการอัพเดทสินค้า หรือการส่งของ โดยไม่ขาดการติดต่อเพราะสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา จากที่เคยมีความคิดว่าร้านโชว์ห่วยจะอยู่ไม่ได้เพราะห้างโมเดิร์นเทรดใหญ่ๆ แต่ตอนนี้ร้านโชว์ห่วยของพี่พลสามารถเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันได้ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต”
และบทสรุปของคุณป้าปราณีจากแม่บ้าน ปัจจุบันเธอใช้อินเทอร์เน็ตในการเป็นช่องทางให้เธอได้ฝึกปรือการทำอาหาร ตามคำแนะนำของ น้องฟ้า ชนากานต์ พนาวรกิจ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ตอนแรกคุณป้าปราณีไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาในชีวิต แต่หลังจากที่เราสอบถามจนได้รู้ว่า คุณป้าเป็นคนทำอาหารอร่อยมาก จึงได้ลองหาโอกาสให้คุณป้าโดยแนะนำให้คุณป้าเปิดไลน์แล้วบอกเพื่อนว่า สามารถสั่งอาหารได้แล้วคุณป้าจะทำแล้วไปส่ง ถือเป็นการสร้างรายได้โยไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าร้าน ดีกว่าอยู่เฉยๆ บวกกับความชอบทำอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้คุณป้าสนใจและปัจจุบันมีลูกค้าทักไลน์มาสั่งอาหารกับคุณป้าอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากภารกิจ Connect The Unconnected เยาวชนอินเทอร์เน็ตอาสาแล้ว ดีแทค ยังได้พาน้องๆ เยาวชนเข้าถึงพื้นที่ชุมชนศูนย์การเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านเขากลม พร้อมด้วยพื้นที่การทำประมงชายฝั่ง ณ หาดเจ้าอูฐ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอันน่าทึ่ง แหล่งองค์ความรู้ที่สามารถเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักได้โดยใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการสร้างชุมชน สร้างองค์ความรู้และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป