ดีแทค (Dtac) วันนี้ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจโทรคมนาคมหรือว่าขายมือถืออย่างเดียวแล้ว แต่ยังรุกมาสู่การทำธุกรรมทางการเงิน โอน-รับ-จ่ายเงิน ได้แล้ว ด้วยบริการที่เรียกว่า “แจ๋ว” บริการนี้มีดียังไง และอะไรที่ทำให้ดีแทคมองว่าน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภค นี่คือเรื่อง 10 เรื่อง น่ารู้เกี่ยวกับ “แจ๋ว”
1. บริการนี้สามารถโอน-รับ-จ่ายเงินได้สูงสุด 5,000 บาท ค่าธรรมเนียมการใช้บริการเริ่มต้นที่ 30 บาท สำหรับโอนเงิน ส่วนจ่ายบิลเริ่มต้นที่ 10-12 บาท ต่อบิล
2. สามารถใช้บริการได้ที่เอเย่นต์ของดีแทคที่มีสัญลักษณ์ “แจ๋ว” ตอนนี้มีจำนวนเอเย่นต์แล้ว 2,000 ราย สิ้นปี ดีแทคคาดหวังว่าอยากจะมีเอเย่นต์ทั้งหมด 15,000 ราย
3. วิธีการใช้งานก็คือ ลูกค้า จ่ายเงินสดให้กับเอเย่นต์ พร้อมบอกเบอร์โทรศัพท์กับหมายเลขบัตรประชาชนของผู้รับเงิน สำหรับผู้รับเงินต้องมีบัตรประชาชน กับโทรศัพท์ที่หมายเลขตรงกัน เพื่อรับเงินกับเอเย่นต์ โดยบริการนี้ไม่จำกัดว่าต้องใช้มือถือของดีแทคเท่านั้น จะค่ายไหนก็ได้ รวมทั้งคนต่างด้าวก็ใช้ใบต่างด้าวรับเงินได้
4. อินไซต์ที่ทำให้เกิดบริการนี้ขึ้นก็คือ กว่า 40% ของคนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปยังไม่มีบัญชีธนาคาร และทั่วประเทศไทยมีตำบลต่างๆ 7,000 ตำบล แต่มีธนาคารประจำตำบลเพียง 2,000 แห่ง ยังขาดอีกมากถึง 5,000 แห่ง รวมทั้งจากการที่ดีแทคทำการพูดคุยกับผู้บริโภคแบบเจาะลึก พบว่า ยังมีคนไทยส่วนหนึ่งที่กลัวการทำใช้ตู้เอทีเอ็ม
5. โมเดลของบริการนี้เทเลนอร์เคยทำมาแล้วและประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ “ปากีสถาน” ซึ่งประชากรมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงธนาคาร จึงปรับมาใช้ในประเทศไทย
6. บริการ “แจ๋ว” มี “หญิงลี ศรีจุมพล” เป็นพรีเซนเตอร์ ถือว่าเป็นงานพรีเซนเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของนักร้องลูกทุ่งที่ดังที่สุดชั่วโมงนี้ นอกเหนือจาก นิสสัน นาวาร่า และผลิตภัณฑ์ด้านความงาม ภายในงานเปิดตัวบริการ นอกจากเพลงขอใจแลกเบอร์โทรแล้ว ยังมีเพลง “แจ๋ว” ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ในอัลบั้มอยู่แล้ว และจะถูกใช้เป็นเพลงประจำแคมเปญนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงของหญิงลียังมีเพลงอื่นที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์อีก เช่น รอสายคนโสด ไลฟ์สไตล์คอลูกทุ่งสมัยนี้มีมือถือเป็นเครื่องมือแก้เหงา ดังน้ัน นี่คือพรีเซนเตอร์ที่เหมาะสมที่สุดของบริการนี้
7. การทำการตลาดของบริการนี้จะเริ่มจาก ภาพยนตร์โฆษณาที่ออกอากาศทั่วประเทศ รวมทั้งใช้สื่อดิจิตอล ทีวี ที่ขาดไม่ได้คือ การลงพื้นที่สื่อสารกับผู้บริโภคแบบเจาะลึก แนะนำทำความเข้าใจ และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจเรื่องความปลอดภัย
8. หลักเกณฑ์ของการเป็นเอเย่นต์ของบริการนี้ ประกอบด้วย ต้องมีเงินทุนหมุนเวียน วันละ 20,000 บาทขึ้นไป เปิดธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีขึ้นไป มีร้านค้าที่เป็นหลักแหล่งแน่นอน มีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน
9. ความคาดหวังของดีแทคในปีนี้เน้นไปที่การขยายจำนวนเอเย่นต์มากกว่าการโฟกัสไปที่จำนวนผู้ใช้บริการ แต่เท่าที่เริ่มต้นมาแล้วระยะหนึ่งได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยภาคใต้เป็นพื้นที่ที่การเติบโตสูงสุด เพราะศักยภาพของเอเย่นต์ ส่วนเรื่องผลตอบรับทางธุรกิจอย่างเต็มที่น่าจะมีให้เห็นชัดเจนใน 3 ปี ที่ดีแทคจะเป็นผู้นำด้านการเงินของผู้บริโภคกลุ่มนี้
10. ผู้ที่ดูแลโปรเจกท์ “แจ๋ว” คือ ปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน ก่อนร่วมงานกับดีแทค ปานเทพย์ เคยดำรงตำแหน่ง Project Leader ที่ The Boston Consulting Group ดูแลด้านการวางกลยุทธ์สำหรับโครงการต่างๆ ของธนาคารและบริษัทประกันภัยทั้งในประเทศไทยและฮ่องกง และก่อนหน้านั้น เคยผ่านประสบการณ์ด้านการพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจที่ J.P. Morgan ในฮ่องกง รวมถึงด้านวานิชธนกิจ ที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัดมหาชน
“เคานท์เตอร์เซอร์วิส” เคยพยายามทำเรื่องโอนเงินโดยให้ลูกค้า รับ-ส่งเงินกันตามสาขาของ 7-11 มาแล้ว ตั้งแต่ 9 ปีก่อน ดังตัวอย่างในภาพยนตร์โฆษณาที่ Brand Buffet ขุดมาจากรุเอามาให้ดูกัน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก จนกระทั่งปัจจุบันเน้นแค่บริการรับจ่ายค่าบริการต่างๆ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าบริการลักษณะเดียวกันนี้ของดีแทคจะเวิร์คและเป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้แบบยั่งยืนเป็นหรือไม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบัน ขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมเองก็รุกตลาด E-Banking หรือทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟน M-Banking มากขึ้น
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=Qh1GlXaTp5U[/youtube]
เย้ๆๆ อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารกับ Brand Buffet ผ่าน LINE ได้แล้ววันนี้ เพิ่มเพื่อนรัวๆ (BETA)
ที่ ID : @brandbuffet