“บิ๊กป้อม” คุมเองทางเลียบเจ้าพระยาของ “นายกฯตู่” ชูเป็นแลนด์มาร์กใหม่ประเทศไทย สั่งผู้ว่าฯ กทม.เร่งเคลียร์สิ่งกีดขวางรุกลำน้ำ สิ้นปี′58 เดินหน้าตอกเข็มเฟสแรก 14 กม. “พระราม 7-ปิ่นเกล้า” กทม.ทุ่ม 1 หมื่นล้าน เนรมิตครบทางเท้า ไบก์เลน สวนหย่อม
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งที่ 1 มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน เห็นชอบแผนโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่ กทม.เสนอ
โดยจะดำเนินการพัฒนาเฟสแรกระยะทางรวม 14 กม. มีจุดเริ่มต้นสะพานพระรามที่ 7-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง จากเต็มโครงการจะมีจุดเริ่มต้นสะพานพระรามที่ 3-สะพานพระนั่งเกล้า รวมระยะทางทั้งสองฝั่ง 50 กม. และมีการแต่งตั้งคณะทำงาน 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการฯ ด้านบริหารโครงการ, ด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์, ด้านกฎหมาย และด้านประชาสัมพันธ์
“สิ่งที่ กทม.ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดคือรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ ซึ่งจะมีการเยียวยาให้ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงแรก 14 กม. ผลสำรวจจะผ่านวัด 8 แห่ง ท่าเรือ 36 แห่ง โรงแรมและร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญขนาดใหญ่ 19 แห่ง มีประชาชนรุกล้ำริมฝั่งเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง 268 หลังคาเรือน”
ทั้งนี้ กทม.ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำแนวคิดและออกแบบเบื้องต้นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฟสแรกช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
“โครงการนี้จะสร้างสัญลักษณ์หรือแลนด์มาร์กใหม่ให้แก่ประเทศไทยและคนกรุงเทพฯใช้ประโยชน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างคุ้มค่าและทั่วถึงที่สำคัญเป็นการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศให้เกิดทัศนียภาพสวยงามเหมือนต่างประเทศ”
การออกแบบจะเป็นโครงสร้างคอนกรีตกว้างข้างละ20เมตรอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับผิวถนนอยู่ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนป้องกันน้ำ ประกอบด้วย ทางเดินเท้า ความกว้าง 7 เมตรอยู่ติดแม่น้ำ ถัดมาเป็นสวนหย่อมกว้าง 3 เมตร ทางจักรยานกว้างประมาณ 7 เมตร ทางเท้าและบันไดอยู่ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนป้องกันน้ำท่วม กว้างประมาณ 2.50 เมตร และบริเวณคุ้มแม่น้ำ ออกแบบเป็นกิจกรรมออกกำลังกายและสันทนาการ
นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัด กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นการก่อสร้างมีแนวคิดจะนำมายางพารามาเป็นส่วนผสมด้วย อยู่ที่การออกแบบรายละเอียด เนื่องจากจะมีการก่อสร้างเลนจักรยานที่จะสามารถดำเนินการได้
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า เงินลงทุนโครงการจะขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ, นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นที่ปรึกษาในด้านการใช้จ่ายงบประมาณ
“คาดว่าเฟสแรก 14 กม. ลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่า 7,000-8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะเพิ่มขนาดโครงการจากเดิมกว้างข้างละ 16 เมตรเป็นข้างละ 20 เมตร ตามแผนจะให้ลงนามสัญญาก่อสร้างสิ้นปี 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2560 ส่วนเฟสที่เหลือจะทยอยดำเนินการต่อไป”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กทม.ได้มีการสำรวจทางกายภาพเบื้องต้น พื้นที่โครงการระยะแรกจากสะพานพระรามที่ 7-สะพานพระปิ่นเกล้า ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมีสถานที่สำคัญ เช่น วัด ท่าเทียบเรือ โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ราชการ บ้านเรือน แพ ประชาชนที่รุกล้ำลำน้ำ 268 หลังคาเรือน โรงเลื่อยเอกชน
นอกจากนี้ มีศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำของวชิรพยาบาล อาคารเรือดับเพลิงของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่าวาสุกรีโรงจอดเรือพระที่นั่ง ท่าเรือวังเทเวศร์ ท่าเรือเอกชน ประตูระบายน้ำ 31 คลอง โรงแรมริเวอร์ไซด์ และอู่ซ่อมเรือเอกชน ซึ่ง กทม.จะทยอยเคลียร์พื้นที่ไม่ให้กีดขวางการก่อสร้างต่อไป
แนวทางแก้ไขปัญหา แยกเป็น 1.ท่าเรือโดยสาร ศาลาที่พักผู้โดยสาร ท่าเรือวชิรพยาบาล จะให้ย้ายท่าเรือมาอยู่ด้านหน้าสะพาน ปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสาร 2.อาคารดับเพลิงและอาคารจอดเรือ ให้ย้ายตำแหน่งมาอยู่ด้านหน้าสะพาน 3.โรงเลื่อยเอกชน จะเว้นช่องใต้ท้องช่วงเสาสะพานให้ลากซุงผ่านได้
4.อู่ซ่อมเรือเอกชน ยกระดับท้องสะพานให้เรือลอดได้ 5.ท่าวาสุกรี พิจารณาใช้ทางเชื่อมวัดราชาธิวาสราชวรวิหารออกสู่ถนนสามเสนแล้วเข้าซอยวัดเทวราชกุญชร 6.ประตูระบายน้ำ ยกระดับท้องสะพานให้เรือลอดได้ 7.ชุมชนที่รุกล้ำลำน้ำ กรณีเป็นบ้านพักอาศัยจะเจรจาหาข้อยุติร่วมกันเพื่อรื้อย้าย โดยจ่ายค่าชดเชย ซึ่งมีพื้นที่สำคัญคือชุมชนมิตรคาม 130 หลังคาเรือน ส่วนอาคารร้านอาหารให้เจรจารื้อย้ายโดยประสานกรมเจ้าท่า
Partner : ประชาชาติธุรกิจ