หลังจากประสบความสำเร็จกับ “ตลาดดอทคอม” ที่ได้ญี่ปุ่นมาลงทุนร่วมด้วยจนกลายเป็นเคสที่น่าภูมิใจของคนไทย และขยายธุรกิจใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ผ่านไป 15 ปี ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งฯ ผุดภารกิจใหม่เตรียมบุกตลาด E-business ในประเทศเพื่อนบ้าน AEC ด้วยการเปิดตัว บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (efrastructure Inc.) ควบรวม 4 บริษัทเข้าไว้ ตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง Total E-business Solution ในอาเซียน
อีคอมเมิร์ซ…มัน มา แน่
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศอาเซียนมีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทในปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.84 หมื่นล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตขึ้นถึง 31% จากปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 9.9 พันล้านบาท โดยประเทศที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุด 4 อันดับแรก คือ อินโดนีเซีย 42% ฟิลิปปินส์ 28% ไทย 22% และมาเลเซีย 14% ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 67 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวน 31.2 ล้านคน หรือประมาณ 46% แต่มีการใช้เฟซบุ๊กสูงถึง 34 ล้านคน คิดเป็นอันดับ 7 ของโลก
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุถึงภาพรวมของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ในปี 2556 มีมูลค่าถึง 7.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.17% จากปี 2555 โดยเฉพาะธุรกิจในลักษณะของผู้ประกอบการกับผู้บริโภคโดยตรง หรือ B2C มีการเติบโตมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 1.82 แสนล้านบาทจาก 1.21 แสนล้านบาทในปี 2555 ในขณะที่ธุรกิจในลักษณะผู้ประกอบการภาคเอกชนกับภาครัฐ หรือ B2G มีมูลค่า 3.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.4 แสนล้านบาทในปี 2555 ส่วนธุรกิจในลักษณะผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ หรือ B2B มีมูลค่า 2.38 แสนล้านบาท ลดลงจาก 2.82 แสนล้านบาทในปี 2555 ลดลงจาก 2.82 แสนล้านบาทในปี 2555
โดยเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ ในเมืองนอกสินค้า FMCG เริ่มเปิดออนไลน์สโตร์เอง เช่น P&G Shop หรือเคสอย่าง สมาร์ทโฟนเซี่ยวมี่ (xiaomi) ขายโทรศัพท์ผ่านออนไลน์จำนวน 5,000 เครื่องใน 75 วินาที และมีสถิติเสริมว่า 40% ของผู้ผลิตสินค้าคาดหวังว่าจะขายของตรงไปยังผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตัวแทน ดังนั้นอีคอมเมิร์ซมาแน่ๆ
ผนึกกำลังเป็น “หนึ่ง”
บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด หรือ เรียกสั้นๆว่า efra (อีฟรา) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่นำเอาบริษัทในกรุ๊ปของตลาดดอทคอม ที่กระจายกันอยู่เข้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำไปเสนอบริการให้กับลูกค้าได้ครบวงจร ได้แก่ 1. บริษัท เพย์ โซลูชั่นส์ จำกัด (Pay Solutions) ให้บริการระบบอี-คอมเมิร์ซที่ครอบคลุมการรับชำระเงินอย่างครบวงจรทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ 2. บริษัท เรดแร็งค์ จำกัด (RedRank) ให้บริการด้านการค้นหาออนไลน์ (Search Marketing) 3. บริษัท โซเชียลอิงค์ จำกัด (Zocial, Inc.) ให้บริการด้านการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนวิเคราะห์ผลข้อมูลออนไลน์ทั้งในไทยและในอาเซียน และ 4. บริษัท คอมแพริซัน จำกัด (Comparison) ให้บริการด้านการเปรียบเทียบข้อมูลราคาสินค้าออนไลน์
“การรวมกรุ๊ปเป็น อีฟราสตรัคเจอร์ เพื่อขานรับและเป็นฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ของภาครัฐที่มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาทขึ้นเป็นหนึ่งในรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจกระแสหลักในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ โดยถือเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลและระบบออนไลน์อย่างครบวงจรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยและเอเชีย”
นอกจากจะเป็นการรวมตัวของบริษัทด้าน E-Commerce แล้วยังพาร์ทเนอร์กับ ดิจิตอลเอเย่นซี่ winter egency ช่วยได้การวางแผนการตลาดดิจิตอล และผู้พัฒนาซอพต์แวร์และระบบไอที Thaiware จึงเรียกได้ว่าเป็น ผู้ให้บริการด้านธุรกิจ E-Business แบบครบวงจร (Total E-business Solution)
“การรวมตัวในแบบนี้ถือว่ายังไม่บริษัทไหนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เรามีตั้งแต่ทำเว็บไซต์ ทำการตลาด ทำเสิรช์ ทำเพย์เม้นต์ ทำวิเคราะห์ บริการทุกบริการที่เรามีมันอินทริเกตเข้าด้วยกัน อีฟราสตรัคเจอร์ จึงกลายเป็นโมเดลที่สมบรูณ์แบบ เป็น Ecosystem ที่เหมือนกับ Apple ลูกค้าเดินอยู่ในลูปทั้งหมด ” ภาวุธ กล่าว
ตลาดไทย….แค่สนามทดลอง
ภาวุธ เสริมว่า เป้าหมายของการจัดกรุ๊ปครั้งนี้ไม่ใช่อยู่แค่ในประเทศไทย แต่ต้องการนำพาบริษัทในเครือและพาร์ทเนอร์ไปออกไปต่างประเทศ พร้อมกับอยากให้เป็นตัวอย่างบริษัทไทยที่ก้าวออกไปสู่ต่างประเทศ โดยการขยายไปต่างประเทศ มีทั้งให้บริการผลิตภัณฑ์ในเครือ และขยายในแง่การซื้อบริษัทด้านออนไลน์ของต่างประเทศเข้ามาในกรุ๊ปด้วย ขณะเดียวกันเครือข่ายของ efra จะช่วยสนับสนุนให้แบรนด์ไทย หรือ SME ไทย สามารถออกไปสู่ต่างประเทศไทยง่ายขึ้น
โดยแผนขยายไปต่างประเทศเริ่มจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า ตั้งเป้าภายใน 5 ปี ตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับหนึ่ง Total E-business Solution ในอาเซียน โดยมีรายได้รวมประมาณ 400 ล้านบาท พร้อมเตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2562
“ตลาดไทยเป็นตลาดที่เราเอาไว้ทดลอง ถ้าหากมันเวิร์คต้องรีบออกไปต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจดิจิตอลพาเราออกไปต่างประเทศได้ง่าย ไม่ใช่เพียงตั้งรับอยู่แต่ในประเทศ มิฉะนั้นแล้วต่างประเทศจะเข้ามาลุยบ้านเราเอง …. ปกติมีแต่ต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการไทย เราต้องออกไปซื้อกิจการเขากลับคืนมาบ้าง”
3 สิ่งต้องเตรียมก่อนโกอินเตอร์
หากแบรนด์ที่จะต้องการออกไปนอกประเทศ ที่สำคัญ คือ 1. ผู้บริหารหรือเจ้าของแบรนด์ ต้องมีทัศนคติและวิสัยทัศน์ด้านของออนไลน์เสียก่อน ถ้าไม่เริ่มจากระดับบน ก็ไม่มีความหมาย 2. ในเมื่อเห็นโอกาสจากออนไลน์ จึงต้องกล้าลงทุน และ 3. ต้องมีทีมงานช่วยกันทำ
เย้ๆๆ อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารกับ Brand Buffet ผ่าน LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ
เพิ่มเพื่อนรัวๆ ที่ ID : @brandbuffet