มายรัม ประเทศไทย เผยวิธีรับมือการค้าไร้พรมแดนในยุค IoT ด้วยดิจิทัลโรดแมพสู่สมาร์ทคอมปะนีสำหรับผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรม ด้วยกลยุทธ์ Business Transformation ควบคู่ Marketing Innovation หลังจากกูเกิลจุดกระแสอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ขึ้นด้วยระบบปฏิบัติการใหม่ชื่อ “บริลโล (Brillo)” และโปรโตรคอลใหม่ “วีฟ (Weave)” เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าและอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพื่อสร้างอินโนเวชั่นในผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตไปอีกขั้น
นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ยุค IoT ที่เกิดขึ้นว่า “ดิจิทัลเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น มีข้อมูลและสถิติมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคเข้าใจและใช้เทคโนโลยี ในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบให้วงการอุตสาหกรรมใหญ่ๆ หลายประเภทต้องปรับตัว หัวใจสำคัญ คือ ดิจิทัลช่วยลดต้นทุนและสร้างรายได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรให้ความใส่ใจและปรับตัวให้ทัน เพื่อสร้างโอกาส ขยายตลาด ถึงเวลาแล้วที่ต้องวางนโยบายให้ครอบคลุมมากกว่าเพียงดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และก้าวสู่สมาร์ทคอมปะนีได้ดีและถูกต้องในสนามแข่งดิจิทัล-ตลาดโลกไร้พรมแดน”
หน้าที่ของดิจิทัลโซลูชั่นที่ผู้ประกอบการสามารถปรับใช้ในส่วนต่างๆ แบ่งเป็น 5 หัวข้อ ดังนี้
1. Communication การสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยใช้การตลาดดิจิทัลในหลายช่องทางนับแต่ โซเชียล เสิร์ชเอนจิ้น โมบายแคมเปญ โปรโมชั่น การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้ารับทราบสินค้าและบริการ ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้า
2. Extended Brand Value การขยายภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ให้อยู่ในใจลูกค้ามากขึ้น สร้างโอกาสและช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ช่วยขยายตลาด โดยการกระจายผ่านสื่อออนไลน์ที่รวดเร็ว
3. Effectiveness การใช้ดิจิทัลในการให้บริการและเป็นเครื่องมือในการใช้งานของลูกค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและลดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าสนใจ ช่วยปรับปรุงบริการได้เหมาะสมมากขึ้น ดิจิทัลยังช่วยให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้าและผู้บริโภค ในรูปแบบ Big Data ที่ต่อยอดมาสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการและการบริหารจัดการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
4. Services ลูกค้าย่อมประทับใจเมื่อได้รับความใส่ใจผ่านบริการและการสื่อสารที่ตรงความต้องการ การดูแลลูกค้าผ่านการสร้างลูกค้าสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นและรักในแบรนด์สินค้า
5. Sell & Conversion การใช้กลยุทธ์ดิจิทัลเพื่อช่วยในการขายหรือการลีดสู่การขายนับเป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งช่องทางดิจิทัลคอมเมิร์ซ หรือการบริหารและเชื่อมโยงการขายผ่าน OmniChannel ช่วยให้ผู้ประกอบการเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น นับเป็นช่องทางการขายที่ผู้ประกอบควรสร้างหรืออินทริเกรทเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริการผ่านร้านค้าหรือคู่ค้าที่เหมาะสม
ทั้งนี้ คุณอุไรพรยังแนะนำหลักการเตรียมตัวเพื่อวางแผนดิจิทัลโรดแมพสู่สมาร์ทคอมปะนี Digital Roadmap to Business Transformation สำหรับผู้ประกอบการไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ภายใน – ปรับองค์กรเพิ่มดิจิทัล สู่ Smart Company
1. วัดอุณหภูมิความพร้อมขององค์กร
การปรับตัวองค์กรเข้าสู่ดิจิทัล นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องปรับใช้เข้ากับส่วนที่มีอยู่แล้ว ยังต้องคำนึงถึงบุคคลากรด้วย ว่าสามารถใช้งานและประยุกต์การทำงานได้มากน้อยเพียงใด หลายองค์กรต้องเพิ่มศักยภาพพนักงานให้ทันกับเทคโนโลยีที่ใช้ให้ต่อยอดกับงานที่ทำได้เต็มที่
2. ติดอาวุธเสริมเครื่องมือพร้อมกลยุทธ์
จัดสรรเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ได้มากขึ้นจากเดิม อาทิ เดิมใช้อีเมล์ก็เพิ่มเป็นแอพพลิเคชั่นที่สื่อสารระหว่างกันได้มากขึ้น เกิดการเรียนรู้และประสานการทำงานระหว่างแผนกได้รวดเร็วขึ้น ความจำเป็นของโปรแกรมที่จัดการระบบอาจต้องมีการพัฒนาให้สอดรับกับการทำงานที่ซับซ้อนกว่าเดิม เป็นต้น
3. เร่งเครื่องขยายตลาดต่างแดน Roll out intranet by phrase
ผู้ประกอบการไทยที่ขยายตลาดสู่ประเทศสมาชิก AEC หรือ ทั่วโลก ทำให้การขยายสาขาในต่างแดนไม่ใช่เรื่องยากแล้วในโลกดิจิทัล โดยต้องคำนึงถึงการปรับตัวเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสม การทำการตลาดในท้องถิ่น ระบบปฏิบัติการรองรับ เช่น โลจิสติกส์ ระบบวางแผนการผลิตและสต๊อกสินค้า การฝึกอบรมพนักงานสู่การทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น
4. สร้างสรรค์พัฒนาพันธมิตร Extranet partner
ผลประกอบการที่ดีย่อมมาจากการมีพันธมิตรที่ดี ดังนั้นความร่วมมือกันพัฒนาสร้างสรรค์การทำงานที่นำไปสู่เป้าหมายธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ด้วย การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในส่วนต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีโลเคชั่นเบส นวัตกรรมอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ นอกจากช่วยขยายบริการและเปิดโอกาสทางการตลาดแล้ว ยังสามารถสร้างสินค้าและบริการใหม่ร่วมกับพันธมิตรอีกด้วย
5, ต่อยอดสินค้าและบริการด้วยดิจิทัล Innovation
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการให้ความสำคัญต่อการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ ควบคู่กับทีมงานที่ติดตามและพัฒนาสินค้าและบริการจากยักษ์ใหญ่ในโลกเทคโนโลยี สามารถพลิกรายได้มหาศาลให้กับองค์กรได้ด้วยสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็ว ดังนั้น ควรแบ่งทีมผู้ชำนาญขององค์กรศึกษาและสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรให้มากขึ้น เพื่อสร้าง categories ใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท
“เมื่อองค์กรมีการปรับตัวภายในสู่ Smart Company ได้ด้วยดิจิทัล จนเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในธุรกิจของตัวเองหรือการเลือกใช้ดิจิทัลโซลูชั่นที่เหมาะสมกับบริการได้แล้ว การขยายตลาดเพื่อรองรับผู้บริโภคทั่วโลกในยุค IoT ที่มีการสื่อสารกระจายได้รวดเร็วอย่างทุกวันนี้และเร็วยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากเรามีกลยุทธ์การตลาดที่ดีพร้อม นั่นหมายถึง โอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย” นางสาวอุไรพรกล่าว พร้อมแนะกลุยทธ์การตลาดที่สำคัญอีกส่วนให้ผู้ประกอบการไทยได้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่ยุค AEC และ ตลาดโลกที่กระแส IoT มาแรงในวันนี้ ดังนี้
ภายนอก – รุกตลาดไร้พรมแดน ด้วยกลยุทธ์ Marketing Innovation
1. สื่อสารดั่งใจด้วยดิจิทัล Digital Communication
ก่อนที่องค์กรจะเลือกวิธีและช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภค ควรกำหนดวัตถุประสงค์เสียก่อน เช่น เพื่อสื่อสารกับลูกค้า เพื่อขาย เพื่อดูแลลูกค้า ทำให้เลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสมและวางแผนการบริหารเนื้อหาได้กับแบรนด์สินค้า ในกรณีที่ต้องการขยายตลาดต่างแดน ควรคำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและการใช้ภาษาที่ถูกต้อง บางครั้งการมีผู้เชี่ยวชาญเป็นพันธมิตรก็จะช่วยย่นเวลาศึกษาตลาดที่ไม่คุ้นเคยได้
2. พฤติกรรมผู้บริโภคยุค IoT กับความต้องการ Self service
เป็นการดีไม่น้อย หากองค์กรสามารถพัฒนาระบบและเทคโนโลยีรองรับให้บริการลูกค้าได้ถูกต้องในทันที ยิ่งผู้บริโภคยุค IoT ต่างคุ้นชินกับการใช้งานสมาร์ทโฟนและดีไวซ์ดิจิทัลต่างๆ อยู่แล้ว องค์กรไหนที่มีจุดเด่นเช่นนี้ย่อมเป็นแบรนด์แรกๆ และมีแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในสมาร์ทโฟนลูกค้าได้ไม่ยาก เช่น ธนาคาร สายการบิน สำนักข่าว ฯลฯ
3. ใช้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงความสนใจ Conversion Analysis
ผลที่ตามมาจากการใช้ดิจิทัล คือ ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์ รู้ความต้องการที่ชัดเจนของลูกค้าและสร้างสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนทั้งโลกได้ไม่ยาก แต่การประมวลผลต้องใช้เทคนิคและการวางระบบแยกข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันความผิดพลาดได้
4. ลูกค้ารอใช้ของใหม่เสมอ Marketing Innovation
นวัตกรรมทางการตลาดใหม่ๆ ย่อมสร้างโอกาสและรายได้มากมายให้กับองค์กร แนวทางการตลาดที่สร้างสรรค์จากนักการตลาดและใช้กลยุทธ์ดิจิทัลโซลูชั่นส์เข้าด้วยกัน จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างช่องทางใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากดิจิทัลโรดแมพสู่สมาร์ทคอมปะนีที่คุณอุไรพรกล่าวถึงแล้ว ยังได้พูดถึงผลงานที่จะมีอีกเร็วๆ นี้ เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบการก่อตั้ง 20 ปีในธุรกิจบริการ Digital Solutions ครบวงจร จนปัจจุบันเป็นสมาชิกของกลุ่มมายรัมที่มีสำนักงานใน 17 ประเทศทั่วโลก
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ คุณอุไรพรเชิญชวนว่า “ขณะนี้ มายรัม (ประเทศไทย) พร้อมเปิดรับทีมงานจำนวนมาก มาร่วมสร้างสรรค์งานดิจิทัลครบวงจรสนุกๆ ที่รอท้าทายนักคิด นักการตลาด ถือเป็นโอกาสที่ดีของคนไทยในการทำงานร่วมกับเครือข่ายมายรัมที่มีอยู่ทั่วโลก เรียนรู้และเติบโตสู่การแข่งขันในวงการดิจิทัลเอเยนซี่ระดับโลกไปด้วยกัน”