คุณผู้อ่าน เคยมีประสบการณ์ร่วมทำกิจกรรม ทำประโยชน์ ให้สังคม ทั้งที่ลงมือทำด้วยตนเอง หรือเข้าร่วมกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ กันบ้างไหมคะ เชื่อว่าสิ่งที่ท่านได้รับไม่ใช่เพียงแค่ ความสุขใจที่เห็นรอยยิ้ม และความสุขจากคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน หรือสังคมที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่การได้เรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชนนั้นยังได้ให้แง่คิดและสอนการใช้ชีวิตให้กับเราเองเช่นกัน
ประสบการณ์นี้ถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์โฆษณาชุด “พลังปัญญา” ซึ่งเล่าเรื่องผ่านกลุ่มพนักงาน SCG ที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมของ SCG และได้ลงพื้นที่ทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับชุมชน เช่น โครงการนวัตกรรมฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน จากผืนดินที่แห้งแล้งเพราะความเค็มของเกลือทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้แต่ปัจจุบันได้พลิกฟื้น ผลผลิตงอกงาม ชาวบ้านมีรายได้พอเพียง มีความสุขในชุมชน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจาก “พลังปัญญา” การเปลี่ยนวิธีคิด คิดนอกรอบ เพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ
เรื่องราวในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ได้ถ่ายทอดจากชีวิตจริงของ พ่อบุญเชิด เกษตรจาก อ.พิมาย จ.นครราชสีมาที่ไม่ยึดติดกับความคิดเดิมๆแต่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเช่น ในเมื่อดินเค็มปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่ดี ก็ลองคิดเปลี่ยนมาปลูกพืชอย่างอื่นที่ทนดินเค็มแทนการทำนาอย่างเดียว ต่อด้วย แม่เดือนเพ็ญ จาก อ.พิมาย ก็ใช้วิธีการสังเกตเรื่องใกล้ตัว เช่นมูลวัว ทำให้ผลผลิตเติบโตจึงพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์สูตรพิเศษเพิ่มผลผลิตในพื้นที่เกษตรของชุมชน โดยชาวบ้านทั้ง 3 ท่านนี้ได้น้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืน จากตัวอย่างของชุมชนเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับผู้ชมได้เห็นว่า “พลังปัญญา” สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนให้ขึ้นได้
ทั้งนี้ โครงการ “พลังปัญญา” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มูลนิธิมั่นพัฒนา SCG กองทัพบก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหอการค้าไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้นำชุมชน ผ่านการอบรม การศึกษาดูงาน ตลอดจนการฝึกฝนด้านอาชีพ ปัจจุบันมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน และกำลังขยายเครือข่ายสู่ชุมชนต่างๆ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการพลังปัญญา ได้ที่ https://www.facebook.com/palungpanya