ครั้งแรกของวงการดิจิทัลเอเยนซี่ไทย ที่มีผลสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนล่าสุดด้วยแอพพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ ที่ถอดรหัสผู้บริโภคไทยเป็นสถิติที่น่าทึ่งหลายๆ อย่าง คงไม่มีใครที่จะค้านว่ายุคนี้เป็นยุคของโลกดิจิทัลแล้วจริงๆ Brand Buffet พามาเจาะลึกเบื้องหลังแบบ Exclusive Interview จาก พี่พอลลี่ หรือ อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด ที่ใจดีแชร์ข้อมูลผลสำรวจนี้ให้เหล่านักการตลาดได้หยิบใช้กันฟรีๆ พร้อมทั้งอัพเดทความเคลื่อนไหวกันหน่อย
อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล CEO & Sr. Consultant บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด
Q : อัพเดทสถานการณ์เรื่องดิจิตอลในบ้านเราสักหน่อย
A : จำนวนการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมีส่วนช่วยทำให้วงการการตลาดและสื่อสารของเรานำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้มากขึ้น ยิ่งในยุคดิจิทัลที่สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ติดตัวผู้บริโภคเกือบทุกกลุ่ม
สถิติของพฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคไทยก็สูงและเป็นที่จับตามองในระดับต้นๆ ของโลก อาทิ ยอดการใช้งานโซเชียลมีเดีย และการใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ทำให้บรรดายักษ์ใหญ่วงการดิจิทัลอย่าง Google Facebook Line หันมาสนใจและเสนอบริการที่หลากหลายให้เข้ากับผู้บริโภคไทย จนถึงขั้นเปิดสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งดีที่ทำให้นักการตลาดบ้านเรามีเครื่องมือส่งเสริมการตลาดที่หลากหลายได้ตามความต้องการ
ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานการณ์ที่สร้างสรรค์ให้นักคิดและนักการตลาดได้ทำงานและสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่ท้าทายความสามารถมากขึ้น ครีเอทีฟต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้ผลงานดิจิทัล แอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ หรือแคมเปญออนไลน์ของไทยน่าสนุกมากยิ่งขึ้นด้วย
Q: หลังจากเป็น มายรัม มีการเปลี่ยนแปลงและการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ?
A: ปีนี้ การเปลี่ยนแปลงในองค์กร คือ “ธอมัสไอเดีย” ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WPP Group ภายใต้ชื่อกลุ่ม “มายรัม” เครือข่ายดิจิทัลเอเยนซี่ชั้นนำ ที่มีสำนักงาน 46 แห่งใน 20 ประเทศทั่วโลก ทำให้เราได้เห็นภาพและโครงสร้างที่สำคัญของดิจิทัลเอเยนซี่ในทุกมุมโลกได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการให้บริการ มาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น รวมทั้งการสร้างสรรค์งานร่วมกันในเครือข่าย เพื่อตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น
ที่ผ่านมา มายรัม (ประเทศไทย) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าในอาเซียนด้วย โดยร่วมกับ เครือข่ายมายรัมด้วยกัน ซึ่งเรามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและครีเอทีฟในส่วนงานแอพพลิเคชั่นที่ใช้สนับสนุนงานขายของลูกค้า
ล่าสุด ได้สร้างสรรค์และพัฒนาแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey ขึ้น สำหรับการสำรวจการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ที่แม่นยำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการสำรวจและรวบรวมสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในประเทศไทย และเผยแพร่ให้แก่นักการตลาดและหน่วยงานที่สนใจ นำไปใช้งานได้
ส่วนการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เก็บสถิติและข้อมูลการใช้งานสมาร์ทโฟนนี้ จะนำไปใช้งานในเครือข่ายของมายรัมประเทศอื่นๆ อีก ทำให้ข้อมูลที่ได้ขยายผลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับนักการตลาดและผู้ประกอบการอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับทิศทางของบริษัท คือ การมุ่งสู่การเป็นดิจิทัลเอเยนซี่คุณภาพของไทยและเป็นหนึ่งกำลังสำคัญของกลุ่มมายรัม ในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและสังคมที่ก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวค่ะ
Q : พูดถึง Digital Life Survey มีจุดเด่นกว่าการสำรวจอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมในตลาดอย่างไร?
A : การเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผ่านมา เราอาจใช้แบบสอบถามออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างกรอกแบบสอบถาม หรือ ใช้วิธีสัมภาษณ์ ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง ไม่ว่าด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม
มายรัม (ประเทศไทย) เราเองก็ต้องทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่แล้วเพื่อทำงานกับลูกค้า จึงได้ออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey ขึ้นมา เพื่อใช้แอพนี้ให้กับกลุ่มตัวอย่างได้ดาวน์โหลดและเก็บข้อมูลการใช้งานจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสเพื่อ unlock หรือการสัมผัสหน้าจอเพื่อใช้งาน และการเข้าใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้เราได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคไทยได้จริงๆ ในเวลาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งพบว่าตัวเลขที่ออกมานั้น น่าทึ่งมากๆ และ Digital Life Survey นี้ สามารถต่อยอดการเก็บข้อมูลใช้กับกลุ่มที่หลากหลายได้ แล้วแต่ว่าเป้าหมายของการเก็บข้อมูลและเนื้อหาที่ต้องการศึกษาเป็นเรื่องอะไร ซึ่งเราจะมีข้อมูลใหม่ๆ มาเผยแพร่กันอีกเร็วๆ นี้ ติดตามได้ที่ mirum.co.th/paper ได้
Q: นักการตลาดจะนำเอาข้อมูลที่ได้มาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง?
A: ประเด็นแรกที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที คือ เรื่องช่องทางและเวลาในการสื่อสาร เพราะรายงานที่เรารวบรวมข้อมูลการใช้งานและรูปแบบของกลุ่มตัวอย่างที่ได้ ทำให้นักการตลาดรู้ว่า ควรใช้ช่องทางไหน สื่อสารในเวลาใด เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษา และเจ้าของกิจการจะนิยมอะไรมากกว่า หรือ แม้แต่กลุ่มข้าราชการ หรือ กลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ เป็นต้น
ลำดับต่อมา น่าจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่ต้องคิดและพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลให้ได้ การได้ข้อมูลเบื้องต้นที่มายรัมเผยแพร่ออกมา น่าจะจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการได้ต่อยอดกับบริการ หรือสินค้าของตัวเองได้
และสุดท้ายคือ กลุ่มเอเยนซี่ โดยเฉพาะดิจิทัลเอเยนซี่เองก็ต้องพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม รวมทั้งได้แนวทางวางกลยุทธ์ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเปิดรับข้อมูลได้แม่นยำขึ้น
Q : รูปแบบการโฆษณาบนสมาร์ทโฟนยอดนิยม
A: เท่าที่เห็นเป็นการใช้ช่องทางผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook และแอพพลิเคชั่นอย่าง Line และ YouTube ซึ่งกลยุทธ์การตลาดและรูปแบบการโฆษณาขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและงบประมาณของเจ้าของสินค้านั้นๆ ส่วนการวัดความสำเร็จน่าจะขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของเนื้อหาและงบการผลิตชิ้นงาน และความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่ถูกที่ ถูกเวลา ก็จะช่วยสร้างกระแสได้เร็วขึ้น
คิดว่ารูปแบบการโฆษณาบนสมาร์ทโฟนจะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น และมีการใช้เครื่องมือและช่องทางสื่อสารเชื่อมโยงกันไปหมด มีทั้งการ Connect และ Engage และส่งเสริมการขายจนถึง Mobile Commerce และชำระเงินได้ในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว
พี่พอลลี่ปิดท้ายสำหรับผู้อ่าน BrandBuffet ว่า “ใครถอดรหัสพฤติกรรมผู้บริโภคกับการใช้งานสมาร์ทโฟนได้ชัดเจนและแม่นยำกว่า ถือว่า ได้เปรียบทางการตลาดไปแล้ว การปรับมุมคิดสู่ชีวิตดิจิทัลได้ คือกลยุทธ์ในการเปิดประตูความสำเร็จให้ธุรกิจที่มีอยู่”
ตัวอย่างผลสำรวจ
Line ถูกเปิดใช้งานมากที่สุด เฉลี่ย 261 นาที / คน / วัน
ช่วงเวลาที่สมาร์ทโฟนถูกใช้บ่อยมากที่สุด คือ 16.01- 20.00 น.
เราสัมผัสหน้าจอมากกว่า 434 ครั้งต่อชั่วโมง
ดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจฉบับเต็มและ Infographics Collection ได้ที่ mirum.co.th/paper
[Exclusive Interview]
[xyz-ihs snippet=”LINE”]