ใครๆ ก็ชอบการมีเจ้านายหรือหัวหน้าที่น่ารักนิสัยดี เพราะการทำงานในองค์กร นอกจากความเก่งในการทำงานและบริหารจัดการแล้ว ความใจดีมีเมตตาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เราจึงรวบรวมแนวคิดดีๆ ในการเป็นเจ้านายที่ลูกน้องน่าจะชื่นชอบมาฝากกัน แน่นอนว่ามันไม่ง่ายแต่ก็เริ่มต้นได้ไม่ยาก
1.อย่าพยายามเด่น
การแอคอาร์ตทำตัวเป็นบอสแบบเต็มขั้นนั้นไม่ช่วยอะไร การเป็นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์อะไรที่จำเป็นต้องแตกต่างจากคนอื่น คุณไม่จำเป็นต้องวางอำนาจ ทำตัวให้ใหญ่ ใส่สูท กินหรู อยู่ดี มีที่จอดรถพิเศษเพื่อให้คนรู้ว่าคุณเป็นหัวหน้า สิ่งที่คุณควรเลือกทำเพื่อให้คุณแตกต่างจากพนักงานทั่วไปคือวิธีการปฏิบัติงานและทัศนคติมากกว่า เช่น การมาก่อน กลับทีหลัง เสนอความคิดที่เฉียบขาด และความสามารถในการพูดคุยเกลี้ยกล่อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำตัวสนิทสนมกับลูกน้อง นั่นต่างหากคือสิ่งที่คุณควรทำ และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองต๊อกต๋อย จะกลัวอะไรในเมื่อคุณไม่ได้ต๊อกต๋อยจริงนี่นา
2.จำไว้เสมอว่าที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว
คุณและลูกน้องเป็นทีมเดียวกัน หรือเป็นแม้กระทั่งเพื่อนสนิท แต่พวกเขาไม่ใช่ครอบครัวคุณ ความผูกพันในบริษัทเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่อย่าให้มันเหนียวแน่นจนเกินไปถึงขั้นคุณเห็นพวกเขาเป็นครอบครัว คุณสามารถเล่นมุกกันได้ตามประสา แต่คำแนะนำและบทลงโทษก็ต้องมีตามบทบาทในฐานะเจ้านาย ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามากเกินไปก็ส่งผลตรงกันข้ามได้เช่นกัน
3.รับคำวิจารณ์ได้เสมอ
นี่เป็นเรื่องยากอย่างหนึ่งของการเป็นเจ้านาย มากกว่าที่ลูกน้องทั่วไปเป็นซะด้วย เจ้านายหลายคนพยายามจัดการให้มีการบอกเล่าฟีดแบ็กในการทำงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อไป แต่หลายครั้งมันเป็นไปเพื่อรับฟังคำชม แต่เฉยเมยต่อคำวิจารณ์จากพนักงานที่กล้าพอที่จะพูด จริงๆ แล้วคำติสำคัญกว่าคำชม หากคุณเป็นเจ้านาย ควรมีวาระในการเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคุณได้ อาจเป็นการให้ส่งฟีดแบ็กแบบไม่ระบุชื่อ และหลังจากนั้นสิ่งที่คุณต้องทำคือแสดงให้พวกเจาเห็นว่าคุณรับฟัง และปรับปรุงข้อเสียนั้นๆ ไปในทางที่ดีขึ้น
4.อย่าตกเป็นเป้านิ่ง
การเป็นหัวหน้าคุณต้องทำตัวให้มีตัวตนเพียงพอที่ลูกน้องจะรู้จักและหามุมที่พวกเขาชอบในตัวคุณ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ใกล้ขิดเกินไป ต้องมีระยะห่างให้พวกเขาไม่สามารถหาจุดที่จะไม่ชอบคุณได้เช่นกัน พยายามเข้าถึงพวกเขาโดยการหาเรื่องดีๆ มาชวนคุย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบแต่ต้องเว้นระยะเสมอ หากคุณเป็นคนตลกก็ทำตัวตลกโดยธรรมชาติ อย่าให้พวกเขาทำให้คุณเป็นตัวตลก และอย่าเล่นมุกพร่ำเพรื่อ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะขำในมุกแบบเดียวกัน
5.ใช้คู่แข่งเป็นแรงผลักดัน
พูดถึงคู่แข่งให้ลูกน้องฟังเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งให้คุณและทีมมีแรงฮึดสู้ เพราะศัตรูนอกบ้านนั้นแข็งแกร่ง หมั่นพูดถึงคู่ต่อสู้ให้ลูกน้องฟังและชวนกันมาหทางเอาชนะ เพื่อให้พวกเขาปลุกสัญชาตญาณการต่อสู้และความต้องการเอาชนะขึ้นมาเป็นแรงผลักดันให้ทั้งทีมเกิดความร่วมแรงร่วมใจ โดยเฉพาะเวลาที่กำลังจะมีโปรเจคใหญ่ หรือปล่อยสินค้าใหม่ของบริษัท การเอาคู่แข่งมาอ้างอิงเป็นหลักจิตวิทยาในการพูดเพื่อปลุกใจอย่างหนึ่ง มนุษย์ทุกคนชอบการเอาชนะ และเรื่องของฮีโร่กับตัวร้ายเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคย คุณแค่ต้องปั้นตัวร้ายให้ลูกน้องเห็นอย่างชัดเจน และนั่นจะเพิ่มโอกาสในการเป็นฮีโร่ให้คุณไปในตัว
6.ใครๆ ก็ชอบของขวัญ
การให้ของเล็กๆ น้อยๆ แต่ลูกน้องในโอกาสพิเศษๆ ก็ยังจำเป็นไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย มันแสดงถึงความเอาใจใส่ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และจะดีมากถ้าของที่ให้เป็นของที่จะทำให้พวกเขาประทับใจและจดจำคุณแบบไม่มีวันลืม
7.ขอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ
ทุกคนชอบถูกเป็นที่ต้องการ และอยากมีความสำคัญ โดยเฉพาะกับหัวหน้าด้วยแล้ว ลูกน้องส่วนใหญ่มักรู้สึกดีที่ได้แสดงผลงานต่อหน้าเจ้านาย แม้มันจะเล็กน้อยก็ตาม หมั่นขอความช่วยเหลือบางอย่างจากลูกน้องของคุณที่คุณมั่นใจว่าเขาสามารถทำมันได้ง่ายในเวลาไม่นาน ให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์และสำคัญสำหรับคุณ เช่น ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายไอที ให้ช่วยอธิบายวิธีการทำงานของแอปพลิเคชั่นตัวใหม่ให้คุณฟัง เป็นหนึ่งในวิธีง่ายๆ ที่คุณทำได้กับลูกน้องทุกคน
8.ขอโทษอย่างเป็นทางการต่อความผิดของคุณ
การขอโทษไม่ใช่เรื่องน่าอาย ยิ่งตำแหน่งของคนเป็นหัวหน้าด้วยแล้ว การขอโทษอย่างเป็นทางการให้เป็นที่รับรู้เป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดความผิดพลาด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของความผิดพลาดนั้นๆ ด้วย เช่น หากคุณแค่กินขนมหมดตู้เย็นก็ไม่จำเป็นต้องแถลงข่าวในบริษัท แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญระดับองค์กร การขอโทษอย่างเป็นทางการของผู้บริหาร แสดงถึงความจริงใจ และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่หัวหน้าที่ดีควรมี
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM
Credit Photo: NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand