ชาบูชิ (Shabushi) หนึ่งในแบรนด์หัวหอกของธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้าประกาศปรับคอนเซ็ปต์เมนูใหม่ครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปี เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค สภาพการแข่งขันตลาด และ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ปฯ เล่าว่า
ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านร่วม 6 เดือน มีการวางแผนและเตรียมตัวปรับเมนูและวัตถุดิบอาหารใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีประสบการณ์ทานอาหารญี่ปุ่นเชี่ยวชาญมากขึ้น ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบเฉพาะ (Specialty) มีให้เลือกมากมายและหลายราคา รวมไปถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องคิดก่อนจะตัดสินใจเข้าร้านหรือซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยการปรับเมนูครั้งนี้จะเกาะเทรนด์ของคนรักสุขภาพ มีการปรับลดเมนูที่ไม่ดีต่อสุขภาพลง เช่น ลดเมนูลูกชุิ้นที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตเยอะ เพิ่มเมนูสุขภาพเข้าไป เช่น ข้าวโพดหวาน เห็ดชิเมจิ ปลาดอลลี่ แมงกะพรุน เป็นต้น พร้อมกับเสริมวัตถุดิบคุณภาพและอาหารเมนูที่พรีเมี่ยมมากขึ้นกว่าเดิม (New Menu Specials) เช่น เนื้อฮารามิ (เนื้อวัวส่วนพื้นท้อง) ปลาดอลลี่ แมงกระพรุน เอบิเทนแซลมอนมากิ ซูชิกุ้งชุบแป้งทอด ฯลฯ โดยมีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 40 บาท จาก 359 เป็น 399 บาท
“กลยุทธ์การปรับตัวใหญ่ครั้งนี้ในรอบ 16 ปี ภายใต้แคมเปญ Shabushi and So Much More ชาบู ซูชิ และอีกมากมายล้นสายพาน เนื่องจากคนไทยเรียนรู้การรรับประทานอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น แยกรับประทานแบบร้านเฉพาะๆมากขึ้น มี Fragment ความชอบเฉพาะส่วนตัว ธุรกิจจึงต้องปรับตัว ไม่งั้นลูกค้าจะไปหาร้านเฉพาะเหล่านั้น เน้นสร้างคุณค่าทั้งสินค้าและบริการที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อให้ชาบูชิกลายเป็นพื้นที่ของแฟนพันธุ์แท้ตัวจริงเรื่องชาบู ขณะเดียวกันชาบูชิ มีการบาลานซ์สัดส่วนโภชนการให้สมดุล ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ให้ลูกค้า ครั้งนี้เราจัดทัพให้ทั้งด้านสุขภาพและคุณภาพอาหารมากขึ้น ขณะที่ตามท้องตลาดมีให้เลือกเยอะแยะก็จริงแต่ไม่มีคุณภาพได้แต่ความอิ่ม”
“สำหรับประเด็นเรื่องการปรับราคา อาจจะกระทบในช่วงต้นๆ หากดูจาก Pattern ในการใช้เงิน ตัวอย่าง ฟู๊ดคอร์ตเดิม 40-50 บาท ปัจจุบัน 60-70 แต่คนกินก็ยังกินเหมือนเดิม ราคามันขึ้นไปตามกลไก ช่วงแรกอาจจะทราบว่าขึ้นราคา แต่พอสักระยะถ้าพวกเค้าเชื่อมั่นและรู้รับในคุณภาพของสินค้าและบริการที่เราปรับใหม่เค้าจะยอมจ่าย และเราจะได้ลูกค้าคุณภาพตัวจริงกลับ ไม่ใช่มาเฉพาะการลดราคา การลดราคามันหมดมนต์เสน่ห์ไปแล้ว สมัยก่อนลด 70% คนมาเพี๊ยบ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย การลดราคามันต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอะไรบางอย่าง ผู้บริโภคปัจจุบันเค้ารู้ว่าต้องใช้จ่ายอะไร ดังนั้นการลดราคาไม่ได้ช่วยอะไร” ไพศาล กล่าว
มูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยราว 23,500 ล้านบาท และมีแนวโน้มโตขึ้น 10-15% ต่อปี ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 15% โดย 80% เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า โดยไตรมาสแรกธุรกิจร้านอาหารทำรายได่ 1,425 ล้านบาท (94%) และ อาหารพร้อมทาน 91 ล้านบาท (6%) ตั้งเป้าภาพรวมกลุ่มธุรกิจอาหารของ โออิชิ กรุ๊ป ในปี 2559 นี้คาดการณ์รายได้อยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นราว 7% จากปีที่ผ่านมา (หรือ 6,096 ล้านบาท)
ทั้งนี้ร้านอาหารในเครือ โออิชิ กรุ๊ป ไม่ว่าจะเป็น โออิชิ บุฟเฟ่ต์ , โออิชิ ราเมน , คาคาชิ ก็เตรียมปรับคอนเซ็ปต์และเมนูใหม่เช่นกันเร็วๆนี้
เหตุผลที่เลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่น
1.รสชาติ 2. คุณภาพ 3. ความสะอาด 4. ชอบประเทศญี่ปุ่น 5. มีความปลอดภัยสูง
5 อันดับอาหารต่างประเทศ ที่คนอาศัยในกรุงเทพ ประเทศไทยชื่นชอบ
1.อาหารญี่ปุ่น 2. อาหารจีน 3.อาหารเกาหลี 4. อาหารอเมริกัน 5.อาหารฝรั่งเศส