เป็นเวลา 43 ปีแล้วที่หนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” และ “มหาสนุก” ของบรรลือสาส์น ในเครือบันลือกรุ๊ป โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือ สร้างความฮาให้กับคนไทยทุกเพศทุกวัย เรียกได้ว่าเป็นความฮาสามัญประจำบ้านของคนไทย และมีคาแรกเตอร์ยอดฮิตอย่างปังปอนด์ หนูหิ่น คุณมิลค์ และ บ.ก.วิติ๊ด อยู่ในความทรงจำอันแสนสนุกของใครหลายคน
แต่มาวันนี้ โลกได้เปลี่ยนผ่านจากยุค Analog ไปสู่ยุค Digital ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อมองไปยัง “บันลือกรุ๊ป” ที่เติบโตมาจากธุรกิจหนังสือมายาวนาน ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ แตกกิ่งก้านธุรกิจออกไปสร้างสรรค์ Content ในหลากหลายรูปแบบ และกระจายแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมให้ได้มากที่สุด
ในงานเปิดนิทรรศการ “อุตสา ฮา กรรม : ผลิตขำ ทำเงิน” คุณวิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการหนังสือเครือบรรลือสาส์น หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “บ.ก.วิติ๊ด” ซึ่งกว่าสิบปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ปรากฏตัวต่อสื่อ ครั้งนี้ได้ควงคู่ลูกสาวคนโต คุณพิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทผู้มารับไม้ต่อ มาร่วมพูดคุยกับสื่อ เจาะลึกถึงการปรับตัวขององค์กร
แตกเพื่อโต
ภาพรวมธุรกิจบันลือกรุ๊ปในปัจจุบัน ?
คุณวิธิต : ตอนนี้บันลือสาส์นมีอายุ 60 ปี ขณะที่ขายหัวเราะ และมหาสนุกครบ 43 ปี มีจำนวนตีพิมพ์รวมกันกว่า 3,000 ฉบับ เป็นระยะเวลายาวนาน แต่ขณะนี้วงการสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระดาษค่อนข้างที่มีปัญหาอย่างมาก ในการที่จะแข่งขันกับสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม “บันลือกรุ๊ป” ได้เตรียมตัวเองมานานพอสมควร เพื่อปรับตัวรองรับทุกๆ สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คุณพิมพ์พิชา : บันลือกรุ๊ป Position ตัวเอง ไม่ได้เป็นสื่อประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่เป็น “สำนักสร้างสรรค์คอนเทนต์” หรือ “Content Provider” หมายความว่าเราทำ Content ได้ทุกรูปแบบ และพา Content ของเราไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นการต่อยอดจากรากเดิมที่แข็งแรงของเรา ไปสู่สื่อใหม่ๆ ที่ทำให้บันลือกรุ๊ป มีความครบวงจรยิ่งขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจบันลือกรุ๊ป แบ่งออกเป็น กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ ภายใต้การบริหารเครือบริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ มีสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ที่ผลิตขายหัวเราะ มหาสนุก ปังปอนด์ สาวดอกไม้ หนูหิ่น, สำนักพิมพ์แซลมอล (Salmon Books), สำนักพิมพ์บันลือ (Banlue Books), สำนักพิมพ์บัน (Bunbooks) และ นิตยสาร Giraffe เป็น Free Copy
– วิธิตา แอนิเมชั่น เป็นทั้งผู้ผลิต 2D และ 3D Animation และ Character Hub ที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับเครือบันลือกรุ๊ป และของลูกค้าข้างนอก ทั้งรูปแบบ Animation Line Sticker
– แซลมอลเฮ้าส์ โปรดักส์ชั่น เฮ้าส์ ที่ผลิต Motion Content ทั้งของในเครือบันลือ และลูกค้า ที่ผ่านมามีผลงานในรูปแบบ Viral Video เช่น New York 1st Time, ป้าไสว, ลุงสมาน (ของ TCDC), โฆษณาไอศกรีมเนสท์เล่ และมิวสิควีดีโอของแสตมป์ และแบมแบมจาก The Voice
– กลุ่มแพลตฟอร์มดิจิตอล มี เว็บไซต์ minimore.com นำเสนอ Online Content เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างคนสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน ภาพวาด คลิปวีดีโอ ภาพยนตร์ หรือเพลง กับกลุ่มผู้อ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และวัยเริ่มทำงาน และเป็นแพลตฟอร์มขายหนังสือทั้งของสำนักพิมพ์ในเครือบันลือกรุ๊ป และสำนักพิมพ์ต่างๆ และเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดตัวเว็บไซต์ข่าวสาร “The MATTER” และ Online Community สำหรับช่างภาพ “PIXNIQ”
นอกจากนี้เริ่มขยายงานด้านการจัดอีเวนท์ เริ่มต้นด้วยการจับมือกับ TCDC จัดนิทรรศการ “อุตสา ฮา กรรม : ผลิตขำ ทำเงิน” เพราะมองว่า Content ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบแมสเสจ และช่องทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้สร้างสรรค์ผลงาน กับผู้ชม
คุณวิธิต : สาเหตุที่บรรลือสาส์น มาร่วมกับ TCDC เพราะอยากให้คนข้างนอกรู้ว่าเราทำงานกันอย่างไร ทุ่มเทกันอย่างไร เพราะที่ผ่านมา ไม่ค่อยให้ข่าวกับสื่อเท่าไร หลายคนไม่เคยเจอ และไม่รู้ว่า บ.ก. นักเขียนทำงานกันอย่างไร ซึ่งปกติแล้ว ชีวิตการทำงานของ บ.ก. หนังสือหรือนิตยสาร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 – 15 ปี ต้องเปลี่ยน บ.ก. แต่นี่ 43 ปีแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานจริงๆ เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นใหม่ และตอนนี้เป็นโลกของอินเตอร์เน็ต และสื่อออนไลน์ทั้งหลาย ถึงเวลาที่บริษัทต้องปรับ
มีวิธีทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ ยังคงสนใจขายหัวเราะ มหาสนุก ในวันที่สื่อออนไลน์เข้ามามากมาย ?
คุณพิมพ์พิชา : เทคโนโลยีที่เข้ามา เทรนด์ของคนอ่านที่เปลี่ยนไป ทำให้เราต้องปรับตัวไปสู่ความหลากหลายช่องทางมากขึ้น จากเมื่อก่อนทางเลือกในการเสพสื่อน้อยกว่านี้ มีโรงหนังไม่กี่โรง ทีวีไม่กี่ช่อง แต่ตอนนี้มีสื่อออนไลน์เข้ามา ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น และการเปิดรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศก็มากขึ้น ดังนั้น บริษัทต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อตามให้ทันว่าตอนนี้คนชอบอะไร สนใจอะไร
ขณะที่ด้าน Humour เราให้ความสำคัญกับ “มิติความเป็นมนุษย์” ไม่ว่ายุคไหน ถ้าเรารู้ว่ามิติของความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร เช่น เราแซวอาชีพหมอ เราเข้าใจมิติของความเป็นหมอ และพลิกมุมมอง ตีให้ถูกจุดรู้ว่าล้อตรงนี้ ผู้อ่านขำชัวร์ ตรงนี้ยังเหมือนเดิม คนไม่ได้เปลี่ยนไป ตราบใดที่นักเขียนเราสามารถหามุมมองที่เข้าใจมิติของมนุษย์ได้
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ความสนใจของคนจะ Niche ขึ้น และกระจายหลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องขยายทางเลือกของเราไปอยู่ในทุกๆ ทางเลือกของเขา และพัฒนา Content ให้ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้ชม ผู้อ่านมากที่สุด
“บันลือกรุ๊ป ต่อยอดโปรเจคทางธุรกิจ ออกมาสู่ช่องทางใหม่ๆ เช่น รายการทีวี อีเวนท์ หรือเป็น Animation เราเข้าใจว่าทางเลือกในการเสพสื่อของคนมากขึ้น แต่เราก็ขยายของเราไปทุกสื่อ อย่างเช่นการจัดอีเวนท์ครั้งนี้ เราได้กลุ่มแฟนคลับขายหัวเราะ มหาสนุก ขณะเดียวกันเป็นการขยายไปยังคนกลุ่มใหม่ กลุ่มที่เป็นแฟน TCDC วัยรุ่น กลุ่มนักคิด และคนเริ่มทำงาน
นอกจากนี้เราดูว่าช่องทางไหนที่สามารถไปอีกได้บ้าง ทั้งบริษัทในเครือ ทีมงาน หรือแม้กระทั่งการต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาของเรา เช่น คาแรกเตอร์หนูหิ่น, ปังปอนด์ อย่างปังปอนด์ ทำ School Program เยอะมาก ปีหนึ่งเป็น 200 โรงเรียน หรือต่อยอดในรูปแบบ Line Sticker ทำให้สร้างฐานคนรุ่นใหม่ให้สนใจคาแรกเตอร์เหล่านี้ได้เรื่อยๆ และไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงการพาคาแรกเตอร์ของเราไปต่างประเทศ เช่น ขายลิขสิทธิ์ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ หรือหนัง Animation ปังปอนด์ ฉายในหลายประเทศ เช่น จีน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 7 ประเทศ
ส่วนขายหัวเราะ มหาสนุก มีการปรับปรุงเนื้อหาอยู่เสมอ เรามีทั้งแก๊กคลาสสิก และแก๊กกระแส ที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเดิมก็ชอบ นอกจากนี้สื่อต่างๆ ของบริษัทในเครือ มีไว้เพื่อรองรับคนที่เติบโตขึ้น เช่น ตอนเด็ก ชอบอ่านการ์ตูน แต่พอโตขึ้นมา เขาไม่ได้อ่านการ์ตูนแล้ว เราก็มีสำนักพิมพ์แซลมอนรองรับเขา หรือเขาโตขึ้นมา ดู YouTube เรามีแซลมอนเฮ้าส์รองรับเขา ดังนั้นทั้งโปรดักส์ มีการต่อยอดและพัฒนาไม่หยุด ส่วนช่องทางต่างๆ เราก็พัฒนาไว้รองรับทุกอย่าง ”
คุณวิธิต : เราต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ด้วยว่า คนรุ่นใหม่ขี้บ่น ขี้รำคาญ อย่างโฆษณาใน YouTube แค่ 5 วินาที เขากด Skip เลย ดังนั้นการทำ Content เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ทำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคนสนใจ อย่างโฆษณาบางตัว ผู้ชมรู้ว่าเป็นโฆษณา แต่ Content โดนใจเขา ก็ยังส่งต่อให้เพื่อนได้ดู
อารมณ์ขัน สร้างมูลค่า
ความสนุก ความเฮฮา เป็น DNA ของคนไทยและสังคมไทยมายาวนาน ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือสร้างธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ เหมือนเช่นที่บันลือกรุ๊ปมองเห็นโอกาสของธุรกิจขายเสียงหัวเราะเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว
คุณพิมพ์พิชา : โอกาสของธุรกิจขำขัน มีมาก เพราะโดยพื้นฐานแล้วสังคมไทย บริบทของเรา ชอบเรื่องอารมณ์ขัน มีเรื่องความบันเทิงแฝงอยู่ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานบวช งานวัด งานอีเวนท์ หรือแม้แต่งานขายของ งานโฆษณา
ดินแดนของอารมณ์ขัน จึงกว้างมาก และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ในต่างประเทศก็เช่นกัน เพราะอารมณ์ขัน คือ Universal เป็นเรื่องสากล ทุกคนสามารถขำเรื่องเดียวกันได้ ถ้าเรากำจัดกำแพงเรื่องภาษาและวัฒนธรรมออกไป ซึ่งขายหัวเราะมีหลายแก๊ก ที่สามารถเล่นได้ โดยที่คนต่างชาติเข้าใจได้ และอารมณ์ขันที่เป็นเอกลักษณ์ของขายหัวเราะ เราทำให้เนื้อหาเบาลง และคนเปิดใจรับมากขึ้น
เช่น คาแรกเตอร์ปังปอนด์ เป็นพรีเซนเตอร์ให้องค์กรรัฐ และองค์กรเอกชนหลายแห่ง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเด็กได้ง่ายขึ้น หรือหนูหิ่น เป็นพรีเซนเตอร์ด้านการเงิน อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องการกู้ยืม ดอกเบี้ย ซึ่งด้วยคาแรกเตอร์ของหนูหิ่น ซื่อๆ เป็นมิตรจริงใจ ทำให้คนเข้าใจได้ คาแรกเตอร์ของเราเหมาะมากที่จะเป็นสื่อ เพื่อส่งข้อความออกไปสู่ทุกคน เพราะฉะนั้นอยู่ที่วิธีการใช้มากกว่าว่าเรามองออกหรือเปล่า ใช้เป็นหรือเปล่า
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน นักเขียนต้องปรับตัวด้วยหรือเปล่า ?
คุณพิมพ์พิชา : เมื่อก่อน กระบวนการทำงาน นักเขียนส่งงานให้ บ.ก. จากนั้น บ.ก. อ่าน แล้วเอาไปตีพิมพ์ แต่ปัจจุบันเราเสริมทีม Creative เพื่อให้เนื้อหามีความสดใหม่ และคัดเลือกแก๊กมาลงสื่อออนไลน์ ซึ่งสื่อประเภทนี้ต้องการความเร็ว รวมทั้งมีทีมกราฟิก จากเมื่อก่อนต้องรอต้นฉบับจากนักเขียน แล้วถึงลงสีด้วยมือ แต่ขณะนี้มีทีมกราฟิก ที่สามารถลงสีในคอมพิวเตอร์ได้เลย ทำให้รูปแบบการทำงานของเรา ไม่ Passive เหมือนในอดีต แต่มีการสื่อสาร พูดคุยกัน ทำให้มีความเป็น Teamwork มากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้นักเขียนไปโฟกัสด้าน Creativity ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากร ทั้งวัตถุดิบ บุคคลากร และเทคโนโลยี ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราต้องบาลานซ์กันระหว่าง “ฝีมือ” กับ “ไอเดีย” อย่างนักเขียน ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งสัดส่วนออกเป็น 40 : 40 : 20 หมายความว่า 40% คือฝีมือ, 40% คือไอเดีย และ 20% คือความเก๋าในการนำเสนอ” คุณวิธิต กล่าวทิ้งท้าย
เพราะส่วนผสมที่ลงตัวเช่นนี้ บวกกับการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้ “บันลือกรุ๊ป” ถึงยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิต Content ชั้นนำของไทย
สำหรับใครที่สนใจชมนิทรรศการ “อุตสา ฮา กรรม : ผลิตขำ ทำเงิน” สามารถไปชมได้ระหว่าง 15 กรกฎาคม – 31 ตุลาคมนี้ ที่ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม ถือเป็นนิทรรศการส่งท้ายก่อนที่ TCDC จะย้ายไปอยู่ที่ไปรษณีย์กลาง บางรักในเดือนมีนาคม 2017
ย้อนตำนาน “บันลือกรุ๊ป”
ธุรกิจของกลุ่มบันลือกรุ๊ป เริ่มขึ้นจากวิสัยทัศน์อันกว้
ปีพุทธศักราช 2498 (ค.ศ.1955) เป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งต่
ปีพุทธศักราช 2516 (ค.ศ.1973) บ.ก.วิธิต อุตสาหจิต ในวัย 18 ปี ได้สร้างชื่อเสียงให้กับสำนักพิ
นอกจากนั้นยังมอบหมายให้ บริษัท บรรลือสาส์น จำกัด เป็นผู้ดูแลการจัดจำหน่ายหนังสื
(ข้อมูลจาก http://www.banluegroup.com/)