HomeBrand Move !!ค้าปลีกเวียดนามเดือด ! ทุนไทย – เอเชียบุกหนัก เปลี่ยนผ่าน “ร้านดั้งเดิม” สู่ “Modern Trade”

ค้าปลีกเวียดนามเดือด ! ทุนไทย – เอเชียบุกหนัก เปลี่ยนผ่าน “ร้านดั้งเดิม” สู่ “Modern Trade”

แชร์ :

Resize shutterstock_435326455

เวลานี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน “เวียดนาม” กำลังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่บรรดาบริษัทต่างชาติ รวมทั้งไทย ต้องการปักธงโดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งตลาดอันน่าหอมหวน ที่ดึงดูดทั้งกลุ่มทุนไทย และเอเชีย แห่กันเข้าไปลงทุน นั่นเพราะ…

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. เศรษฐกิจที่โตวันโตคืน ขณะเดียวกันภาครัฐสนับสนุนการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศ
2. เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ย่อมตามมาด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น มีกำลังจับจ่ายใช้สอย
3. จำนวนประชากรสูงถึง 90 กว่าล้านคน โดย 70% เป็นหนุ่มสาววัยทำงาน
4. การขยายตัวของความเป็นเมือง หรือ Urbanization

ถอดรหัสโครงสร้างค้าปลีกเวียดนาม
เพื่อให้เห็นสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกเวียดนามในปัจจุบันที่ชัดเจนขึ้น ให้ลองนึกย้อนไปถึงธุรกิจค้าปลีกประเทศไทยในอดีตเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่ “ร้านค้าปลีกดั้งเดิม” หรือ “ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” (Traditional Trade) มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม เพราะด้วยจำนวนร้านค้าที่มีมากมาย กระจายตามหมู่บ้าน ชุมชน ทุกตรอกซอกซอย ซึ่งทุกวันนี้ในเวียดนามยังคงเป็นเช่นนี้อยู่

RResize shutterstock_346066127

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ระบุว่า “ร้านค้าขนาดเล็ก” ยังคงเป็นผู้นำ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 96% ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมดในเวียดนาม เนื่องจากมีจำนวนมาก กระจายตัวทั้งในเขตเมืองและชนบท

ในขณะที่ร้านค้าดั้งเดิมยังเป็นฐานใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกัน “ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่” หรือ “Modern Trade” ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ได้ฉายภาพ 3 เซกเมนต์หลักของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนาม ได้แก่

ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) เป็นช่องทางกระจายสินค้าที่เติบโตรวดเร็วที่สุด ถึงแม้ว่ายอดขายจะไม่ได้สูงสุดเมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกประเภท Hypermarkets แต่สามารถจับกลุ่มลูกค้าประเภทวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวในเขตเมืองได้

ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarkets) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวเวียดนามเริ่มให้ความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมในการเลือกซื้อสินค้าที่ดี พื้นที่กว้างขวาง มีการจัดวางที่เป็นระบบระเบียบ ทำให้หาของง่าย มีของให้เลือกหลากหลายทั้งประเภทสินค้าและยี่ห้อ สะดวกเป็น One-Stop-Shop

ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarkets) มีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า Convenience Stores และ Hypermarkets ถือเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่ขยายตัวต่ำสุดรองจากร้านขายเฉพาะอย่าง (food/drink/tabacco specialists) ด้วยมี Hypermarket เป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่ง เพราะมีความได้เปรียบทั้งด้านพื้นที่ที่กว้างขวางและ ความหลากหลายของสินค้า และไม่มีความได้เปรียบหรือจุดเด่นเหนือร้านค้าปลีกประเภท Traditional ที่อยู่ใกล้ชิด เขตที่พักอาศัยในระยะที่เดินถึง

กลุ่มทุนไทย – เอเชีย เดินทัพลุย Modern Trade

ในฝั่งธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนาม ผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มนี้ ต้องยกให้กับ “Saigon Union of Trading Cooperatives” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น ดำเนินการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในหลายเซกเมนต์ ภายใต้ชื่อ “CO.OP” เช่น CO.OP Mart เป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ต, CO.OP Food Store

ขณะเดียวกันมี Modern Trade ของภาคเอกชน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะจากไทย และเอเชีย

กลุ่มทุนไทย ที่เอาจริงกับการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม คือ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ที่วางเป้าหมายว่า เวียดนามจะเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของกลุ่มเซ็นทรัล รองจากไทย

ความได้เปรียบทางการแข่งขันสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในตลาดเวียดนาม หรือแม้แต่ตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อยู่ที่การมีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเซกเมนต์ต่างๆ และหลากหลายรูปแบบสาขาอยู่ในมือ ทำให้การบุกตลาดต่างประเทศ จึงสามารถนำค้าปลีกเซกเมนต์ใดก็ตาม และรูปแบบสาขาที่เห็นว่าเหมาะกับโลเกชั่นและสภาพแวดล้อมโดยรวมของตลาด ไปปรับใช้เข้ากับท้องถิ่นนั้นได้เลย

ดังจะเห็นได้จาก การก่อตั้ง กลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม ในปี 2554 ที่เริ่มต้นรุกตลาด Sport Retail เปิดตัวร้านซูเปอร์สปอร์ต (Supersports) แห่งแรกในเวียดนาม ด้วยพื้นที่กว่า 450 ตร.ม. ที่ห้างสรรพสินค้า Vincom Center Ba Trieu ห้างหรูอันดับหนึ่งของกรุงฮานอย รวมทั้งเปิดร้านคร๊อคส์ (Crocs) และ ร้านนิวบาลานซ์ (New Balance) ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 26 สโตร์ แบ่งเป็น ร้านซูเปอร์สปอร์ต 11 สโตร์ ร้านคร๊อคส์ 9 สโตร์ นิวบาลานซ์ 5 สโตร์ และสปีโด้ (Speedo) 1 สโตร์

ต่อมาใน ปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลได้สร้างความฮือฮากับวงการค้าปลีกด้วยการเปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์ จำนวน 2 สาขา คือ สาขาฮานอย และ สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ หวังเจาะประชากรเวียดนามที่มีกว่า 90 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ซึ่งมีกำลังซื้อสูงประมาณร้อยละ 60

จากนั้นเมื่อเดือนมกราคม 2558 กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเวียดนาม “เหงียน คิม เทรดดิ้ง” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์อันดับ 1 ของเวียดนาม ทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทักษะทางค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ประเทศเวียดนาม รวมทั้งเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ ลานชี มาร์ท (Lanchi Mart) ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในเวียดนามเหนือ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 ปัจจุบันมี 14 สาขา

Resize Big C VN -photo

ล่าสุดเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ กลุ่มเหงียนคิม ประกาศซื้อกิจการ บิ๊กซี เวียดนาม อย่างมูลค่า 920 ล้านยูโร มีทั้งสิ้น 43 สาขา แบ่งเป็น Hypermarkets 33 สาขา และ Convenience Stores 10 สาขา เสริมทัพความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลในการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้แข็งแกร่งบนพื้นฐานของสินค้าเวียดนามที่ถูกใจผู้บริโภคชาวเวียดนาม และในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เข้าซื้อกิจการออนไลน์แฟชั่น ซาโลร่า เวียดนาม และ ไทย (Zalora) 

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของไทยที่เดินหน้าลงทุนในเวียดนามต่อเนื่อง คือ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ต้องการสร้างความครบวงจรในระบบ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิต, กลางน้ำ ระบบจัดจำหน่าย และ ปลายน้ำ คือ การมีช่องทางจัดจำหน่ายของตนเอง ซึ่งการรุกธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มทีซีซี ทราบเป็นอย่างดีว่าตลาดในประเทศไทย มีรายใหญ่ที่มีฐานมั่นคง แข็งแกร่ง ยากที่จะเจาะตลาด

ดังนั้น สเตปแรกของการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ทีซีซี กรุ๊ปจึงเล็งเป้าหมายไปที่ตลาดต่างประเทศก่อนจะรุกคืบเข้ามาในไทย และตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่เข้าไปลงทุน คือ “เวียดนาม” โดยเมื่อหลายปีก่อน ได้ให้ “บีเจซี” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ผนึกกำลังกับ “ภูไท กรุ๊ป” กลุ่มทุนท้องถิ่นของเวียดนาม ที่เป็นผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ ลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ใช้ชื่อ “B’s mart” ขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ และล่าสุด “ทีซีซี โฮลดิ้ง” เข้าซื้อกิจการค้าส่ง “Metro Cash & Carry Vietnam”

Resize B's Mart

ขณะที่ กลุ่มทุนรายใหญ่จากเอเชีย มี 2 รายสำคัญ คือ หนึ่ง กลุ่ม Lotte Mart เป็น Discount Store หรือ Hypermarket รายใหญ่จากเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีประมาณ 12 สาขาตามเมืองใหญ่ของเวียดนาม และตั้งเป้ามี 60 สาขา ภายในปี 2563

สอง กลุ่ม AEON เป็น Retail Developer รายใหญ่จากญี่ปุ่น ที่มี Store Format ครอบคลุมตั้งแต่ขนาดใหญ่ อย่าง AEON Mall ไปจนถึงขนาดเล็กที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้น จึงมีความได้เปรียบในการบุกตลาดต่างประเทศ ที่สามารถยก Store Format ที่เหมาะกับโลเกชั่นและสภาพตลาดธุรกิจค้าปลีกในประเทศนั้นๆ มาปรับใช้ได้เลย อย่างในเวียดนาม กลุ่ม AEON มีทั้งเซกเมนต์ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และช้อปปิ้ง มอลล์

Resize shutterstock_250184638

เวลานี้อุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมของประเทศเวียดนาม “ร้านค้าปลีกดั้งเดิม” ยังคงเป็นฐานใหญ่ของตลาด และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าขนาดเล็ก แต่ทิศทางพัฒนาการค้าปลีกในเวียดนามภายใน 10 ปีนับจากนี้ “ค้าปลีกสมัยใหม่” จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคท้องถิ่นอย่างแน่นอน โดยความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ จะเริ่มเห็นชัดเจนในเขตเมืองก่อน

 

Credit Photo (ภาพเปิด, ร้านค้าปลีกดั้งเดิม, AEON Citimart) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like