กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยความสำเร็จของการจัดสัมมนา Symposium 2016 ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลต์สำคัญในงาน TILOG-LOGISTIX 2016 โดยได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเข้าร่วมฟังแนวคิดโลจิสติกส์ 4.0 จากผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน ว่า ปัจจุบันโลจิสติกส์ได้พัฒนามาถึงยุค 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลก
“การสัมมนาในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมสัมมนาอย่างคับคั่ง ทำให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 4.0 มากยิ่งขึ้น จากการฟังมุมมอง แนวคิด และความสำเร็จของผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
ทางด้าน นายลอช เนเกิล รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี จาก EffizienzCluster Management, GmbH ประเทศเยอรมนี ที่มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “100 Innovations for the Logistics of Tomorrow” ได้อธิบายถึงการปฏิวัติโลจิสติกส์ 4.0 ว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเคลื่อนย้ายของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงความต้องการของตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างระบบการเชื่อมต่อข้อมูล การบริหารจัดการ และการขนส่งอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายพูนิช กุมาร์ ผู้จัดการใหญ่ Amazon Global Selling ประเทศสิงคโปร์ ได้บรรยายในหัวข้อ How Technologies and Logistics Enhance Amazon’s Success กล่าวถึงความสำเร็จของ อเมซอน ว่า เกิดจากการพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ค้าและลูกค้าที่มีมากถึง 285 ล้านราย ใน 11 ประเทศทั่วโลก ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาโลจิสติกส์ให้ทันสมัย ตลอดจนเพิ่มช่องทางจัดส่งสินค้าที่หลากหลายและเหมาะสมกับการกระจายสินค้าในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการใช้โดรนส่งสินค้า เพื่อให้สามารถส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้อย่างรวดเร็วและตรงเวลา นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนสินค้า และพัฒนาการบริหารจัดการคลังสินค้าเพื่อความแม่นยำในการจัดเก็บ
ในส่วนของ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารการขนส่งระหว่างประเทศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรยายในหัวข้อ Challenges and Next Steps for Thailand กล่าวถึงแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับโลจิสติกส์ 4.0 ว่า สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันด้านการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้องมีการพัฒนาโลจิสติกส์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังต้องมีการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญ คือ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศสมาชิกให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
ทางด้านความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา Symposium 2016 : Logistics 4.0 ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มองว่ามีความน่าสนใจในด้านเนื้อหาการบรรยายที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และธุรกิจการค้า เพราะทำให้มองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุค 4.0 ได้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งวิทยากรได้นำเสนอข้อมูลและแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้พัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะการแข่งขัน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า