แนวพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตรทรงให้ความสำคัญกับการสร้าง “ความยั่งยืน” อย่างแท้จริง ครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” นั่นคือ เกษตรกร ที่ได้รับองค์ความรู้ด้านการเกษตร นำไปต่อยอดและพัฒนาการเพาะปลูก เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ ไปจนถึง “กลางน้ำ” คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจ และ “ปลายน้ำ” คือ การพัฒนาร้านค้าปลีกต้นแบบ สำหรับเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคได้มาหาซื้อสินค้าคุณภาพดี ปลอดภัย ในราคาเหมาะสม
รูปแบบการพัฒนาเช่นนี้ ทำให้เกิด “การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรมีรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในระดับประเทศ ก็มีแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพ ขณะที่ผู้บริโภค นอกจากได้สินค้าคุณภาพดีแล้ว ยังได้รับความสุขการเป็นผู้ให้ เพราะในที่สุดแล้วรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ก็จะย้อนกลับไปสู่ต้นน้ำ และกลางน้ำในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป
“ดอยคำ” (Doi Kham) และ “ร้านค้าปลีกโกลเด้น เพลซ” (Golden Place) 2 มรดกล้ำค่าและสองตัวอย่างของโครงการพระราชดำริ ที่ทุกวันนี้มีรากฐานอันแข็งแกร่ง และมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคไทย
“ดอยคำ” แบรนด์น้ำมะเขือเทศเบอร์ 1 ในใจคนไทย
จากพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากของราษฎร และปัญหาการปลูกฝิ่น อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในปีพุทธศักราช 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ”สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” แห่งแรกขึ้น เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชผักผลไม้ที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ”
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) เน้นการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคมด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
ที่ผ่านมาแบรนด์ “ดอยคำ” ผลิตและจำหน่ายผลผลิตที่ได้รับการแปรรูป โดยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูง น่าเชื่อถือ แต่ที่สร้างปรากฏการณ์ในวงการตลาดประเทศไทยมากที่สุดต้องยกให้กับ “น้ำมะเขือเทศ”
คุณสรภัส สุตเธียรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าถึงเบื้องหลังว่า “เพราะการน้ำผลไม้ชนิดอื่นๆ มีอยู่แล้วในตลาด ดังนั้นเราต้องหาจุดเด่นที่ยังไม่มีใครทำ แล้วมะเขือเทศของเรามีคุณภาพดี ตั้งแต่วัตถุดิบ ทำให้เรามั่นใจ” จากรายได้ปีที่แล้วของดอยคำ 1,480 ล้านบาท น้ำผลไม้มีรายได้ 70% โดยน้ำมะเขือเทศมีสัดส่วนถึง 60% ของรายได้ที่มาจากน้ำผลไม้ โดยถ้าหากพิจารณาจากมาร์เก็ตแชร์เฉพาะน้ำมะเขือเทศ ถือว่าอยู่ในอันดับ 1 ของตลาด
และหลังจากที่ผู้บริโภคเข้าใจถึงสารอาหารที่อยู่ภายในผลิตภัณฑ์น้ำมะเขือเทศดอยคำ ก็นำมาสู่ความนิยม อย่างไรก็ตามมีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับรสชาติของดอยคำ จึงเป็นที่มาของการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์“ดอยคำ โฉมใหม่ หัวใจเดิม” ปรับโลโก้ และแพ็กเก็จจิ้ง เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น
จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าจะอายุ 35 ปีขึ้นไป พร้อมแคมเปญ “คำแถลงขอโทษจากดอยคำ” ที่ความจริงแล้วมุ่งเน้นบอกถึงที่มาของวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิต ว่าทำไมรสชาติที่หลายคนบ่นกันจึงเป็นสินค้าที่ให้คุณค่ากับร่างกายมากที่สุด อย่างไรก็ตามมีอีกหนึ่งรสชาติเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่สะดวกดื่มรสชาติดั้งเดิม
ปัจจุบันดอยคำมีโรงงานโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ / โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย / โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร / โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น นับจากนี้แบรนด์ “ดอยคำ” ได้บุกตลาดต่างประเทศ ในลักษณะมีเอเยนต์ โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา และลาว
ในประเทศไทย “ดอยคำ” จะเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยเปิดแฟรนไชส์ จากเดิมที่มีร้านค้าดอยคำราว 40 ร้าน ก็จะมี “ครอบครัวดอยคำ” โดยมุ่งหวังว่าจังหวัดที่ ร้านดอยคำไม่ได้เปิดกิจการด้วยตัวเองก็จะมี “ครอบครัวดอยคำ” เข้าไปตอบสนองความต้องการจังหวัดละ 1 ร้าน โดยตอนนี้เริ่มต้นทดลองแล้ว 3 แห่งที่ ลำปาง เชียงราย และสกลนคร โดยร้านแฟรนไชส์จะมีให้เลือก 3 โมเดลตามขนาดและกำลังการลงทุน
เหตุผลที่ทำให้แบรนด์ดอยคำ กลายเป็นแบรนด์น้ำมะเขือเทศอันดับ 1 และนำพาแบรนด์กับสินค้าอื่นๆ ไปอยู่ในใจของผู้บริโภค ก็มาจากพระราชวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างอาชีพให้กับชาวเขา อีกทั้งความมุ่งมั่นที่อยากจะนำผลิตภัณฑ์คุณภาพดีมาเป็นทางเลือกให้กับคนไทยนั่นเอง
“โกลเด้น เพลซ” ตู้เย็นชุมชนเพื่อคนไทย
เนื่องด้วยโครงการพระราชดำริ สามารถผลิตสินค้าคุณภาพได้หลากหลาย แต่สินค้าเหล่านี้ยังกระจายไปไม่ถึงผู้บริโภคเท่าที่ควร นี่จึงเป็นที่มาของร้าน “โกลเด้น เพลซ” (Golden Place) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท “บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์” นับเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบร้านค้าปลีกเพื่อคนไทย และเป็นช่องทางให้สินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูป ได้มีโอกาสพบผู้บริโภคที่แท้จริง โดยเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2544 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์การดำเนินการ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ
1. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ที่จะให้ร้าน “โกลเด้น เพลซ” เป็นต้นแบบของร้านค้าปลีกของไทยที่มีรูปแบบและการจัดการที่เหมาะสมกับประชาชนไทย โดยให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านผู้บริโภค ที่ได้ซื้อสินค้าดี มีคุณภาพมาตรฐาน ราคายุติธรรม และด้านผู้ผลิตที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้โดยไม่ขาดทุน
2.ร้าน “โกลเด้น เพลซ” เป็นแหล่งรวบรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากโครงการตามพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษตามมาตรฐานสากล สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตและจิตที่ผ่องใส สินค้าต้องมีคุณภาพต่อชีวิต สินค้ามีความหลากหลาย และราคาไม่แพง
3. เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าปลอดภัยจากสารพิษ สินค้าโครงการตามพระราชดำริ สินค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และสินค้าในโครงการอื่นๆ ที่สนับสนุนเกษตรกรกลุ่มแม่บ้านต่างๆ รวมทั้งสินอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะและตรวจสอบคุณภาพถึงแหล่งผลิต ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีให้กับเกษตรกรเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล
4. วิสัยทัศน์ของพระองค์ท่านทรงต้องการให้ “โกลเด้น เพลซ” เป็นต้นแบบและขยายสาขาได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต
การดำเนินการของ “โกลเด้น เพลซ” เปรียบได้กับเป็น “ตู้เย็น” ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยปัจจุบันมีกว่า 10 สาขา เช่น สาขาพระราม 9, สาขาซีพี ทาวเวอร์, สาขาสะพานสูง, สาขาศิริราช 1, สาขาศิริราช 2, สาขาศูนย์ราชการ, สาขาหัวหิน 1, สาขาหัวหิน 2, สาขาสนามเสือป่า, สาขา ม.เกษตร