Line เติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมาด้วยมูลค่าทางตลาดเกือบ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เสริมพลังความแข็งแกร่งในฐานบริษัทผู้นำทางเทคโนโลยีให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยได้รับการจัดอันดับจาก MIT Technology Review ติด 1 ใน 50 บริษัทที่ฉลาดที่สุดในอันดับที่สูงกว่ายักษ์ใหญ่อย่าง IBM และ Intel รวมไปถึงสตาร์ทอัพโตไว อย่าง Slack
“เราพยายามกันอย่างหนัก สิ่งสำคัญคือการได้ตัวคนเก่งมาอยู่กับเรา และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพวกเขา” Euivin Park Chief Technology Officer (CTO) ของ Line กล่าว
Euivin เข้าร่วมทำงานกับ Naver บริษัทแม่ของ Line หลังจากการเข้าซื้อบริษัทเดิมที่เธอทำงานอยู่ในปี 2006 หลังจากนั้นเธอจึงย้ายจากเกาหลีมาทำงานที่ญี่ปุ่นในปี 2007 เพื่อร่วมสร้างบริษัทที่กลายมาเป็น Line ในที่สุด Euivin เล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเธอเลือกเรียนด้านโปรแกรมมิ่งเพราะเป็นกระแสในช่วงนั้น และสร้างเกมของตัวเองเกมแรกขึ้นมาลักษณะการเล่นคล้ายเตอติส หลังเรียนจบทำงานเกี่ยวกับ System Maintenance และพบว่างานด้าน Hardware ไม่ใช่ตัวเธอ จึงกลับมาทำงานด้าน Software อีกครั้ง โดยเข้าทำงานที่บริษัท Neowiz Games ในปี 2002 และย้ายมาทำบริษัท 1noon ในปี 2005
Euivin บอกเราถึงวิธีการบริหารในฐานะ CTO ของเธอ ที่เรียกมันว่า “มากาเซรุ สไตล์” (makaseru style) ที่มาจากภาษาญี่ปุ่นหมายถึงปล่อยให้แต่ละคนรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เธอเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทีมแข็งแกร่งมี 3 อย่าง 1.มีความเป็นเจ้าของในงาน 2.รับความเสี่ยง 3.เปิดรับ
เธอยกตัวอย่างถึงลูกเล่นน่ารักๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนคริสมาสต์ปีที่แล้วที่มีหิมะตกในหน้าจอแชทของไลน์ ซึ่งมันเป็นไอเดียที่มาจากวิศวกร iOS คนหนึ่งของ Line ที่ทุกคนเปิดรับในไอเดีย ในการเข้าเป็นพนักงานใหม่จะได้รับ handbook ที่ในนั้นมีข้อความปลุกใจพนักงานว่า “ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ คุณมีคนที่เต็มไปด้วยความสามารถและประสบการณ์อยู่รอบตัว” ตอนนี้ไลน์จึงไม่เพียงแค่แบ่งปันความรู้ภายใน แต่ยังแชร์ประสบการณ์ให้กับคนในวงการด้วยกันอีกด้วย
นอกจากนี้ Euivin ยังเน้นเรื่องการเปิดรับ “การเปิดรับเป็นเรื่องสำคัญมาก เรามีงานจำนวนมากที่ต้องทำ และเราไม่สามารถทำมันได้ตามลำพัง” อย่างไรก็ตามเรื่องการเปิดรับนี้ ไลน์เองก็ยังมีมุมที่จำเป็นต้องเปิดให้กว้างขึ้นในบางจุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ Euivin พยายามทำมาโดยตลอด หากแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการคิดคำนวนว่าการเปิดที่ว่านั้นควรเปิดในระดับไหน แต่หลังจากแอปพลิเคชั่นส่งข้อความอื่นๆ เริ่มเปิดการสาธิต APIs ไลน์จึงรู้ตัวว่าต้องเปิดตัวเองให้กว้างขึ้น ในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วไลน์ก็ตัดสินใจให้นักพัฒนาเข้าถึงแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ยังประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าได้พัฒนาบอทสำหรับนักพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตามในการก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไลน์จำเป็นต้องดึงดูดวิศวกรระดับโลก (ผู้ที่มักได้รับข้อเสนอแบบเดียวกันจาก Google และ Facebook) เข้าร่วมงานให้ได้ Euivin เชื่อว่าปัจจุบันบริษัทในอเมริกาส่วนใหญ่ถึงจุดที่เติบโตเต็มที่แล้ว มันจะท้าทายกว่าสำหรับพวกเขาในการร่วมงานกับบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างไลน์ แล้วมาลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน
และเมื่อถึงวันที่ไลน์ไปถึงจุดที่แข็งแรงและไม่โตต่อแล้ว Euivin เองก็คงพาตัวเองไปหาความท้าทายใหม่ๆ ในที่อื่นๆ เช่นเดียวกัน
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM