แม้จะก้าวเท้าเข้าสู่ธุรกิจ Retail Developer อย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับการพัฒนาโครงการ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” (ก่อนหน้านี้กลุ่มทีซีซี ซื้อศูนย์การค้าไอที “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” เมื่อปี 2531 แต่ไม่ได้โฟกัสมากนัก) แต่ด้วยความได้เปรียบที่มี “ที่ดิน” บนทำเลทองอยู่ในมือหลายแห่ง บวกกับมีความแข็งแกร่งด้าน “เงินลงทุน” และการเพิ่ม “กองกำลังพล” ในด้านนี้ จึงทำให้เพียงไม่กี่ปี ชื่อของ “ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์” บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กลายเป็นหนึ่งใน Major Player วงการค้าปลีกในไทยที่น่าจับตามอง
ถึงวันนี้มีโครงการทั้งหมด 8 โครงการ ภายใต้ 5 แบรนด์ ประกอบด้วย
– โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อท์ ปัจจุบันมียอด Traffic 35,000 – 40,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% และ คนไทย 30%
– ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ปัจจุบันมียอด Traffic 30,000 คนต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทย และกลุ่ม Expat
– ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ล่าสุดได้ปรับโฉมครั้งใหญ่ ทำให้สามารถเพิ่มยอดลูกค้าจาก 12,000 คนต่อวัน เป็น 20,000 คนต่อวัน และคาดว่าปีหน้าหลังจากเติมแม่เหล็กใหม่ๆ เข้าไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นลูกค้าต่างชาติ 50% คนไทย 50% และ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่
– ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ ปัจจุบันมียอด Traffic 40,000 คนต่อวัน ลูกค้าคนไทย 70% และต่างชาติ 30%
– บ็อกซ์ สเปซ รัชโยธิน 5,000 คนต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทย
รวมพื้นที่ขายทั้ง 8 โครงการ ไม่ต่ำกว่า 170,000 ตารางเมตร และคาดว่าในปี 2559 จะมีรายได้ 2,000 ล้านบาทจากโครงการเหล่านี้
ผ่ายุทธศาสตร์ธุรกิจ ขยายทั่วไทย และนำ “เอเชียทีค” ออกต่างประเทศ
“ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์” เผยยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใน 10 ปีข้างหน้า (2560 – 2569) รุกขยายโครงการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วง 5 ปีแรก (2560 – 2564) เป็นการใช้ที่ดินที่มีอยู่แล้ว (Land Bank) มาพัฒนาโครงการ แต่ถ้าแปลนไหนที่พื้นที่ยังไม่พอที่จะขยายโครงการ ก็ต้องซื้อเพิ่ม โดยวางงบก่อสร้าง 20,000 ล้านบาท ภายใต้ 5 แบรนด์ที่มีอยู่ ประกอบด้วย เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่วางแผนลงทุนโรงแรม รองรับกลุ่ม MICE, พันธุ์ทิพย์, เกตเวย์ บางซื่อ และพระราม 2, การขยายเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์ เฟส 2 เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เป็นแลนด์มาร์คของย่านสยามสแควร์, บ็อกซ์ สเปซ สรรพาวุธ (บางนา) ขนาด 30 ไร่
“ในปี 2560 จะยังไม่มีการเปิดโครงการใหม่ แต่เป็นการปรับพื้นที่ภายในแต่ละศูนย์ฯ ให้สามารถเติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้ายุคปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ ที่จะปรับโฉมในปีหน้า ได้แก่ พันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการโฉมใหม่ได้ภายในกลางปี 2560 นอกจากนั้นยังคงใช้งบประมาณลงทุนในขั้นตอนพัฒนาโครงการ อาทิ ศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อ ส่วนขยายเพิ่มเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อท์ และ บ็อกซ์ สเปซ สรรพาวุธ รวมใช้งบลงทุน 2,200 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้ทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 ล้านบาท” คุณณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มไลฟ์สไตล์ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด กล่าว
ขณะที่ 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 140%
2. ลงทุนพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด ในช่วง 5 ปีหลัง (2565 – 2569) วางงบก่อสร้างรวม 20,000 ล้านบาท โดยมีทั้งการขยายแบรนด์เดิม นั่นคือ “เอเชียทีค” ตั้งเป้าหมายต้องเปิดทุกหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต, เชียงใหม่, พัทยา, หาดใหญ่, อุดรธานี ซึ่งแต่ละแห่งใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 – 25 ไร่ขึ้นไป โดยขณะนี้บริษัทมี Land Bank หลายที่แล้ว
และ “เปิดโครงการค้าปลีกแบรนด์ใหม่” โดยแผนระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) วางเป้าหมายเปิดให้ครอบคลุม 30 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งอาจต้องซื้อที่ดินเพิ่มอีกหลายทำเล ขณะที่ถ้าตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนภายใน 10 ปีนี้ คาดว่าจะเปิดได้ 7 – 8 โครงการก่อน มีพื้นที่ขายอยู่ที่ 15,000 – 20,000 ตารางเมตรต่อโครงการ
สำหรับแนวคิดเบื้องต้นของโครงการค้าปลีกแบรนด์ใหม่ จะดึง “พันธุ์ทิพย์” และ “เซ็นเตอร์พอยท์” ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้า มา Converse เป็นผู้เช่ารายใหญ่ (Anchor) ภายในโครงการแบรนด์ใหม่นี้ พร้อมทั้งนำ “บิ๊กซี” พาร์ทเนอร์ธุรกิจในทีซีซี กรุ๊ปเข้ามาอยู่ในโครงการเช่นกัน และกำลังคุยกับผู้เช่ารายใหญ่อีก 2 ราย คือ ด้านสวนสนุก กับ ด้านความบันเทิง
“ถ้าผู้บริหารระดับสูงของทีซีซี กรุ๊ป เร่งแผนโครงการค้าปลีกแบรนด์ใหม่ให้เร็วขึ้น ทางทีมทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิร์ด คงต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น โดยไม่แน่ว่าภายใน 4 – 5 ปี หรือปีหน้าอาจได้เห็นแบรนด์น้องใหม่ก็เป็นไปได้”
3. การขยายแบรนด์ “เอเชียทีค” ออกสู่ต่างประเทศ โดยสเตปแรกเป็นแถบประเทศเพื่อนบ้านไทย ไม่จำเป็นต้องอยู่บนโลเกชั่นริมน้ำเสมอไป ซึ่งการขยายแบรนด์ไปยังต่างประเทศ ใช้โมเดลการหาพาร์ทเนอร์ในประเทศนั้นๆ โดยกำลังพิจารณาว่าจะทำในรูปแบบร่วมทุน, เป็นที่ปรึกษา หรือรับบริหารจัดการให้ มากกว่าที่จะเข้าไปลงทุนเอง
มุ่งเจาะเซ็กเมนต์ สร้างความต่างจากรุ่นพี่
ถ้าสังเกตสไตล์การทำธุรกิจค้าปลีกของ “ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิร์ด” มีรูปแบบที่แตกต่างจากสองรุ่นพี่ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเดอะมอลล์อย่างชัดเจน โดยรูปแบบที่ว่านี้คือ…
– ไม่ทำโครงการใหญ่มาก โดยเฉลี่ยมีพื้นที่ขาย ประมาณ 30,000 – 40,000 ตารางเมตร เนื่องจาก “ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิร์ด” มองว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ ย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงสูง เพราะฉะนั้นจึงเน้นพัฒนาโครงการในขนาดพอที่จะดึงผู้คนโดยรอบรัศมีโครงการได้ เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงทางธุรกิจมากเกินไป
– การสร้างแบรนด์ค้าปลีกแต่ละแบรนด์ มีการวางตำแหน่ง และกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่เป็นศูนย์การค้าที่ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม เช่น เอเชียทีค โฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยว, พันธุ์ทิพย์ จับกลุ่มเทคโนโลยี, เซ็นเตอร์พอยท์ เจาะกลุ่มวัยรุ่น, เกตเวย์ จับกลุ่มครอบครัว
สองส่วนนี้ แตกต่างจากแนวทางของกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเดอะมอลล์ ที่เน้นการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มี Catchment Area กว้าง ครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร ไปจนถึงเป็นแลนด์มาร์ค ดึงทั้งคนไทยจากทั่วประเทศ และคนต่างประเทศ เช่น สยามพารากอน และย่าน EM District ของเดอะมอลล์กรุ๊ป, การสร้างย่าน Central Bangkok ตั้งแต่ย่านราชประสงค์ – เพลินจิต ที่มีกลุ่มเซ็นทรัลนำทัพ
“เป้าหมายกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของ “ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิร์ด” ภายใน 10 ปีข้างหน้า เราจะมี 29 โครงการ รวมพื้นที่ขาย 650,000 ตารางเมตร มีรายได้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ใน 5 – 10 ปีจากนี้ เราต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากปัจจุบันเป็นอันดับ 4 ไปเป็น Top 3 ของค้าปลีกไทย โดยวัดทั้งด้านพื้นที่ขายและการเติบโตด้านรายได้” คุณณภัทร กล่าวทิ้งท้าย
Credit Photo (ภาพ Asiatique The Riverfront และ Gateway) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand