หลังการเปิดใช้งานฟีเจอร์ Safety check ที่ให้ผู้ใช้งานกดรายงานตัวได้หากอยู่ในพื้นที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงหรือภัยพิบัติ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาชาวกรุงเทพก็ได้มีโอกาสลองกดกันอย่างงงๆ บางคนก็งงเกินกว่าจะกด ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากเฟซบุ๊กเองได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเทพ
อันที่จริงฟีเจอร์นี้มีประโยชน์อย่างมากเพราะมันช่วยให้เรารู้พิกัดและความปลอดภัยของคนที่เรารัก หากแต่เนื่องจากเพิ่งเปิดใช้งานจึงมีความผิดพลาดจากเรื่องเดิมๆ ที่เฟซบุ๊กพลาดแล้วพลาดอีกคือเรื่องของการคัดกรองข่าวปลอมและการเชื่อข้อมูลจากบุคคลที่สาม อย่างเหตุการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเราคงได้ทราบกันแล้วว่าเฟซบุ๊กไปดึงข้อมูลการเกิดเหตุระเบิกที่พระพรหมเอราวัณเมื่อปีที่แล้วมา แต่การที่เฟซบุ๊กจะระบุให้พื้นที่ใดต้องเปิดใช้ฟีเจอร์ Safety check นั้นต้องมีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัดมากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งนอกจากข่าวเก่าปีที่แล้วมันดันบังเอิ๊ญบังเอิญว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีผู้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาประท้วง ปีนตึกแล้วปาประทับเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช็คข่าวไปที่เว็บไซต์อย่าง BangkokInformer.com ก็ให้การยืนยันว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้เฟซบุ๊กมั่นใจและ activate ระบบ Safety check ในกรุงเทพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่เป็นความเข้าใจผิดจากการเชื่อมโยงเรื่องเก่าและเรื่องใหม่เข้าด้วยกัน เลยกลายเป็นว่าเฟซบุ๊กที่กำลังหาทางกำจัดข่าวปลอม ช่วยกระจายข่าวปลอมซะเอง
ภายหลังจึงได้รับรายงานจากสำนักข่าวในไทยว่าไม่มีเหตุการณ์ระเบิดที่สร้างความรุนแรงในเลเวลนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเฟซบุ๊คได้กล่าวว่าการตัดสินใจเปิดใช้งาน Safety check แต่ละครั้งนั้นเฟซบุ๊กจะเชื่อใน third party เพื่อให้ยืนยันข่าวก่อน ซึ่งเมื่อยืนยันแล้วก็จะเปิดให้ใช้งานและแชร์ต่อไปยังเพื่อนในเฟซบุ๊กได้
ซึ่งก็เป็นอันรู้กันว่า BangkokInformer.com ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดกับเฟซบุ๊ก ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการจัดการกับการคัดกรองข่าวจริงข่าวปลอมได้ดีเท่าที่ควร แม้ว่าเฟซบุ๊กจะพลาดมาหลายครั้งกับเรื่องแบบนี้ก็ตาม เช่นตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่มีข่าวลือรวมถึงข่าวปลอมแพร่สะพัดมาในรูปแบบที่จะเหมือนข่าวจริงขึ้นไปทุกที และส่งผลกระทบในวงกว้าง
บทเรียนที่ได้รับอย่างเจ็บแสบ และสร้างความตื่นตระหนกในสังคมอย่างกว้างขวางแบบนี้ เฟซบุ๊กเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังหาทางกำจัด Fake news เหล่านี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในฐานะผู้ใช้งานก็ได้แต่เปเป็นกำลังใจให้หาทางเอาชนะโดยเร็วที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวไทยจะไม่มีเหตุอะไรให้ต้องใช้ฟีเจอร์ Safety check กันอีก
แปลและเรียบเรียงโดย Prim NM