HomeBrand Move !!“ทีวีไทย” ซื้อคอนเทนต์นอกกันมาเท่าไรแล้ว! ถึงเวลาคอนเทนต์ไทย “โกอินเตอร์” ดังไกลต่างแดน

“ทีวีไทย” ซื้อคอนเทนต์นอกกันมาเท่าไรแล้ว! ถึงเวลาคอนเทนต์ไทย “โกอินเตอร์” ดังไกลต่างแดน

แชร์ :

ทุกวันนี้ ผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในไทย มีทั้งคอนเทนต์ไทย และคอนเทนต์ต่างประเทศ ที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามา ทั้งในรูปแบบรายการ (Format) ที่ผู้ได้สิทธิ์สามารถนำไปปรุงใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับพฤติกรรมและรสนิยมคนดูในประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์เดิม และแบบสำเร็จรูป (Finished Program) ที่ซื้อมา ใส่ Subtitle แล้วออกอากาศได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาช่องต่างๆ ในไทย หรือแม้แต่ค่ายรายการต่างๆ จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศมากมาย ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อเมริกา ฯลฯ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่เมื่อมองย้อนกลับมายัง “คอนเทนต์ไทย” ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ และมีการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์นำไปออกอากาศ ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์ประเภท “ละคร” มีหลายเรื่องสามารถตีตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ โดยเฉพาะแถบอาเซียน และในจีน

แต่เมื่อเทียบกับจำนวนคอนเทนต์ไทยที่ผลิตในแต่ละปี และประเภทคอนเทนต์ ปัจจุบันการส่งออกอย่างถูกลิขสิทธิ์ไปต่างแดนยังน้อยมาก และไม่มีความหลากหลาย !!

ยิ่งการตีตลาดยุโรป และอเมริกา ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นเจ้าตลาดผลิตคอนเทนต์ขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก แทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าคอนเทนต์ไทยจะก้าวไปยืนอยู่บนเวทีเหล่านั้นได้อย่างไร ?!?

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “คอนเทนต์ไทย” จะไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองบนการเวทีต่างแดนได้เลย…

ไม่แข่ง “ราคา” แต่แข่งกันที่ “ความคิดสร้างสรรค์”

การจะผลักดัน “คอนเทนต์ไทย” ไปยืนในตลาดต่างประเทศ มีหลากหลายรูปแบบ ที่ผ่านมาจะเห็นการจับมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ด้วยกันเอง หรือผู้ผลิตรายการในการแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กัน ขณะเดียวกันอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะเปิดตัว “คอนเทนต์ไทย” เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น คือ การออกบูธตามงาน International Content Market ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก เพราะเป็นงานพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากประเทศต่างๆ และเป็นโอกาสแสดงศักยภาพ ความน่าสนใจของคอนเทนต์ของตนเอง

ปัจจุบันงาน International Content Market ใหญ่ที่มีผู้ผลิตคอนเทนต์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาออกบูธ อาทิ NATPE Miami ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ครอบคลุมทั้งตลาดอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้, World Content Market ที่มอสโก รัสเซีย, MIP Cancun ที่เม็กซิโก เป็นเทศกาลทีวีใหญ่ในลาตินอเมริกา, MIPCOM คานส์ ฝรั่งเศส เป็นเทศกาลคอนเทนต์ใหญ่ในยุโรป และ Asia Forum TV & Market จัดขึ้นในสิงคโปร์ งานชุมนุมคอนเทนต์ใหญ่ของเอเชีย

หัวใจสำคัญที่จะทำให้มีคนสนใจติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ไม่ได้แข่งที่ “ราคา” แต่แข่งกันที่ “ความคิดสร้างสรรค์” ของคอนเทนต์ ทั้งไอเดีย เรื่องราวการนำเสนอ รูปแบบ และการผลิตมีจุดเด่น มีความน่าสนใจ ตรงกับความต้องการของตลาดประเทศนั้นๆ และมีความเป็นสากล เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมในแต่ละประเทศ

เพราะผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ไม่ว่าซื้อในรูปแบบ Finished Program หรือ Format จะดูเทรนด์ของตลาด และเลือกคอนเทนต์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ตรงกับความต้องการของตลาด พฤติกรรมหรือรสนิยมคนดูในประเทศ ไม่ได้ซื้อเพียงเพราะคอนเทนต์ราคาถูก แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

อย่างเมื่อ 3 – 5 ปีที่แล้ว คอนเทนต์จากเกาหลีใต้มาแรง เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุน โดยกำหนดให้เป็นกลยุทธ์ของประเทศ ทำให้สามารถผลักดันคอนเทนต์ ทั้งด้านดนตรี ภาพยนตร์ ซีรีย์ ดารานักร้องตีตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ ซึ่งเทรนด์ความนิยมนี้จะ Shift ไปเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ซื้อต้องตามให้ทัน เช่น ละครของตุรกีที่พัฒนา Production สวยไม่แพ้อเมริกา ทำให้ขณะนี้ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลาง

ขณะที่ “คอนเทนต์ไทย” เอเชียเป็นตลาดหลัก ที่ยังขายได้เรื่อยๆ เนื่องจากมีวัฒนธรรม พฤติกรรม หรือรสนิยมใกล้เคียงกัน

“Workpoint” ชู 3 ประสาน ตีตลาดต่างประเทศ

เมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว “Workpoint” เริ่มบุกตลาดต่างประเทศ ถึงวันนี้ขายลิขสิทธิ์ไปแล้ว 23 รายการ ทั้งรูปแบบ Format และ Finished Program ไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เช่น เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน เปรู ฝรั่งเศส และอเมริกา โดยภายในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มรายการขายลิขสิทธิ์อีก 3 – 4 รายการ

“ทีวีไทยนำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศ มากกว่าจะส่งออก เพราะต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ต่างประเทศมีความทันสมัย มีไอเดีย เช่น คอนเทนต์ทีวีญี่ปุ่นในสมัยก่อนที่ดังมากๆ อย่าง TV Champion มีความน่าสนใจ ในไทยก็มีการนำเข้ามาออกอากาศ หรือเมื่อ 3 – 5 ปีที่แล้ว กระแสนิยมเกาหลี และรัฐบาล Subsidize ทั้งค่าใช้จ่าย และช่วยซื้อสื่อ ทำให้คอนเทนต์เกาหลีส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจากผู้ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์จะคำนึงถึงกระแสในตลาดโลก เมื่อเอามาฉายในช่อง จึงสามารถขายแอร์ไทม์ได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคอนเทนต์ไทยพัฒนาไปมาก ดังนั้นการผลักดันรายการไทยไปอยู่ในตลาดโลกก็มีโอกาสสูงขึ้น และ Perception ของต่างประเทศที่มีต่อคอนเทนต์ไทย คือ มีความคิดสร้างสรรค์ และสนุก ซึ่งในภาพรวม ตลาดที่มีความท้าทายสำหรับรายการไทยจะไปเจาะตลาด คือ ตลาดยุโรป และอเมริกา เพราะเขาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลก จึงเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นต้นตำรับในการผลิตรายการ ฉะนั้นการยอมรับความคิดสร้างสรรค์ของเอเชีย เขาจะพิจารณาแล้วพิจารณาอีก อีกทั้งมีเรื่องรสนิยมของคนอเมริกา คนยุโรป ซึ่งไม่ตรงกับคนเอเชียเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้นคอนเทนต์ที่จะตีตลาดยุโรป และอเมริกาได้ ต้องมีความสนใจ มีความแปลกใหม่ ครีเอทีฟมากๆ และเขาสามารถนำไป Adapt รูปแบบให้ตรงกับรสนิยม หรือพฤติกรรมคนดูได้” คุณธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ กรุ๊ป กล่าว

พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า วันนี้คอนเทนต์ของ Workpoint ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และเรามองว่ายังมีโอกาสอีกมากที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ โดยปีที่แล้ว ธุรกิจส่วนนี้เติบโตกว่า 10% มีรายได้ 17 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้เติบโต 20% มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งการขายลิขสิทธิ์รูปแบบ Finished Program จะเป็นละคร ซีรีย์ และรายการวาไรตี้ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดเอเชีย ขณะที่รูปแบบ Format มีตลาดทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โดยตลาดหลักของ Workpoint คือ เวียดนาม ที่ซื้อรายการทั้งแบบ Finished Program และ Format รองลงมาเป็นตลาดกัมพูชา

“Workpoint ผลิตรายการมาแล้ว 28 ปี มีเป็นร้อยรายการ บางรายการไม่ได้ออกอากาศในไทยแล้ว แต่ต่างประเทศไม่ได้สนใจว่ารายการนั้นๆ ยังออกอากาศในเมืองไทยหรือเปล่า เขาสนใจคอนเซ็ปต์ไอเดียมากกว่า เช่น ราชรถมาเกย ไม่ได้ออกอากาศในไทยแล้ว ทางอเมริกาเห็นคอนเซ็ปต์รายการที่รางวัลใหญ่เป็นรถยนต์ ซึ่งมีความเป็นสากล สามารถนำไป Adapt เข้ากับรสนิยมคนในประเทศได้ จึงสนใจซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบ Format เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศอเมริกา เป็นประเทศใหญ่ การเดินทางไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว คอนเซ็ปต์ไอเดียนี้จึงตรงกับรสนิยมและความต้องการของคนอเมริกัน

หรือรายการปริศนาฟ้าแลบ ผสมผสานระหว่าง Entertainment และ Theme Park ที่ได้ไอเดียจากโรลเลอร์โคสเตอร์มาทำเป็นเครื่องเล่นในรายการ และถามคำถามไม่ได้เน้นวิชาการ เป็นสิ่งที่ทำให้อเมริกาตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้ในรูปแบบ Format เช่นเดียวกับรายการไมค์หมดหนี้ เป็น Singing Contest ที่แตกต่างจากรายการร้องเพลงอื่น และมีความเป็นสากล เพราะหนี้เป็นสิ่งที่คนในทุกประเทศประสบปัญหานี้ ขณะเดียวกันทุกประเทศก็มีคนขาดโอกาส แต่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง โดยขณะนี้เรากำลังคุยกับ 3 ประเทศในเอเชีย เพื่อขายลิขสิทธิ์รายการนี้ในรูปแบบ Format”

คุณธนศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้คอนเทนต์ของ Workpoint ได้รับการยอมรับถึงวันนี้ และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1. ความคิดสร้างสรรค์ คอนเซ็ปต์-คุณภาพรายการ เป็นจุดเด่นที่ Workpoint บริษัทคนไทยสามารถนำเสนอสิ่งนี้ให้ตลาดโลกยอมรับได้

2. แบรนด์ดิ้ง Workpoint ที่มีความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้ผลิตรายการมืออาชีพ โดยได้รับรางวัลเวทีนานาชาติมาแล้วมากมาย และมีสตูดิโอ 19 สตูดิโอ และ 3. ให้ความสำคัญกับการออกบูธสำคัญในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ยังทำให้ได้ลูกค้าใหม่ๆ


แชร์ :

You may also like