ในอดีตก่อนยุคอินเทอร์เน็ต การนำเสนอข่าวสารมาจากสำนักข่าว หรือสำนักพิมพ์ ที่กองบรรณาธิการประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวทำข่าว โดยมีบรรณาธิการเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวก่อนตีพิมพ์ หรือรายงานออกสู่สาธารณชน
แต่ปัจจุบันในยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จากทุกที่ทั่วโลก และทุกคนมี “สื่อ” เป็นของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้เต็มไปด้วยข่าวสารมากมายรายล้อมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา มีทั้งข่าวที่เชื่อถือได้ และข่าวปลอมที่ปั้นแต่งขึ้นมา หรือนำเสนอเกินเลยความเป็นจริง ทว่าข้อมูลข่าวสารที่เปิดรับทุกวัน ทุกชั่วโมงผ่านหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ในบางครั้งเราก็ไม่อาจทราบได้ว่าสิ่งที่อ่านอยู่นั้น จริงหรือหลอก! ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันข่าวสารต่างๆ แพร่กระจายในวงกว้างด้วยเวลาอันรวดเร็ว เพียงแค่กดแชร์บน Social Media
จากปัญหาข่าวปลอมที่ระบาดหนักบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะใน Social Media ทำให้ “Jimmy Wales” ผู้ก่อตั้ง “Wikipedia” ได้คิดแพลตฟอร์มการนำเสนอข่าวและบทความในโมเดลใหม่ ภายใต้ชื่อ “Wikitribune” เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ที่ให้ทุกคนอ่านฟรี โดยคอนเทนต์ที่ปรากฏบนเว็บไซต์จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าวมืออาชีพ เป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความ กับคนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงในบทความยังสามารถดูแหล่งที่มาของข่าว ใส่วีดีโอและเสียงสัมภาษณ์ได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข่าวและบทความมีความน่าเชื่อถือ เป็นจริง และเป็นกลาง เพื่อแก้ปัญหา “ข่าวปลอม” บนสื่อออนไลน์
เพื่อนำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้องและเป็นกลาง โมเดล “Wikitribune” จึงไม่มีโฆษณา ทำให้ไม่ต้องทำข่าวหรือเขียนบทความเพื่อเอาใจ Advertiser อย่างไรก็ตามการดำรงอยู่ได้ของ “Wikitribune” มาจากการระดมทุนมวลชน (Crowdfunding) และผู้อ่านที่บริจาคเงินสนับสนุนเป็นรายเดือน ที่เชื่อในแนวคิดเว็บไซต์ข่าวออนไลน์น้องใหม่นี้ เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้จ้างผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ โดยคอนเทนต์บนเว็บไซต์นี้ครอบคลุมทั้งข่าวในสหราชอาณาจักร ข่าวการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงข่าววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และหัวข้อข่าว-บทความพิเศษที่สมาชิกเว็บไซต์เสนอเข้ามา
“เป็นครั้งแรกที่นักข่าวมืออาชีพ และประชาชนจะทำงานเคียงข้างกัน และเท่าเทียมกัน ในการนำเสนอข่าวและบทความ พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขได้ โดยหวังว่าแพลตฟอร์มข่าวรูปแบบใหม่นี้ จะสร้างวัฒนธรรมการนำเสนอข่าวที่โปร่งใส และถูกต้อง” Wales กล่าว