หลังจากดราม่าในเครือนิตยสารชื่อดัง อะเดย์ (a day magazine) ทำให้ผู้ก่อตั้งอย่างโหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัท ซึ่งส่งผลให้มีพนักงานอีกหลายคนลาออกตามเช่นกัน รวมไปถึง ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร เช่นกัน ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยยังเคลือบแคลงใจทิศทางของนิตยสารอะเดย์ และ สื่อในเครือ เดย์ โพเอทส์
ในงานครบรอบฉบับที่ 200 และก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ของ นิตยสารอะเดย์ Brand Buffet ได้พูดคุยเปิดใจครั้งแรกกับสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย (ป๊อป) กรรมการ บริษัท อะเดย์ โพเอทส์ และพร้อมกับเปิดตัวแม่ทัพใหม่ ศิวะภาค เจียรวนาลี (เอี่ยว) ในตำแหน่ง บรรณาธิการบริหารคนใหม่ (บก.บห.)
a day = โหน่ง ?
สำหรับแนวทางการทำนิตยสารอะเดย์ยังคงยึดแนวทางเดิม คัดสรรเรื่องราวน่าสนใจจากทั่วโลกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ส่งพลังดีๆต่อผู้อ่าน โดยไม่อิงกระแสกระแสสังคม ออกแนวๆอินดี้ และทีมบริหารยังมั่นใจว่าจะประสบสำเร็จเฉกเช่นอย่างที่ผ่านมาตลอด 17 ปี เพราะทีมกองบรรณาธิการของนิตยสารอะเดย์ยังเป็นคนเดิมส่วนใหญ่ และมีทีมงานชุดใหม่เข้าเติมทำให้ทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันงานและโปรเจ็กต์ในไทม์ไลน์ที่น่าสนใจก็ยังมีอยู่จำนวนมาก
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย เสริมว่า มันเป็นเรื่องความรู้สึก Sentiment ลูกค้า(แบรนด์ผู้ลงโฆษณา) ก็มีมาถามบ้างว่าจะเปลี่ยนไปขนาดไหน ข้อเท็จจริงทีมอะเดย์เปลี่ยนน้อยที่สุด และมีเปลี่ยน ก้อง ทรงกลศ ซึ่งเดิมเขามีแผนที่จะทำบริษัทตัวเองอยู่แล้ว ส่วนบ.ก. a day Bulletin ก็เปลี่ยนจากคุณตุ๊ก มาเป้น คุณอ๋องตั้งแต่ปลายปีที่แล้วแล้ว ส่วน Hamburger นิตยสารแจกฟรี กับเว็บ The Momentum ออกเยอะมากที่สุด แต่ปัจจุบันก็หาคนมาเติมใหม่แล้ว
“ส่วนผู้อ่านคนที่คิดว่า a day คือ โหน่ง ก็คงตามเค้าไป คนที่ไม่คิดแบบนั้นก็ยังอยู่ แต่ความจริงแล้วคนอ่านปัจจุบันก็เป็นแฟนอ่านอีกกลุ่มนึง (กลุ่มใหม่) เช่น คนอ่านแพรว 10 ปีที่แล้วกับตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน เราต้องมีการสร้างคนอ่านใหม่ๆเติมเข้าระหว่างทาง a day ก็เช่นกัน ”
นอกจากนี้ยังได้บ.ก.เอี่ยว ลูกหม้อบ้าน a day ที่อยู่ตั้งแต่เป็นจูเนียร์รุ่น 3 อยู่เบื้องหลังนิตยสารเล่มนี้รวม 10 ปี รวมไปถึงงาน a day BIKE FEST ซึ่งมีประสบการณ์การทำงาน ทิศทาง และ เข้าใจผู้อ่านเป็นอย่างดี พร้อมกับ ก้อง ทรงกลด อดีตบรรณาธิการบริหารยังคงอยู่รับหน้าเป็นที่ปรึกษา
“ผมเชื่อว่านิตยสาร a day เป็นนิตยสารที่ดีมีพลัง ทั้งเนื้อหาและการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รวมไปถึงสร้างพลังให้กับคนรุ่นใหม่ๆ จึงอยากอยู่ต่อและตั้งใจอยากจะทำ a day ให้เป็นนิตยสารที่ดี โดยไม่ทิ้งต้นทุนเดิมที่สั่งสมมาตลอด 17 ปี” ศิวะภาค เจียรวนาลี กล่าว
“สิ่งพิมพ์” ยังมีโอกาส
สุรพงษ์ นอกจากจะเชื่อมั่นศักยภาพของทีมกองบรรณาธิการและทิศทางของ a day แต่ยังเห็นโอกาสในสิ่งพิมพ์ที่ใครๆก็ต่างเห็นว่าเป็นวิกฤติ (ดังเห็นได้จากการปิดตัวลของนิตสารและหนังสือพิมพ์หลายเป็นจำนวนมาก) โอกาสทั้งเม็ดเงินโฆษณาด้านสิ่งพิมพ์ที่ยังมีอยู่ และการต่อยอดไปคอนเทนต์ในมุมต่างๆ
“เม็ดเงินนิตยสาร 25 ปีที่แล้วก็อยู่ที่ 3-4 พันล้านบาท แต่วันนี้ก็ยัง 3-4 พันล้านบาท ซึ่งไม่มีอัตราการเติบโต และกระทบไม่เยอะ เพราะในตลาดนิตยสารก็หายไปเยอะมากเช่นกัน 2 ปีที่ผ่านมาปิดไปแล้ว 30% และที่ยังดำเนินธุรกิจได้อยู่ก็ราว 200-300 หัว แต่ที่น่าตกใจคือหัวใหญ่ๆปิดก่อน อาจจะเป็นเพราะเล่มใหญ่มากมีทีมมาก มีค่าใช้จ่ายสูง ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าขนาดนั้น เมื่อ player มันน้อยลง แต่เม็ดเงินที่มันยังอยู่ก็ยังโอเค มันเหลือคนแชร์น้อยลงเท่านั้นเอง”
“อีกทั้งตัวอย่างแบรนด์สินค้าแฟชั่นทั้งหลายที่ลงทุนกันถ่ายแฟชั่นเซ็ตนึงๆ ลูกค้าไม่อยากลงแค่ออนไลน์แล้วจบหรอก ยังไงก็ยังต้องการลงในสื่อนิตยสารสัก 4-5 เล่มเช่นกัน แต่ความน่ากังวลใจของสิ่งพิมพ์หรือแมกาซีน ไม่ได้อยู่ที่หนังสือหรือคนซื้อ แต่คือ ร้านขายหนังสือ ซึ่งล้มหายตายจากไปเยอะกว่าจำนวนหัวหนังสือ จริงๆแล้วยังมีดีมานด์การซื้ออยู่แต่ไม่มีที่ซื้อและต้องดิ้นรนกว่าปกติต่างหาก”
ช่วงที่ผ่านมาเราได้ตั้งแผนก go daypoets เริ่มต้นทำเรื่อง online distribution กระจายหนังสือให้กับสมาชิกและดูแลฐานข้อมูลลูกค้า ตอนนี้เริ่มพัฒนามาเรื่องออฟไลน์ด้วย เพราะมีร้านหนังสือจำนวนมากไม่อยู่ในเน็ตเวิร์คสายส่ง ตอนนี้ฐานสมาชิก สร้างยอด 10% ของยอดขายรวม หวังอยากให้สมาชิกเป็น 50%
จุดเด่นของนิตยสาร a day คือมียอดขายจากตัวเล่มหลักล้านทุกเดือน ซึ่งน้อยหัวจะทำได้แบบนี้ สำหรับสัดส่วนรายได้วันนี้ยอดจากโฆษณาคิดเป็น 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ และ ยอดขายหนังสืออยู่ที่ 30 กว่า%
“และเทรนด์คอนเทนต์บนออนไลน์ก็กำลังมาแรง จึงได้โปรเจ็กต์ที่แคมเปญให้ลูกค้า เช่น แคมเปญท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ที่ต้องผนวกสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในเครือ เดือนนึง 2-3 โปรเจกต์รายได้ก็ข้ามหัวทุกตัวแล้ว ก็เป็นหนึ่งอีกช่องทางรายได้ใหม่ของทาง a day นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายรายได้จากการสมัครสมาชิกออนไลน์ซึ่งมีต้นแบบอย่าง New York Times ที่สามารถทำให้ Online Subscriptions เป็นช่องทางรายได้ที่สามารถเลี้ยงทั้งบริษัทได้ เพราะสามารถเข้าถึงคอนเทนต์โดยไม่ต้องเดินหาตามแผง” บ.ก.เอี่ยว อธิบาย
The New of The Momentum
เว็บไซต์น้องใหม่ในเครืออย่าง Momentum ที่เพิ่งคลอดมาได้ไม่นาน หลังมีการเปลี่ยนแปลงทำให้กองบรรณาธิการต่างตบเท้าออกแทบจะยกกอง สุรพงษ์ ในฐานะหัวเรือใหญ่จึงเตรียมเปลี่ยนโพสิชั่นนิ่งจากเดิม “สำนักข่าวออนไลน์ ” ให้เป็น “สื่อออนไลน์” อย่างที่ตนเองตั้งใจอยากให้เป็นตั้งแต่แรก
“ต้องยอมรับว่าฟีดแบ็คจากผู้อ่านค่อนข้างดีหลังจากเปิดตัว แต่เราจะปรับแนวทางเว็บ Momentum เนื้อหาจะเป็นแบบที่ต้องการและเป็นตัวเรามากขึ้น ที่ผ่านมาเดิมเป็นโพสิชั่นนิ่ง สำนักข่าวออนไลน์ แต่เราไม่เคยเป็นและไม่เคยไปถึงขนาดนั้น เล่นเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคมเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ “ข่าว” เพราะการเป็นสำนักข่าวต้องรายงานเร็ว เยอะ ครอบคลุมทุกเรื่องจริง อีกทั้งสำนักข่าวใช้เงินและคนเยอะมาก”
มากกว่าไปกว่านั้นเหตุผลที่ปรับเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมา The Momentum ขาดทุนมาโดยตลอด 7 เดือน ราว 10 ล้านบาท ทั้งค่าพนักงาน ค่าระบบ Infrastructure ต่างๆที่ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามา
ทุกวันนี้คนที่เคลมว่าเป็นสำนักข่าวเกินครึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และเราไม่ชอบแข่งขันในเกมส์ที่ไม่มีโอกาสชนะมากกว่าแพ้ ถ้าเราไม่มี Competitiveness, Positioning , Segment ที่ชัดเจน สามารถครอบครองจิตใจคนในกลุ่มนั้นได้อย่างโดดเด่นอย่าทำเลย เพราะไม่รู้ จะเอาอะไรมาสู้ เราจึงปรับตัวให้โพสิชั่นนิ่งเป็น สื่อออนไลน์ ทาร์เก้ตกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเมือง ต่อยอดจากอะเดย์ จะเป็นสื่อออนไลน์ใสๆ สไตล์อะเดย์ อยากให้เสพแล้วมีความสุข ไม่ได้เสพแล้วทุกข์ใจ สุรพงษ์ กล่าวสรุป
บรรยากาศงานครบรอบเล่มที่ 200 ปีที่ 17
FYI
– สื่อในเครือ อะเดย์ โพเอทส์ นิตยสาร a day , นิตยสาร a day bulletin , นิตยสาร Hamburger , เว็บไซต์ adaymagazine , เว็บไซต์ Hamburger , เว็บไซต์ The Momentum
– รายได้ต่อปี 400 ล้านบาททั้งเครือ แบ่งเป็นโฆษณา 200 ล้านบาท ออนไลน์ 100 ล้านบาท และ อีเว้นท์ 100 ล้านบาท