HomeInsight‘ซื้อออนไลน์ แต่จ่ายเงินสด’ รั้งไทยเข้าสู่ยุค Cashless Society

‘ซื้อออนไลน์ แต่จ่ายเงินสด’ รั้งไทยเข้าสู่ยุค Cashless Society

แชร์ :

ผลสำรวจวีซ่าเผยคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับ E-Commerce  และธุรกิจแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชั่นที่อยู่บนสมาร์ทโฟน  แต่สุดท้ายเมื่อต้องควักสตางค์จ่าย ส่วนใหญ่มากกว่า 70%  ยังเลือกที่จะจ่ายเป็นเงินสด  ทำให้หลายภาคส่วนที่กำกับดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน พยายามผลักดันนโยบาย Cashless Society ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการต่างๆ  เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด  การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี  ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  การพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้เกิดบริการที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้มากขึ้น  รวมทั้งการขยายจำนวนจุดการรับชำระผ่านบัตรให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

คุณสุริพงษ์  ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยยังนิยมใช้จ่ายสินค้าหรือบริการต่างๆ  ผ่านเงินสด โดยข้อมูลการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคคนไทยระบุว่า  การใช้จ่ายของคนทั่วไป ส่วนใหญ่ประมาณ 75%  จะใช้จ่ายเป็นเงินสด  ส่วนใช้จ่ายผ่านระบบ E-Payment ยังมีสัดส่วนเพียง 25%  เท่านั้น  แม้ว่าจะเริ่มมีปริมาณการซื้อสินค้าผ่าน E-Commerce  หรือใช้บริการต่างๆ ที่อยู่ใน Mobile Platform   ทั้งการสั่งอาหาร  การเดินทางท่องเที่ยว  การสั่งซื้อสินค้าต่างๆ  หรือการเดินทางขนส่งมากขึ้น  เนื่องจากเริ่มมีความคุ้นเคย และมองว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความสะดวกยิ่งขึ้น  รวมทั้งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการต้องเดินทางไปซื้อเอง

“คนไทย 54%  เคยใช้บริการ Mobile Platform  หรือธุรกิจออนดีมานด์เหล่านี้  โดยเฉพาะในกลุ่ม Food Delivery มีสัดส่วนถึง 75%  ด้านการเดินทางท่องเที่ยว 67%  กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 60%  และแท็กซี่ 58%  แต่ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด  โดยในกลุ่มอาหารชำระเงินสดถึง 72%  ขณะที่กลุ่มสินค้าและการใช้บริการรถสาธารณะมีสัดส่วนการจ่ายเป็นเงินสดมากกว่า 50%  มีเพียงกลุ่มเดินทางและท่องเที่ยวที่มีการเซ็ตระบบการรับชำระทั้งหมดด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น”

ปัญหาสำคัญในการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่าน E-Payment  มาทั้งจากฟากฝั่งของผู้บริโภค ที่บางครั้งที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  ให้รองรับยังจำเป็นต้องขยายให้มากขึ้น  ทั้งสินค้าหรือบริการ  ควบคู่ไปกับการขยายจุดรับชำระผ่านบัตรให้มากขึ้น

แนวทางในการเพิ่มการใช้จ่ายผ่าน E-Payment

1.สร้างความคุ้นเคยในการใช้จ่ายผ่านระบบ E-Payment โดยพยายามให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากที่สุด   โดยในส่วนของวีซ่าได้ร่วมมือกับเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อรับชำระค่าสินค้าตั้งแต่ 300 บาท ขึ้นไป ผ่านบัตรวีซ่า  ซึ่งมีแนวโน้มการใช้จ่ายที่ดี จำนวนคนใช้บัตรชำระเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะไม่จำกัดการซื้อขั่นต่ำ  รวมทั้งขยายการรับชำระด้วยบัตรวีซ่าไปในเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ

2.พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ให้ครอบคลุมความต้องการใช้งานของผู้คนมากขึ้น เนื่องจาก หนึ่งข้อจำกัดในการใช้จ่ายผ่านระบบ E-Payment  คือ คนไม่รู้จะใช้ที่ไหน  และไม่รู้จะใช้ทำอะไร  การเพิ่มบริการที่หลากหลายและเป็นบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น  การสั่งอาหาร  การเดินทาง  ซื้อสินค้า  บริการงานช่างต่างๆ  ที่ดูแลระบบไฟ น้ำ  หรืออื่นๆ ของบ้าน  เป็นต้น

3.การเพิ่มจุดรับชำระให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวก ในการใช้จ่าย โดยไม่จำกัดอยู่แค่ร้านหรือแบรนด์ใหญ่ๆ  แต่กระจายออกไปสู่ร้านค้าทั่วไป ให้ครอบคลุมมากขึ้น  โดยเฉพาะการพัฒนาการจ่ายผ่านระบบ QR Code  จะเป็นหนึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญ  ที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการติดตั้งเครื่องรับชำระของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

สัญญาณดี  คนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อระบบ  E-Payment  มากขึ้น

หนึ่งสัญญาณบวกในการสำรวจด้านทัศนคติเกี่ยวกับการชำระเงินของผู้บริโภคในปี 2259 ที่ผ่านมา ของวีซ่า พบว่าคนไทย 6 ใน 10 คน มั่นใจต่อระบบการชำระเงินผ่าน E-Payment  มากขึ้น สะท้อนผ่านพฤติกรรมในการพกเงินสดติดตัว ในช่วง 5 ปีทีผ่านมา  โดยพบว่า 59%  ของคนไทย  พกเงินสดติดตัวน้อยลง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีคนพกเงินน้อยลงเพียง 52%  โดยสาเหตุสำคัญมาจาก การคำนึงในเรื่องของความปลอดภัย 60%  อีก 48%  มองว่ามี ATM ให้บริการอยู่จำนวนมาก อยากใช้ค่อยไปกดได้ง่ายๆ เช่นกัน  และที่สำคัญคือ 36% ใช้วิธีการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการจ่ายเงินสด

“พฤติกรรมการใช้จ่ายด้วยเงินสดมีแนวโน้มที่จะลดลงได้มากภายใน 1-2 ปีนี้  จากที่ก่อนหน้ามีการขยายตัวตามการเติบโตของตลาดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่จากการร่วมมือและผลักดันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล  สถาบันการเงิน  ภาคเอกชน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ  ที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมของคนไทยที่เริ่มมีความคุ้นเคย  และมั่นใจในระบบความปลอดภัยที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนเริ่มมีความมั่นใจ ประกอบกับความสะดวกในการพกพาบัตร มากกว่าการพกเงินสด  รวมทั้งมีจุดรับการชำระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อน”

ในส่วนการเติบโตของวีซ่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2016 – มี.ค. 2017) มีจำนวนการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 6.7%  จากบัตรเครดิต 6.5%  บัตรเดบิต 13.7%  และหากแยกประเภทในการใช้จ่าย พบว่าการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  22% การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ  11.6%  การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายในประเทศไทย 4%

ขณะที่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ E-Payment ขยายตัว  วีซ่าได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ในการชำระเงิน เช่น ซัมซุงเพย์ ด้วยการนำบัตรเครดิตมาใส่ไว้ในมือถือ ด้วยระบบความปลอดภัยสูง  การร่วมมือกับเซเว่น อีเลฟเว่น ในการรับชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตเป็นรายแรก  การเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลที่มีเพื่อต่อยอดในการครีเอทแคมเปญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย  และเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ Smart City  ที่ จ.ภูเก็ต  รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดค่าสเป็คกลางของระบบ  QR Payment  รวมไปถึงการพัฒนา  mVisa  เพื่อแนะนำสู่ตลาดประเทศไทย ขณะเดียวกันมีแผนขยายจุดรับชำระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จากปัจจุบันมีจุดรับชำระ  5.5 แสนจุด

 


แชร์ :

You may also like