HomeCSRรณรงค์ล้มเหลว? “ซุปหูฉลาม” ยังเป็นเมนูยอดฮิต “งานแต่งงาน” ชาวไทย

รณรงค์ล้มเหลว? “ซุปหูฉลาม” ยังเป็นเมนูยอดฮิต “งานแต่งงาน” ชาวไทย

แชร์ :

สาเหตุที่คนไทยต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้อยากลอง และมีความคิดว่าหูฉลามมีรสชาติดี แต่ความเป็นจริง รสชาติต่างๆ ล้วนมาจากการปรุงรสของน้ำซุปทั้งสิ้น โดยที่หูฉลามนั้นไม่ได้มีรสชาติใดๆ เลย ขณะที่ชาวจีนลดการกินหูฉลามได้แล้วมากกว่า 80% เพราะรับรู้การที่ฉลามต้องถูกฆ่าอย่างโหดร้าย ราคาหูฉลามที่เริ่มต้นตั้งแต่ชามละ 300-400 บาท ไต่ระดับไปจนถึงหลายพันบาท เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนนิยมรับประทาน รวมทั้งเมื่อสำรวจจำนวนร้านค้าพบว่า อย่างน้อย 100 ร้านในกรุงเทพฯ มีเมนูหูฉลามขาย สะท้อนถึงความแพร่หลายในการบริโภคและสามารถที่จะหารับประทานได้อย่างง่ายๆ  ทำให้การบริโภคกระจายออกไปเป็นวงกว้าง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จอห์น เบเกอร์ กรรมการผู้จัดการ องค์กรไวล์ดเอด  (WildAid) ได้ทำการเปิดเผยผลสำรวจ “ความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย”  โดยการศึกษาร่วมกันของ WildAid และ Rapid Asia พร้อมระบุปัญหาที่คนไทยต้องการบริโภคหูฉลามที่มาจากความอยากรู้ อยากทดลอง ประกอบกับไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับฉลาม จากความนิยมบริโภคหูฉลามของมนุษย์ จึงไม่เกิดความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่คิดจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“ความต้องการบริโภคหูฉลามส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลดลงของจำนวนฉลามทั่วโลก โดยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ปลาฉลามลดลงจากเดิมถึง 98%  มีปลาฉลามเฉลี่ย 100 ล้านตัวต่อปีที่ถูกฆ่า หรือกว่า 2 แสนตัวต่อวัน  โดยมีครีบของฉลามถึง 73 ล้านตัว ที่ถูกนำมาทำเป็น “ซุปหูฉลาม”  ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าจำนวนคนไทยทั้งประเทศรวมกันเสียอีก โดยที่คนไทยจะกินหูฉลามในหลากหลายโอกาส  72% จะกินในงานแต่งงาน  61% กินกับคนในครอบครัวที่ร้านอาหาร และ 47% กินในงานลี้ยงทางธุรกิจต่างๆ”

ข้อมูลระบุด้วยว่า คนไทย 57% เคยบริโภคและยังคงบริโภคหูฉลามอยู่  และที่น่ากังวลคือ 61% มีความต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชากรฉลามทั้งโลกอย่างยิ่ง ขณะที่ปัญหาหลักคือ คนไทยส่วนใหญ่ 85% ไม่รู้ว่าการบริโภคหูฉลามส่งผลให้ปลาฉลามถูกฆ่ามากกว่า 100 ล้านตัว  50% ไม่รู้ว่าจำนวนปลาฉลามลดลงแล้วถึง 98% และอีก 50% ไม่รู้ว่าปลาฉลามถูกฆ่าเพื่อเอาแต่ครีบมาทำเป็นซุปหูฉลาม โดยข้อมูลอีกด้านหนึ่งระบุว่าคนที่เคยต้องการบริโภคมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะไม่กินหูฉลามถ้าหากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

“WildAid เคยประสบความสำเร็จในการรณรงค์ลดการบริโภคในประเทศจีนมาได้แล้ว โดยใช้ระยะเวลา 4 ปี ทำให้ปัจจุบันคนจีน 85% เลือกที่จะไม่บริโภคหูฉลาม โดยประเทศไทยเป็นพื้นที่เป้าหมายในขณะนี้  ในฐานะตลาดสำคัญของการค้าฉลาม ซึ่งตามข้อมูลระหว่างปี 2555-2559 ไทยส่งออกครีบ ปลาฉลาม และหูฉลามแปรรูป 22,467 ตัน นำเข้า 451.57 ตัน  ซึ่งแค่ตัวเลขในปี 2558  เพียงปีเดียวก็มีการส่งออกกว่า 5,000 ตันแล้ว ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งแทนฮ่องกงซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการบริโภคหูฉลามในปริมาณมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ น่านน้ำของไทยไม่มีปลาฉลามจำนวนมากขนาดนั้น จึงมีคำถามต่อว่าปลาฉลามเหล่านี้มีแหล่งที่มาจากที่ไหน”

ความสำเร็จในประเทศจีนจะถูกใช้เป็นโมเดลในการวางแผนและขับเคลื่อนการรณรงค์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เริ่มจากการประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาชิ้นนี้ เพื่อให้คนไทยทราบถึงผลกระทบ และสถานการณ์ที่ปลาฉลามกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งอยู่ในสถานการณ์อันตราย รวมทั้งสร้างเครือข่ายการรณรงค์ทั้งจากเซเลบริตี้ ดารานักแสดง เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัคร และเครือข่ายจากร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ หรือผู้ให้บริการรับจัดงานแต่ง เพื่องดจำหน่ายเมนูหูฉลาม  รวมทั้งพยายามประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตราการในการควบคุมการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย  หรือมีมาตรการที่ใช้เพื่อคุ้มครองฉลามควบคู่กันไป

“มีโอกาสที่คนไทยจะตื่นตัวและให้ความร่วมมือเช่นเดียวกับจีน เพราะจากข้อมูลพบว่ามีกลุ่มคนไทยที่ยอมเลิกกินถ้าผิดกฎหมาย รวมทั้งต้องการปกป้องฉลาม เพื่อไม่ให้โดนฆ่าเพื่อนำครีบมาทำอาหาร  โดยพยายามกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนจากตัวผู้บริโภคเอง ผ่านข้อความรณรงค์ที่ช่วยสร้างความตระหนักว่า “หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า” เพื่อสื่อสารออกไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเผยแพร่อินโฟกราฟิกเคลื่อนไหวเรื่อง “หูฉลามคนละชามแลกกี่ล้านชีวิต”  ที่จัดทำโดย WildAid และ Infographic Thailand  เพื่อออกมาตอกย้ำเพิ่มเติม โดยเชื่อว่าจะมีผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติที่มีต่อการบริโภคหูฉลามในอนาคตได้  รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฉลามในมิติอื่นๆ เช่น ส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวแทนการนำมาประกอบอาหาร”


แชร์ :

You may also like